รูปบทความ ศิลปะการพัฒนาเมืองผ่านการ Make Over สลัม

ศิลปะการพัฒนาเมืองผ่านการ Make Over สลัม


‘สลัม’ หรือพื้นที่อยู่อาศัยแออัดที่ดูแล้วไม่ค่อยได้มาตรฐานด้านการอยู่อาศัย บ้านเรือนและอาคารมักขาดความมั่นคงแข็งแรง ไม่มีสุขลักษณะที่ดี มีมลภาวะเป็นพิษ ซึ่งเรามักจะพบเห็นสลัมแฝงตัวอยู่ในเมืองใหญ่แทบจะทุกเมือง ทุกประเทศบนโลกใบนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว...กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสลัม นอกจากจะต้องทนอยู่ในสภาพที่แร้นแค้นแล้ว ก็มักจะขาดโอกาสในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านหน้าการงานที่ไม่ค่อยมีเป็นหลักเป็นแหล่ง, เงินน้อย รวมถึงโอกาสทางการศึกษาที่แทบจะเข้าไปไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ


ส่งผลให้สลัมส่วนใหญ่กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของยาเสพติดและอาชญากรรมมากมาย อันเนื่องมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจในคุณธรรมและความผิดชอบชั่วดี หรือหากมองอีกมุมหนึ่ง “สลัม” ก็คือผลพวงของการพัฒนาประเทศโดยเน้นเศรษฐกิจนำ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างเมืองกับชนบท เมื่อความเจริญทั้งหมดกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง จึงทำให้ผู้คนจากชนบทจำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด หลั่งไหลเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ภายในเมือง เพื่อดำรงชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว


นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้สลัมมักตั้งตนอยู่ในเมืองต่างๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘เมือง’ จะสามารถให้โอกาสในการลืมตาอ้าปากกับพวกเขาได้ และหากพูดถึงภาพรวมของการแก้ไขปัญหาสลัมแล้ว จะประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ


การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนเมืองในชุมชนแออัดหรือชุมชนบุกรุกโดยรัฐ


Make Over สลัม ให้กลายเป็นคอนโดมิเนียม


หากมองกันตามความเป็นจริงแล้ว เจตนาในการขอคืนพื้นที่ก็มีเหตุผลในทางที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ บางประเทศมองว่าพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างเสื่อมโทรมและเป็นอันตรายต่อการอยู่อาศัย หรือบางครั้งพื้นที่ดังกล่าวก็เป็นแหล่งมั่วสุมของโจรและอาชญากรรมที่หนักหน่วงจนเกินแก้


ในบางประเทศมองว่า...มูลค่าของพื้นที่ที่คนเหล่านี้อาศัยอยู่นั้น มีมูลค่ามากเกินกว่าที่จะให้พวกเขาครอบครองแบบฟรีๆ โดยไม่ได้นำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ให้เกิดความเหมาะสม ทำให้ทางภาครัฐต้องเร่งจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ที่เหมาะสมให้กับคนเหล่านี้ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อการนำพื้นที่ดังกล่าวนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป แต่ในบางประเทศ สำหรับกรณีที่ทางการไม่ได้จัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ ก็จะให้เป็นเงินชดเชยตามความเหมาะสม เพื่อให้พวกเขาได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่


สำหรับประเทศไทย ถ้านับเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เรามีชุมชนแออัดอยู่กว่า 1,000 แห่งเลยทีเดียว หนึ่งในพื้นที่ที่ปัจจุบันกำลังได้รับการแก้ไขอย่าง ‘แฟลตดินแดง’ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้การพัฒนาเมือง รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยเริ่มเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น


หากพูดถึงสลัมในความหมายที่เราเข้าใจกัน ‘ชุมชนแฟลตดินแดง’ ก็ดูจะไม่ใกล้เคียงกับคำคำนี้นัก แต่หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของที่นี่ รวมไปถึงสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของบุคคลบางกลุ่มในพื้นที่แห่งนี้ก็แทบจะเข้าใกล้ความเป็นชุมชนแออัดที่ขาดความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และสุขอนามัยเข้าไปทุกที


