รูปบทความ “ชัชชาติ” ชี้คอนโดล้นเป็นจุดๆ “เล็งทำเลต้องแม่น”

“ชัชชาติ” ชี้คอนโดล้นเป็นจุดๆ “เล็งทำเลต้องแม่น”


ประชาชาติธุรกิจ ได้พูดคุยกับรศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เน็ตไอดอล ขวัญใจคนรุ่นใหม่ในโลกโซเชียล เจ้าของฉายา "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" ในขณะที่ครบ 2 ปี 4 เดือนพอดีกับบทบาท CEO บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือคิวเฮ้าส์  

โดยได้พูดคุยถึงปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทยที่ต้องการก้าวสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ "นวัตกรรม" เพิ่มมูลค่า หรือ "ไทยแลนด์ 4.0" ทำให้ต้องปรับวิธีคิดแบบเดิมๆ 

"ทุกวันนี้โลกหมุนเร็ว วินาทีนี้ทุกคนต้องปรับตัว อย่างแรกเลยคือต้องปรับวิธีคิด ในแง่องค์กรธุรกิจใหญ่ ๆ ผมเชื่อว่า เขาได้ปรับกันไปพักใหญ่แล้ว ภาคเอกชนจึงเป็นเหมือนพลังขับเคลื่อน"

"ไทยแลนด์ 4.0 เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ในมุมมองรวม ๆ ผมห่วงว่าจะมีคนตกรถเยอะ"

นั่นหมายถึง คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจหรือไม่ได้เดินไปด้วยกัน จึงห่วงว่าแล้วพวกเขาจะทำอย่างไรกับ 4.0 ในรูปแบบไหน คนทั้งประเทศจะรับมือกับ "จุดเปลี่ยน" ตรงนี้ได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมคิด
ไทยแลนด์ 4.0

มุมมองอสังหาฯ ไทยแลนด์ 4.0

มุุมมองด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยแลนด์ 4.0 รศ.ดร.ชัชชาติคิดว่าอสังหาฯ เป็นกึ่งๆ ปลายน้ำ เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ในแง่ของไทยแลนด์ 4.0 รูปแบบไม่ได้เปลี่ยนมากนัก เพราะเป็นการก่อสร้างทำบ้านขาย

"แต่ที่เปลี่ยนมาก ๆ คือ กระบวนการสื่อสารหรือสื่อความมากกว่า การโฆษณาในรูปแบบเดิมจะเปลี่ยนไปหมด ดูจากป้ายโฆษณา คัตเอาต์ บิลบอร์ด หายไปเยอะ แต่เทรนด์ออนไลน์มามากขึ้นเรื่อย ๆ"

"ทุกธุรกิจต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มใหม่ อสังหาริมทรัพย์ก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ต้องสร้างคุณภาพขึ้นมาเป็นจุดขายหลัก ใครทำธุรกิจนี้ วันนี้ หลอกใครไม่ได้แล้ว"

คุณภาพ จะเป็นตัวฟ้อง ผลงาน

เพราะถ้าสินค้าคุณไม่มีคุณภาพ ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะปัจจุบัน "โลกโซเชียล" เป็นเหมือน "กระจกรอบด้าน" ที่ส่องตัวเราและตัวคุณ อย่างนโยบาย เราเน้นเรื่อง "คุณภาพ" ตามชื่อบริษัท โดยเน้นช่องทาง "อินเทอร์เน็ต" ใครสนใจข้อมูลอะไร ทุกอย่างจะอยู่หน้าจอหมด สามารถหาได้รวดเร็ว

ตัวแปรคืออารมณ์

รศ.ดร.ชัชชาติให้ข้อคิดอีกว่า เรื่อง "อารมณ์" ในยุคไทยแลนด์ 4.0 "ตัวแปร" สำคัญที่สุดเพราะมีหลายมิติและค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งมีผลผูกโยงเกี่ยวข้องกับวิถีของชีวิตและธุรกิจใน "โลกใบใหม่" ทั้งสามารถแปรเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างคาดไม่ถึง มีทั้งผลบวก-ลบ

ต้องระวัง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของการทำธุรกิจและการทำตลาดในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทไหน เราต้องรู้เท่าทันและบริหารสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ว่าใคร อะไร ไปทางไหน 

โลกเปลี่ยนเร็ว คนเปลี่ยนช้า

ส่วนเทรนด์ของ "พร็อปเทค" จริง ๆ แล้วในธุรกิจอสังหาฯเราได้ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2007 เรามองเห็นมานาน เราใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือมาพักใหญ่ แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วขึ้น ปัญหาคือคนจะเปลี่ยนไม่ค่อยทัน หรือเปลี่ยนได้ช้าสุด

