รูปบทความ 'น้ำเน่า' มลภาวะใกล้ตัวจาก 'น้ำมือเรา' ที่ถึงเวลาต้องแก้ไข

'น้ำเน่า' มลภาวะใกล้ตัวจาก 'น้ำมือเรา' ที่ถึงเวลาต้องแก้ไข


ถ้าพูดถึงคลอง เราจะนึกถึงอะไร? กลิ่นเหม็นเน่า? น้ำสีดำสกปรก? หรือทั้ง 2 อย่าง? 


คลอง’ ในแง่มุมของการพักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนเมือง ดูจะนึกจินตนาการภาพถึงมันได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าคลองน้ำใสจะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เพราะความเป็นจริงแล้ว น้ำที่ดำ, กลิ่นที่เหม็นเน่า เราทุกคนก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุเช่นกัน ไม่ว่าจะโดยทางตรงเช่นกันการทิ้งขยะลงแม่น้ำ หรือทางอ้อมอยากการใช้น้ำเพื่อชำระสิ่งปฏิกูล เพราะน้ำที่เราใช้แล้วในทุกหยด จะถูกถ่ายเทกลับคืนสู่ลำคลอง กลายเป็นบ่อเกิดของมลภาวะ และย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราในที่สุด 



แม้ดูเหมือนจะไม่มีใครเหลียวแลปัญหานี้ แต่ความเป็นจริงแล้ว กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจำนวน 8 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่รวม 212.74 ตารางกิโลเมตร มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียรวมทั้งสิ้น 1,112,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แม้ดูเหมือนจะมีขีดความสามารถที่ค่อนข้างมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น ทำให้กรุงเทพมหานครจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่ม ซึ่งต้องแลกมาด้วยงบประมาณจำนวนมาก…


ทำให้กรุงเทพมหานคร จำเป็นที่จะต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียภายในปีนี้ เพื่อนำเงินมาใช้ในการช่วยดูแลการเดินระบบและสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม โดยตามแผนแม่บทได้ระบุไว้ว่า กรุงเทพมหานครควรมีโรงบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 27 แห่ง จึงจะครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ และสามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ



ทำไมเราถึงเป็นส่วนหนึ่งของน้ำเน่า?


หลายครั้งที่เราเห็นข่าวของการบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ไม่ได้มาตรฐาน ไปจนถึงการถ่ายเทของเสียที่เป็นพิษลงสู่น้ำโดยไม่ได้ผ่านการบำบัด จนทำให้เราเผลอคิดไปว่า โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นต้นเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว น้ำเน่าเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากกว่า 80% เป็นน้ำเสียจากแหล่งชุมชน ที่เกิดจากการใช้งานในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น



อะไรคือน้ำเน่าเสียที่เกิดจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน?


น้ำที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ก็เริ่มตั้งแต่ น้ำจากการล้างหน้า, แปรงฟัน, ขับถ่าย, อาบน้ำ, สระผมของเรา ไปจนถึงน้ำจากการล้างจาน, ซักผ้า, ถูบ้าน, ล้างรถ, รดน้ำต้นไม้ โดยน้ำสะอาดที่เราต้องการใช้ในชีวิตประจำวันทั้งหมดนี้ เฉลี่ยออกมาแล้ว จะตกประมาณ 200 ลิตรต่อวัน และจากปริมาณทั้งหมด 200 ลิตรต่อวันที่เราใช้จะกลายเป็นน้ำที่มีสิ่งปฏิกูล มีส่วนที่ซึมลงสู่ดินและระเหยกลายเป็นไอ บางส่วนก็ไหลลงสู่คลองโดยตรง แต่ส่วนมากน้ำเสียเหล่านี้จะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร



กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำทั้งหมด


สำหรับการบำบัดน้ำเน่าเสียเหล่านี้ ยิ่งนานวัน ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มตามจำนวนของประชากรที่มากขึ้นในทุกๆ ปี โดยมีอัตราค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้

  • ปี 2544-2545 มีโรงบำบัด 3 แห่ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 91.08 ล้านบาท
  • ปี 2546-2547 มีโรงบำบัด 5 แห่ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 225.44 ล้านบาท
  • ปี 2548-2556 มีโรงบำบัด 7 แห่ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 516.43 ล้านบาท
  • ปี 2557-2559 มีโรงบำบัด 8 แห่ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 588.27 ล้านบาท