อ่านข้อมูลเกี่ยวกับแฟลตดินแดงเพิ่มเพิ่มได้ที่ ย้อนเรื่องราวของชาวแฟลตดินแดง ก่อนเริ่มต้นฤดูใหม่ที่สดใสกว่า


การแก้ไขและพัฒนาชุมชนแฟลตดินแดงในปัจจุบัน ทำให้นึกไปถึงการพัฒนาพื้นที่สลัมในประเทศสิงคโปร์ ที่ปัจจุบัน ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ กลายมาเป็นต้นแบบในหลายๆ ด้าน ให้กับหลายๆ ประเทศที่กำลังอยู่ในโพสิชันของการพัฒนา


ที่มา: shuttersandsunflowers, straitstimes

เมื่อแรกเริ่มที่ประเทศสิงคโปร์สร้างประเทศขึ้นมาใหม่ๆ ประเทศเล็กๆ แห่งนี้แทบไม่แตกต่างอะไรกับประเทศด้อยพัฒนาทั่วไป มีชุมชนแออัดอยู่หนาแน่นจนติดอันดับต้นๆ ของโลกเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งในรัฐบาลของ ลี กวนยู ที่มีแนวคิดในการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน โดยเริ่มต้นจากการสร้างแฟลตสำหรับให้ชนชั้นกลางเช่าขึ้นมาก่อน เมื่อผู้อยู่อาศัยมีเงินจ่ายค่าเช่า รัฐก็นำเงินมาหมุนเวียนสร้างแฟลตรองรับความต้องการของประชาชนเพิ่มขึ้น และค่อยๆ ขยับไปสู่กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำในที่สุด คนสิงคโปร์กว่า 80% ของประเทศก็อาศัยอยู่ในแฟลตของรัฐบาล และมีความเป็นอยู่ที่ดีมาจวบจนถึงปัจจุบัน 


Make Over สลัมเป็นสวนสาธารณะ


ในขณะที่มุมมองของการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนอีกแง่มุมหนึ่ง กลับกลายเป็นการไล่รื้อที่โดยให้เงินชดเชยจำนวนหนึ่งแก่ชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาย้ายออกไปสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่อื่นๆ แทน จากนั้นรัฐก็จะทำการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมดังกล่าวให้กลายเป็นสถานที่ที่สวยงามเหมาะสมกับเมืองต่อไป


ที่มา: seoulsolution, National institute of ecology

คลองชองเกซอน ประเทศเกาหลีใต้ เป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่โดยการเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนแออัดให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับประชาชนในการพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงสร้างให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง หนึ่งในสถานที่ยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ที่ถ้าเมื่อได้ไปเยือนกรุงโซลแล้วล่ะก็ สถานที่แห่งนี้ก็นับว่าเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจกลางเมืองที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง


แต่ใครจะรู้ว่าคลองน้ำใสไหลเย็นแห่งนี้ จะเคยมีภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่สวยงามมาก่อน ทั้งแหล่งน้ำเน่าเสีย มลภาวะมากมายที่ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย และชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่ขนาบข้างทั้งสองฝั่งคลอง ทำให้พื้นที่แห่งนี้นับวันจะยิ่งทรุดโทรมมากขึ้นทุกที จนในปี 2005 คลองแห่งนี้ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาจริงๆ เสียที จากคลองน้ำเน่าสภาพไม่น่าดู ปัจจุบันนี้กลับกลายมาเป็นคลองเล็กๆ ที่มีต้นไม้น้อยใหญ่คอยสร้างบรรยากาศความร่มรื่นอยู่ตลอดเส้นทาง รวมไปถึงมีทางเดินรายล้อมทั้งสองฝั่ง ให้ผู้คนได้มาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจกันได้อย่างอิสระ


