รูปบทความ “ระบบตั๋วร่วมแมงมุม” มีแนวโน้มสูง ยังไม่ทันใช้ภายในปีนี้

“ระบบตั๋วร่วมแมงมุม” มีแนวโน้มสูง ยังไม่ทันใช้ภายในปีนี้


แมงมุม เชื่อมโยงความสุขทุกการเดินทาง ด้วยบัตรใบเดียว


สำหรับแนวคิดเชื่อมโยงทุกการเดินทางด้วยบัตรใบเดียว อาจจะต้องรอไปอีกหน่อย หลังกระทรวงคมนาคมกำหนดเป้าหมายให้เปิดใช้ระบบตั๋วร่วมในเดือนธันวาคม 2562 แต่มีเหตุอันต้องสะดุดแผน หลังจาก รฟม. ได้มีมติให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการ


หลังเปิดตัว ‘บัตรแมงมุม’ พร้อมใช้งานเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สาย (รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง) ไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 พร้อมคาดไว้ว่าจะขยายไปใช้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์และรถ ขสมก. ​ในเดือนตุลาคม 2561 ปัจจุบันยังไม่ประสบผลสำเร็จ และจนถึงตอนนี้ แพลนเปิดบัตรร่วมใหม่ในเดือนธันวาคม 2562 ก็ยังคงมีแนวโน้มหลุดแพลนสูง



ความคืบหน้าระบบตั๋วร่วม ณ ปัจจุบัน


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าระบบตั๋วร่วมว่า ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างพูดคุยกับสถาบันการเงิน ธนาคารต่างๆ ในด้านการเงินเพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยจะมีการพัฒนาระบบจากแมงมุมเวอร์ชัน 2.5 ซึ่งเป็นระบบปิด (Closed Loop) เป็นแมงมุม 4.0 ซึ่งเป็นระบบเปิด (Open Loop) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำหนดเป้าหมายให้เปิดใช้ในเดือนธันวาคม 2562


ในส่วนของผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องปรับปรุงระบบจากเวอร์ชัน 2.5 ให้รองรับระบบ 4.0 ซึ่งรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ฉลองรัชธรรม (ช่วงเตาปูน-บางใหญ่) รฟม. จะดำเนินการเอง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนปรับปรุงหัวอ่านทั้ง 17 สถานีประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เฉลิมมหานคร (ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ-ท่าพระ-หลักสอง) ซึ่งเป็นสัญญาร่วมทุน PPP Net Cost บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงทั้งหมด 38 สถานี คาดว่าจะลงทุนกว่า 100 ล้านบาท


สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้น ได้ดำเนินการปรับแผนติดตั้งหัวอ่าน พัฒนาซอฟต์แวร์ระบบตั๋วร่วม จากเวอร์ชัน 2.5 เป็น 4.0 ส่วนรถไฟฟ้า BTS นั้น จากการเจรจาที่ผ่านมา BTS ยังปฏิเสธที่จะเข้าร่วม แต่ระบบที่รับบัตร EMV เป็นระบบเปิดซึ่ง BTS สามารถพัฒนาและเข้าร่วมได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการพัฒนาระบบตั๋วร่วมของรัฐเป็นภาคสมัครใจ ไม่ได้บังคับ ซึ่ง BTS อยู่ภายใต้การกำกับสัญญาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกระทรวงคมนาคม



การดำเนินงานในปัจจุบันยังเกิดข้อติดขัด ที่ยังคงต้องเร่งหาทางออกร่วมกันต่อไป


หลังจากที่ ครม. มอบหมายให้ รฟม. รับโอนหน้าที่ในการดำเนินการระบบตั๋วร่วมจาก สนข. ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ รฟม. ได้มีมติให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบ โดยจะมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งในข้อนี้ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการดำเนินการที่อาจไม่เป็นธรรม เนื่องจาก รฟม. ควรเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยสามารถว่าจ้างผู้พัฒนาระบบหลังบ้านโดยตรง และให้ธนาคารทุกแห่งเข้ามารวมบนฐานเดียวกันซึ่งการจ้างเองนอกจากใช้เงินน้อยกว่าแล้วยังใช้เวลาสั้นกว่าอีกด้วย เพราะสามารถอัปเกรดระบบแมงมุม 2.5 ที่ รฟม. มีอยู่ในขณะนี้ไปเป็น 4.0 ได้เลย และมีเคลียริ่งเฮาส์ของระบบที่สายสีม่วงแห่งเดียว


การดำเนินงาน ณ ปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นตอนของการติดต่อพูดคุยเจรจากับทุกๆ ภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเกิดผลประโยชน์สูงสุดกับทุกๆ ฝ่าย อดใจรอกันอีกนิด คาดว่าถ้าระบบตั๋วร่วมแมงมุมนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว การเดินทางในเมืองที่ต้องเชื่อมต่อการคมนาคมหลากหลายรูปแบบ คงจะสะดวก รวดเร็ว และง่ายดายมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่มากเลยทีเดียว





ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9620000021758 


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์