รูปบทความ ค่าครองชีพ ปัญหาทุกข์ใจของชนชาวกรุง

ค่าครองชีพ ปัญหาทุกข์ใจของชนชาวกรุง

ปัญหาของเรื่องค่าครองชีพนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันกับชาวกรุงเทพมาเป็นเวลานาน และก็ยังไม่มีทีท่าว่าปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้อย่างจริงจัง ทำให้เรื่องของค่าครองชีพกับการใช้ชีวิตในเมืองหลวงแห่งนี้ เป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ใจได้มากทีเดียว


หากลองมาเปรียบเทียบกันถึงเรื่องของค่าใช้จ่ายที่คนกรุงส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องใช้ และเรียกได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสิ้นเปลืองที่สุดอย่างหนึ่ง นั้นก็คือ ‘ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน’ นั่นเอง


เพราะในแต่ละวันการเดินทางให้ถึงที่ทำงานของแต่ละคนมีความแตกต่างกันมาก บางคนอาจใช้เวลาเดินเท้าเพียง 10 นาที ก็ถึงที่ทำงานได้ หรือบางคนก็แบกรับค่าน้ำมันในแต่ละเดือนเพื่อแลกกับการขับรถยนต์ส่วนตัวไปทำงานในทุกๆ เช้า แต่ที่มีอยู่มากที่สุดก็คือ เหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องเดินทางหลายต่อเพื่อไปให้ทันเวลาเข้างาน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเรื่องของการเดินทางก็ยังเป็นปัญหาอยู่มากอีกด้วย




แม้ว่าการเดินทางในกรุงเทพจะสามารถเลือกเดินทางได้หลายรูปแบบมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถือว่าครอบคลุมได้ทั้วทุกพื้นที่ บางคนต้องขึ้นเรือแล้วต่อรถโดยสาร บ้างก็ต้องขึ้นรถตู้แล้วต่อรถไฟฟ้า ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนสำหรับค่าเดินทางนั้นอยู่ที่ 30 - 40% ของเงินเดือนเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อลองเปรียบเทียบในจำนวนค่าแรงขั้นต่ำแล้ว พบว่าชาวกรุงเทพจะต้องทำงานเฉลี่ยประมาณ 26 นาที เพื่อซื้อตั๋วในราคาที่ถูกที่สุดคือ 16 บาท และในราคาที่แพงที่สุดคือ 70 บาท จะต้องทำงาน 1 ชั่วโมง 48 นาที (ค่าแรงขั้นต่ำ 37.5 บาท/ชั่วโมง)




ทั้งนี้เมื่อลองเทียบกับอีกหลายประเทศที่ใช้การเดินทางโดยรถไฟฟ้าเช่นเดียวกันพบว่า แม้ค่าตั๋วต่อเที่ยวจะแพงกว่า แต่ระยะเวลาในการทำงานสั้นกว่ามากๆ อาทิเช่น นิวยอร์ก ค่าตั๋วแบบเหมาจ่าย 91 บาท ใช้เวลาทำงาน 14 นาที (ค่าแรงขั้นต่ำ 395 บาท/ชั่วโมง) โซลค่าตั๋วถูกที่สุด 37 บาท ใช้เวลาในการทำงาน 10 นาที และค่าตั๋วแพงที่สุด 96 บาท จะใช้เวลาในการทำงาน 26 นาที (ค่าแรงขั้นต่ำ 221 บาท/ชั่วโมง) ลอนดอนค่าตั๋วถูกที่สุด 119 บาท ใช้เวลาทำงานเฉลี่่ย 22 นาที และค่าตั๋วแพงที่สุด 253 บาท ใช้เวลาทำงานเฉลี่ย 46 นาที (ค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาท/ชั่วโมง)


แม้แต่เมืองที่มีการสัญจรด้วยรถไฟมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง โตเกียว การซื้อตั๋วในราคาถูกที่สุดคือ 39 บาท จะใช้เวลาเฉลี่ยในการทำงานเพียง 9 นาที หรือหากเป็นตั๋วที่แพงที่สุดราคา 913 บาท จะต้องใช้เวลาทำงานเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 12 นาที (ค่าแรงขั้นต่ำ 279 บาท/ชั่วโมง)


เรียกได้ว่าความพัฒนาด้านการคมนาคมในกรุงเทพที่เกิดขึ้น โดยจุดประสงค์เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น แม้ว่าภาพรวมจะดูตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบของการเดินทางมากขึ้นก็ตาม แต่หากมองถึงปัจจัยหลักอย่างเรื่องของค่าครองชีพแล้ว จะเห็นได้ว่าการขึ้นรถไฟฟ้ายังคงเป็นเรื่องที่หลายๆ คนจะต้องคิดแล้วคิดอีกว่าคุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับหรือไม่ และมีวิธีการเดินทางอื่นที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้หรือไม่


สรุปได้ว่าปัญหาเรื่องค่าครองชีพของชาวกรุงจะยังคงต้องมีอยู่ต่อไป และอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพื่อที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น ทั้งนี้การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและการหารายได้เสริมดูท่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนหลายๆ คน ที่ยังคงต้อง ‘หาเช้า กินค่ำ’ อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ต่อไป


บทความที่น่าสนใจ

เวลา VS เงิน ความแตกต่างที่ไม่ต่างกัน

เคยสงสัยไหม ทำไมกรุงเทพคนเยอะ

ใครๆ ก็อยากอยู่ในเมืองกรุง แล้วเมืองกรุงทำอย่างไร

เมื่อกรุงเทพกลายเป็นบ้านหลังที่สองของคนมากมาย

ที่จอดรถ ภายในกรุงเทพ กับมาตรการลดที่จอดรถใกล้รถไฟฟ้า

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์