ที่มา: businessinsider

ในขณะที่ประเทศจีนก็มีการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ‘เกาลูน’ หนึ่งในเขตการปกครองของฮ่องกง เคยมีอดีตดำมืดมายาวนานกว่า 100 ปี เมืองกำแพงเกาลูน เมืองนอกกฏหมายที่ปราศจากการควบคุมโดยรัฐมาตั้งแต่ปี 1890-1990 มีสภาพของเมืองที่แออัด คับแคบ เสื่อมโทรม จนแทบไม่น่าเชื่อว่า มีคนจำนวนนับหมื่นนับแสนอาศัยอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กนี้จริงๆ จนกระทั่งในปี 1984 ทางการจีนตัดสินใจไล่ที่ชาวบ้านในกำแพงเกาลูนออกทั้งหมด และชดเชยค่าเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 350 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะรื้อถอนอาคารทั้งหมดภายในเมืองเสร็จสิ้นในปี 1994 และเปลี่ยนให้กลายมาเป็นสวนสาธารณะ Kowloon Walled City Park ที่ทั้งสวยงามและร่มรื่น จนไม่เหลือเค้าสลัมอันมืดมนในอดีต


การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิตโดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง


เปลี่ยนสลัมเป็นสถานที่ท่องเที่ยว


การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิตโดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง เป็นการปรับปรุงชุมชนเดิมให้มีสภาพที่ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาใหม่ แต่ใช้วิธีค่อยๆ ปรับผังและโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ดีขึ้น ไปจนถึงการทาสีตกแต่งให้สวยงามน่ารัก จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในที่สุด


ที่มา: Photo by Jens-Olaf Walter, blog.traveloka

เริ่มต้นที่เมืองท่าที่มีความสำคัญที่สุดของประเทศเกาหลีใต้อย่าง ‘ปูซาน’ จุดหมายปลายทางอันดับ 2 รองจากโซลของนักท่องเที่ยว กว่าจะเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ปูซานเองก็เคยผ่านช่วงเวลาของความยากลำบาก มีชุมชนแออัดอยู่มากมายทั่วเมืองมาก่อน จนกระทั่งได้รับการแก้ปัญหาในภายหลัง ด้วยแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสถานที่นี้ ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เกิดการรวมกลุ่มกันของศิลปินท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามตรอกซอกซอยต่างๆ รวมถึงระบายสีบ้านเรือนภายในชุมชนให้มีสีสันสวยงาม และบอกต่อผลงานผ่านรูปภาพทางสื่อออนไลน์ เกิดการบอกต่อ เข้ามาเยี่ยมชม จนในที่สุดชุมชนแห่งนี้ก็กลายมาเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมคามชอน สถานที่เช็กอินอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวที่ห้ามพลาด ถือเป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่สร้างสรรค์ ใช้งบประมาณน้อย อีกทั้งยังส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับประเทศและชุมชนได้อีกด้วย


ที่มา: Photo by Michelle Ferreira, independent

เช่นเดียวกันกับสลัมแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย อย่าง หมู่บ้าน Kampung Pelangi ทางตะวันออกของจาร์การ์ตาร์ ที่ถูกแต่งแต้มสีสันเสียใหม่ให้สดใสน่ารัก จนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาท่องเที่ยวเช็กอิน ถ่ายรูปกัน จนแฮชแท็ก #kampungpelangi ถูกใช้ไปถึง 4,000 โพสภายในเวลาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น และในปัจจุบันแฮชแท็กนี้ก็มียอดโพสไปมากกว่า 20,000 โพสแล้ว


แม้ว่าภาพรวมของการพัฒนาสลัมทั้ง 2 แนวทาง ผลลัพธ์ของมันอาจจะดูสวยงาม แต่ก็นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ตราบใดที่การพัฒนาประเทศยังขาดความสมดุล กระจุกกลุ่มงานและเศรษฐกิจหลักอยู่แค่ในเมือง ปัญหาของสลัมก็ยากที่จะกำจัดให้หมดสิ้นไปได้


ที่มา: บทความวิจัย ปัญหาคนจนเมืองในชุมชนแออัด : องค์ความรู้และกระบวนการขับเคลื่อน เปรียบเทียบประเทศไทย และประเทศเกาหลี


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์