รูปบทความ เรื่องห้ามพลาดเมื่อต้องลงคะแนนเลือกตั้งปี 62

เรื่องห้ามพลาดเมื่อต้องลงคะแนนเลือกตั้งปี 62

การเลือกตั้งในครั้งนี้ นอกจากกระแสผู้สมัครสมาชิก รายชื่อแคนดิเดตหรือว่าที่นายกรัฐมนตรี รวมถึงนโยบายของแต่ละพรรค (สูงสุดพรรคละไม่เกิน 3 คน) จะเรียกความฮือฮาและความน่าสนใจต่างกันออกไปแล้ว รูปแบบการลงคะแนนก็เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย


จากเดิมที่กากบาท (X) เลือกคนที่ชอบ 1 ใบ กับพรรคที่ใช่อีก 1 ใบ เพื่อแยกคะแนนเลือก ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ในปีนี้ก็เปลี่ยนเป็นการเลือกแบบจัดสรรปันส่วนผสม ก็คือรับบัตรใบเดียวเพื่อลงคะแนนเลือก ส.ส.เขต ก็เท่ากับเราลงคะแนนให้พรรคนั้นไปด้วยในตัว


ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อคืออะไรแล้วต่างกันอย่างไร?


พอพูดถึง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพวกเขาจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวบ้านตาดำ ๆ อย่างเรา ๆ ในการเพิ่มหรือปรับออกข้อกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของเรา ๆ ไปเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประเทศชาติและประชาชน ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาประเทศ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะเลือกคนที่จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกด้วย ดังนั้นแล้วจึงต้องใช้ 1 สิทธิ 1 เสียงของเราให้มีค่า


คนที่จะได้รับตำแหน่ง ส.ส.เขต ก็คือ ตัวแทนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกลงคะแนนจากแต่ละเขตสูงมากที่สุด ในปีนี้ก็ได้ปรับลดลงเป็น 350 คน ต่อ 350 เขต และปีนี้ผู้สมัคร ส.ส.เขต พรรคเดียวกันในแต่ละเขตก็จะมีเลขประจำตัวต่างกัน ‘สมมุติเมื่อก่อนพรรค B1 ได้หมายเลข 1 ผู้สมัครในทุกเขตก็จะมีเลข 1 เหมือนกันหมดทุกคน แต่ปีนี้ คือ พรรค B1 จะมีเลขประจำตัวไม่เหมือนกัน’


ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ก็ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 150 คน จาก 125 คน เป็นเหมือนตัวแทนของแต่ละพรรคที่จะเป็นฝ่ายเลือกจากผู้สมัคร ส.ส. จากทุกเขต และจะไม่มีเลขประจำตัวผู้สมัคร เพราะคะแนนที่ได้มาจากการคำนวณจากผู้สมัคร ส.ส.เขต อีกที


ปีนี้เดินเข้าคูหารับบัตรใบเดียว กาทีเดียวส่งผล 3 อย่าง

ก็คือว่าในปีนี้จะมีแค่บัตรลงคะแนน 1 ใบเท่านั้นที่ทุกคนได้รับ จะมีเลขประจำตัวผู้สมัคร ส.ส. ในบัตร ถ้าเรากากบาท (X) เลือกคนไหน ก็เท่ากับว่าเพิ่มคะแนนให้กับผู้สมัครสมาชิกคนนั้นและพรรคของเขาไปเลยทีเดียว


แต่คราวนี้ ส.ส.เขต ต้องเป็นผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดและสูงกว่าคะแนน No Vote ไม่ออกเสียงของแต่ละเขต แต่ถ้ามีผู้สมัครได้คะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลากเลือกเอา


ซึ่งหากคนที่เราเลือกไม่ได้เป็น ส.ส.เขต พรรคนั้นก็จะมีคะแนนไปคำนวนเพื่อส่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคเพิ่มขึ้น เช่น มีคนลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส.เขต พรรค B1 70,000 คะแนนเสียง = ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน คือแม้คนที่เราเลือกจะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่คะแนนที่เราเลือกจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคนั้น ๆ เลือก ส.ส. เพิ่มได้อีก


และคะแนนที่เรากากบาท (X) ไปแค่ครั้งเดียวก็ยังส่งผลให้พรรคนั้นที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี


How to ลงคะแนนเลือกตั้ง

  1. พอเราไปถึงสนามเลือกตั้งให้เข้าไปตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่ของตัวเองจากบัญชีรายชื่อที่ติดประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง ซึ่งในปีนี้ กกต. ขยายเวลาเปิดคูหาให้นานขึ้นอีก 2 ชม. เป็นเวลา 08.00-17.00 น.
  2. จำลำดับที่รายชื่อของตัวเอง แล้วเข้าไปยื่นบัตรประชาชนแสดงหลักฐานกับเจ้าหน้าที่ที่ประจำแต่ละหน่วยเลือกตั้ง (สามารถใช้บัตรประชาชนที่หมดอายุได้ แต่ใครไม่มีบัตรประชาชนก็ยื่นพาสปอร์ตแทนได้)
  3. รับบัตรเลือกตั้ง ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง พร้อมรับบัตรเดินเข้าคูหาเตรียมตัวตั้งใจเลือกคนที่ตั้งใจไว้
  4. ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องที่ต้องการใช้สิทธิ หรือกากบาท (X) ในช่อง No Vote ไม่ประสงค์ลงคะแนน
  5. ใส่บัตรเลือกตั้งในหีบบัตรด้วยตนเองเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจ
  6. รอฟังประกาศผลการลงคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการอีก 60 วัน จากเดิมที่ใช้เวลา 30 วัน ก็เพื่อตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้งอย่างเต็มที่


จริง ๆ การเลือกตั้งปี 2562 ก็มีเรื่องราวอัพเดทต่างไปจากเดิมค่อนข้างมากพอสมควร ทั้งการลงคะแนนเลือกตั้ง การคำนวณหาปาร์ตี้ลิสต์ การขยายช่วงเวลาเปิดปิดคูหา เป็นต้น ดังนั้นแล้วอย่าลืมศึกษารายละเอียดเพื่อสิทธิของตัวเองและการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีกันด้วยนะ




เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์