"คนที่เปลี่ยนทัน เปลี่ยนได้เร็วก็จะได้ประโยชน์จากจุดตรงนี้ ซึ่งอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ คอร์ปอเรตใหญ่ ๆ ที่ปรับตัวทันก็จะไปได้ดี ที่ปรับตัวไม่ทันก็มี"

แล้วธุรกิจที่สปีดตัวไม่ทันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซีอีโอคิวเฮ้าส์ให้ความเห็นว่า อินโนเวชั่นคือสิ่งจำเป็น เอสเคิร์ฟคงสั้นลง เมื่อก่อนเอสเคิร์ฟจะยาว เหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้เวลานาน ก็จะกินเอสเคิร์ฟตัวเดิม

แต่ปัจจุบันเอสเคิร์ฟสั้นลง บางธุรกิจ 1-2 ปีเอง คือต้องหาเอสเคิร์ฟตัวใหม่ เหมือนที่ประเทศไทยพยายามอยู่ แต่ก็ต้องดูอนาคตให้แม่นๆ ด้วยว่าอะไรคือเอสเคิร์ฟ ทุกอย่างต้องดูความเหมาะสมและเป็นไปได้ เช่น สร้างแอร์พอร์ตอยู่กลางทุ่ง จะสวยหรูแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่มีใครมา

"อินโนเวชั่น" จึงเป็นกลไกสำคัญของ "ไทยแลนด์ 4.0"

อย่างแบงก์ก็กังวลว่า ถ้าฟินเทคมาจะทำให้บริษัทที่ไม่มีต้นทุนมาแทนที่ หรืออย่างอาลีบาบาที่ไม่ได้มีต้นทุนเดิมก็เกิดได้ หรือแท็กซี่อูเบอร์ เป็นต้น  

คอนโดฯล้นเป็นจุดๆ

เหมือนลงทุนอสังหาฯต้องดูแนวโน้มการเติบโตของเมือง ดูพฤติกรรมลูกค้า แต่ที่ยากคือการดูทำเล เพราะสำคัญมากๆ ว่าเราจะทำโครงการสำเร็จหรือไม่ อย่างเรากับคู่แข่ง อยู่บนถนนสายเดียวกัน แต่ที่จะเฉือนกันอยู่ที่จุดที่ตั้งโครงการ ใครตั้งฝั่งไหนดีกว่า ใกล้ไกลจุดกลับรถ "เราพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าจังหวะไม่ดี เรารอได้ เพราะอสังหาฯต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ จึงต้องรอบคอบและอาศัยประสบการณ์เข้าช่วย"

การเลือกทำเลต้องแม่น

ทิศทางโดยรวมดีกว่าเดิม เศรษฐกิจปีนี้ก็ลุ้นกันอยู่ แต่ตลาดกลางล่างไม่ดีทำให้คนไม่มีเงิน ธนาคารก็ปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อด้วย ที่น่าห่วงคือนักลงทุนคอนโดก่อซัพพลายคอนโดฯ มีมากขึ้นหลายจุด และล้นเป็นจุดๆ

ใครมีที่ดินก็ขึ้นโครงการเป็นซัพพลายที่เกิดจากมือสมัครเล่นส่วนหนึ่ง อีกส่วนมาจากการแข่งกันเปิดโครงการให้ครบทุกเซ็กเมนต์ทุกระดับราคา เหมือนโต๊ะจีน

ไทยแลนด์ 4.0

สำหรับประเด็น "ที่ดิน" แพงเกินเหตุ คงต้องให้เป็นเรื่องของดีมานด์ซัพพลาย เมื่อถึงจุดหนึ่งกำลังซื้อไม่ได้ก็ไม่ซื้อ ก็มีที่ดินที่ตั้งราคาแล้วไม่มีคนซื้อก็เยอะเหมือนกัน ยุคไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้ขายง่ายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

"ส่วนกลุ่มลูกค้า ปัจจุบันเราขยายฐานลูกค้าเป็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่โตจากครอบครัวเดิม ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่เชื่อโฆษณาของบริษัทอีกต่อไปแล้ว" แต่จะเชื่อจากการบอกต่อๆ กันมากกว่าโดยโลกโซเชียล

นี่คือจุดเปลี่ยนอสังหาฯในยุคไทยแลนด์ 4.0


ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์