ซึ่งจากมูลค่าทั้งหมดกว่า 588.27 ล้านบาท ก็ยังมีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ไม่เพียงพอ



ค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียในไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่


ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย


ในความเป็นจริงแล้ว กว่า 12 เขตเทศบาลจากทั่วทั้งประเทศก็มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประเภทนี้เช่นกัน โดยเขตเทศบาลดังกล่าวก็ได้แก่ เทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก, เทศบาลเมืองกําแพงเพชร จังหวัดกําแพงเพชร, เทศบาลเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร, เทศบาลเมืองรอยเอ็ด จังหวัดรอยเอ็ด, เทศบาลตําบลหัวขวาง จังหวัดมหาสารคาม, เทศบาลเมืองแสนสุขและเทศบาลเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี, เทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, เทศบาลเมืองปาตองและเทศบาลตําบลกะรน จังหวัดภูเก็ต, เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา



อีกทั้งในหลายประเทศทั่วโลก ก็ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียจากประชาชนแบบนี้เช่นเดียวกัน ทั้งมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, สเปน, สวีเดน, สหรัฐอเมริกา, เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, อิตาลี, ออสเตรเลีย, แคนาดา และเยอรมนี ก็ล้วนเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อนำเงินที่ได้ ไปใช้ในการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐต่อไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นไปอย่างทั่วถึงและยั่งยืน



ค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย มีอัตราการจัดเก็บอย่างไร


สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย จะแบ่งแยกออกเป็น 3 ประเภทตามแหล่งกำเนิด ดังนี้


ประเภทที่ 1: บ้านเรือนที่อยู่อาศัย

อัตตราค่าธรรมเนียม: ไม่เกิน 2 บาท/ ลบ.ม.


ประเภทที่ 2: หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ, มูลนิธิ, ศาสนสถาน, โรงเรียนหรือสถานศึกษา, สถานสาธารณกุศล, โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล, อาคารชุด และสถานประกอบการ ที่ใช้น้ำเฉลี่ยไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./ เดือน

อัตตราค่าธรรมเนียม: ไม่เกิน 4 บาท/ ลบ.ม.


ประเภทที่ 3: โรงแรม, โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และสถานประกอบการที่ใช้น้ำ เฉลี่ยมากกว่า 2,000 ลบ.ม./ เดือน

อัตตราค่าธรรมเนียม: ไม่เกิน 8 บาท/ ลบ.ม.



ยกตัวอย่างเช่น


ถ้าเราใช้น้ำต่อเดือนไป 30 ลบ.ม. จะมีปริมาณน้ำเสียอยู่ทั้งหมด 80% คิดเป็น 24 ลบ.ม.


น้ำเสีย 1 ลบ.ม. ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2 บาท


น้ำเสีย 24 ลบ.ม. คูณกับค่าธรรมเนียม 2 บาท จะมียอดชำระทั้งหมด 48 บาท ในเดือนนั้น


พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งเราใช้น้ำในปริมาณมากเท่าไหร่ ค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียที่ต้องจ่ายก็จะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น



พื้นที่เขตไหนในกรุงเทพบ้าง ที่ต้องต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย


เบื้องต้นจะจัดเก็บเฉพาะพื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสียให้บริการ 8 แห่ง ครอบคลุม 21 เขต ได้แก่ พื้นที่เขตพระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สัมพันธวงศ์, บางรัก, สาทร, บางคอแหลม, ยานนาวา, ดินแดง, ราชเทวี, พญาไท, ปทุมวัน, บางซื่อ, จตุจักร, ห้วยขวาง, หนองแขม, บางแค, ภาษีเจริญ, ดุสิต, ทุ่งครุ, จอมทอง และราษฎร์บูรณะ


โดยวิธีการเก็บ จะไม่ต่างจากการเก็บค่าน้ำประปาหรือค่าไฟฟ้า คือมีใบแจ้งหนี้ มีบิลค่าใช้จ่ายออกไป แล้วให้ประชาชนมาชำระตามสถานที่ที่กำหนด เช่น ธนาคาร, เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือสำนักงานเขต โดยคาดว่าภายในปี 2562 กรุงเทพมหานครจะสามารถเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียได้ และจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 900 ล้านบาท เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป



ที่มา: https://drive.google.com/file/d/1GeexCuvu5tAMYjdDY_AMXWPBDfyhHoXA/view


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์