รูปบทความ เตรียมพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฯ มอบ 3 ทางเลือกให้ชาวชุมชนคลองเตย

กทท. เตรียมพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฯ มอบ 3 ทางเลือกให้ชาวชุมชนคลองเตย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


การท่าเรือแห่งประเทศไทยเตรียมพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ส่งผลให้ชาวชุมชนคลองเตยกว่าหมื่นครัวเรือจำเป็นที่จะต้องย้ายออก โดยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เสนอ 3 ทางเลือกให้กับชาวชุมชน ในการรองรับที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อเยียวยาและไม่เป็นการทอดทิ้งชุมชน


โดย 3 ทางเลือกสำหรับชาวชุมชนคลองเตย มีดังต่อไปนี้

  1. ให้ชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยในโครงการ Smart Community คอนโดมิเนียม ซึ่งมีขนาดห้องอยู่ที่ 33 ตารางเมตร พร้อมอยู่ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน มีด้วยกันทั้งหมด 4 อาคาร รวม 6,144 ยูนิต ตั้งอยู่ในซอยตรีมิตร แขวงพระโขนง เขตคลองเตย
  2. มอบที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตารางวา ย่านหนองจอก มีนบุรี 2,140 แปลง เพื่อให้ชาวชุมชนไปปลูกสร้างบ้านเรือนกันเอง
  3. ให้เงินทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งยังไม่ได้ระบุจำนวนที่จะมอบให้ในขณะนี้


แม้ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะทำการเปิดตัวโครงการ Smart Community ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ขณะนี้ชาวชุมชนเองก็ยังไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัดของโครงการดังกล่าว


โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยออกใบแถลงข่าวกรณีโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า สภาองค์กรชุมชนฯ ขอแสดงความเห็นและข้อเสนอต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ที่ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดทำ และเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมาโดยกล่าวว่าเป็นโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ยั่งยืน สามารถอยู่ร่วมกับการเจริญเติบโตของสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรี


โดยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ มีการตั้งคณะกรรมการ 1 คณะและคณะทำงาน 3 คณะ ซึ่งแต่ละคณะมีประธานกรรมการชุมชน ผู้แทนองค์กร สหกรณ์ในพื้นที่ร่วมด้วย แต่มีการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง มีการนำเสนอรูปแบบห้องพัก การสำรวจชุมชน เงื่อนไขการพิจารณาสิทธิ ในที่ประชุมแต่ละคณะ โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อหารือที่ประชุมยังไม่ได้มีมติของที่ประชุมในแต่ละคณะ โครงการ Smart Community ซึ่งเปิดตัว ในวันที่ 9 มกราคม 2562 จึงเป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน เนื่องจากไม่ได้มีมติเห็นชอบจากที่ประชุมทั้ง 4 คณะ และไม่ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นจากชาวชุมชน
  2. ทั้งรูปแบบอาคาร ขนาดห้องพักที่มีเพียงขนาดเดียวของโครงการ อาจตอบสนองการอยู่อาศัยของคนบางกลุ่มซึ่งมีจำนวนน้อยแต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่และจำนวนสมาชิกในครอบครัวของชาวชุมชนจำนวนมาก อีกทั้งชาวชุมชนต้องปรับตัวครั้งใหญ่และต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
  3. หลังจากการเปิดตัวโครงการ Smart Community การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้จัดประชุมผู้แทนชุมชนเพื่อชี้แจงโครงการ แต่ไม่ได้ลงพื้นที่ในแต่ละชุมชน กระบวนการและรูปแบบของการประชุม ยังไม่สามารถตอบคำถาม ไขข้อข้องใจที่ชาวชุมชนสงสัยและห่วงกังวลให้กระจ่างชัด
  4. ผู้นำชุมชนร่วมกับองค์กรในพื้นที่ กลุ่มหนึ่ง ร่วมกันทำงานในนาม “กลุ่มคนถางทาง” อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ร่วมเปิดเวทีให้ข้อมูล รับฟังความเห็นของชาวชุมชน ไปนับสิบชุมชน และทำการสำรวจชุมชน นำไปออกแบบอาคารและห้องพักที่มีความหลากหลาย ซึ่งมาจากการให้ข้อมูล รับฟัง และสำรวจอย่างละเอียดก่อนการออกแบบ และทำการสำรวจชุมชนเพื่อรับทราบสถานการณ์อยู่อาศัยของชาวชุมชนเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องสิทธิ ซึ่งสภาองค์กรชุมชน ขอให้ทบทวน โครงการ Smart Community และขอเสนอแนวทางกระบวนการทำงานกับชุมชน โดยได้จัดทำข้อมูล กระบวนการทำงาน การออกแบบ รูปแบบอาคาร และห้องพัก เป็นวีดีทัศน์ เอกสาร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดกระบวนการ ให้เกิดการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่สอดคล้องกับ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต อาชีพ รายได้ ของชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง


ซึ่งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ชาวคลองเตยในนามของสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยจะจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของภาคประชาชน โดยให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยชี้แจง ตอบข้อซักถามรายละเอียดที่เกี่ยวข้องโครงการดังกล่าว


ชุมชนสลัมคลองเตยตั้งอยู่บนพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมานานกว่า 60 ปี อายุของชุมชนดังกล่าวจึงค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกับชุมชนแฟลตดินแดง ซึ่งแน่นอนว่าในการขอพัฒนาพื้นที่ในทุกๆ ครั้ง ชาวบ้านก็มักจะรู้สึกไม่สบายใจ และไม่แน่ใจว่า การเยียวยาที่นายทุนบอกว่าจะมอบให้กับพวกเขา สามารถเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน แต่ในวันที่โครงการแปลง G ของชาวแฟลตดินแดงก็ทำให้เห็นแล้วว่า การพัฒนาชุมชนแออัดในกรุงเทพ สามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


หวังว่าบทสรุปของโครงการพัฒนาชุมชนคลองเตยและท่าเรือกรุงเทพ จะประสบผลสำเร็จ ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย และกลายมาเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาชุมชนแออัดอื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป


ที่มา: prachatai.com/journal/2019/02/81207 


บทความที่เกี่ยวข้อง :

'รถ คน เมือง' 3 เรื่องที่กรุงเทพฯ ต้องแก้ แต่เราต้องแลกอะไรกับการแก้ปัญหาในครั้งนี้บ้าง



เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์