รูปบทความ Design and Decor in Cinema : Steve Jobs ความสมบูรณ์แบบในรายละเอียด

Design and Decor in Cinema : Steve Jobs ความสมบูรณ์แบบในรายละเอียด

“เมื่อไหร่คุณจะซื้อเฟอร์นิเจอร์” จอห์น สคัลลี่ CEO ของ Apple ณ ขณะนั้น เอ่ยถามจ๊อบส์ หลังจากกวาดสายตาดูห้องนั่งเล่นอันว่างเปล่าของเขา “มันไม่ใช่เรื่องง่าย” “ง่ายสิ คุณก็เริ่มจากซื้อโซฟาสักตัว ” “คือผมมีความคิดมากมายเกี่ยวกับโซฟาน่ะ เช่นว่า พวกเราจะมีมันไปเพื่ออะไรกัน”

เมื่อปี 2015 Universal Pictures ได้นำชีวประวัติของนักธุรกิจ และนักพัฒนานวัตกรรมคอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันผู้เป็นตำนาน - Steve Jobs มาทำเป็นภาพยนตร์และออกฉายอีกครั้ง โดยได้ผู้กำกับลีลาจัดจากอังกฤษอย่าง Danny Boyle มารับหน้าที่ตีความและควบคุมทิศทางของหนังใหม่ทั้งหมด และได้ Aaron Sorkin มือเขียนบทเจ้าของรางวัลออสการ์มาตีความบทภาพยนตร์โดยใช้อ้างอิงจากหนังสือชีวประวัติของ Jobs ที่เขียนโดย Walter Isaacson ซึ่งตัวภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์

ถึงแม้ตัวหนังจะไม่โดดเด่นนักในเรื่องขององค์ประกอบศิลป์ แต่สิ่งที่น่าพูดถึงในแง่ของศิลปะและการตกแต่งภายในสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือรสนิยมและความพิถีพิถันจนถึงขั้นหมกมุ่นในเรื่องของการเลือกผลิตภัณฑ์และงานออกแบบต่าง ๆ ของตัว Steve Jobs เอง ที่ผู้ชมจะรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากบทสนทนาในฉากต่าง ๆ ที่ Jobs พูดกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ หัวหน้าวิศวกร หรือเลขาคนสำคัญของเขา



ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว Jobs เป็นคนที่มักจะลงลึกในรายละเอียดของงานออกแบบทุกชิ้น เขาใส่ใจมันทุกขั้นตอน แม้กับรายละเอียดที่ตัวผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เองจะไม่ได้สัมผัสเสียด้วยซ้ำ เช่นลักษณะและความสมมาตรภายในของชิ้นส่วนเมนบอร์ด หรือเส้นขอบอันโค้งมนอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของผลิตภัณฑ์จาก Apple แทบทุกชิ้น ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากวลี ‘ความเรียบง่ายคือสุดยอดแห่งศาสตร์’ ของดาวินชี่ ผสานกับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Braun แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าของเยอรมัน ที่ออกแบบตามหลักวิถีดั้งเดิมของ Bauhaus สถาบันสอนศิลปะและการออกแบบต้นตำรับที่เป็นรากฐานของวิชาการออกแบบในปัจจุบัน งานออกแบบของ Braun เน้นความเรียบง่ายทั้งกับรูปลักษณ์ภายนอกและฟังก์ชั่น ,ที่ขาดไม่ได้คือสีผิวอ่อนนุ่มของผลิตภัณฑ์ และหน้าตาที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน


TP-1 เครื่องเล่นทรานซิสเตอร์พกพา ออกแบบโดย Braun

เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า ออกแบบโดย Braun

Dieter Rams หัวหน้านักออกแบบชาวเยอรมัน ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบผลิตภัณฑ์ชื่อดังของ Braunหลากหลายชิ้น

Jobs นำเอาแนวคิดและรูปลักษณ์ในการออกแบบเหล่านั้นมาผสานและประยุกต์เป็นงานออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของ Apple จนถึงปัจจุบัน Macintosh และ iMac ได้เปลี่ยนความคิดของผู้คนในยุคนั้นที่เคยมองคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและเข้าใจยาก ที่มีไว้สำหรับเนิร์ดคอมพ์และวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้นจึงจะเข้าใจ ให้กลายมาเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากมีไว้ครอบครอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวัน

Macintosh ปี 1984 ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของ Braun

นอกจากสีสันที่สดใสชวนมอง , iMac ปี 1998 เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่มี USB Port และตัดช่องใส่แผ่น Floppy Disc ทิ้ง นับเป็นความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของ Apple ในการปฏิวัติพฤติกรรมของผู้ใช้งานซึ่ง

ในภาพยนตร์ ฉากหนึ่งที่สาวกของ Steve Jobs จะต้องจดจำได้ก็คือฉาก FlashBack การสนทนาเรื่องความล้มเหลวของ Macintosh ระหว่าง Jobs และ John Scully ในบ้านพักอันว่างเปล่าปราศจากเฟอร์นิเจอร์แม้แต่เพียงชิ้นเดียวของเขา ซึ่งอ้างอิงมาจากภาพถ่ายในอริยาบทธรรมชาติของ Jobs ที่ถ่ายโดยเพื่อนช่างภาพของเขา Diana Walker

Steve Jobs ในอริยาบทสบาย ๆ ที่บ้านพักใน Woodside แคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1982 ถ่ายโดย Diana Walker

ภาพจากภาพยนตร์ Steve Jobs (2015)

Steve Jobsเป็นนักนิยมความสมบูรณ์แบบอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะกับเรื่องการออกแบบ เขาหมกมุ่นกับมันมากเสียจนมีปัญหากับการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ จากบทสัมภาษณ์ของ Jobs ตัวเขาเองกล่าวไว้ว่า ณ เวลาในภาพถ่าย เขายังเป็นหนุ่มโสดอยู่ ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นก็มีเพียงชาสักถ้วย แสงไฟนวลสลัวและเสียงเพลงจากเครื่องเล่นไวนิลเท่านั้น ซึ่งภายในบ้านพักอันว่างเปล่าโหวงเหวง (แต่กลับรู้สึกเพียงพออบอุ่นอย่างน่าประหลาด) นอกเหนือไปจากเสื่อโยคะที่ Jobs ใช้เป็นที่นั่งและคอลเล็กชั่นแผ่นไวนิลและเครื่องเล่นที่อยู่ในเงามืดด้านหลัง สิ่งที่โดดเด่นที่สุด ที่มีความแข็งแรงและ ‘สอบผ่าน’ รสนิยมของเขาจนสามารถโผล่มายืนหยัดอยู่เพียงหนึ่งเดียวในห้องของเจ้าพ่อแห่งการคลั่งไคล้รายละเอียดคนนี้ได้ ก็คือโคมไฟกระจกตั้งพื้นสีสันสดใส ที่เขาใช้เป็นแสงไฟสำหรับส่องอ่านหนังสือ

Magnolia Floor Lamp ออกแบบโดย Tiffany Studio

โคมไฟตั้งพื้นลายดอกแมกโนเลียนี้ ออกแบบโดย Tiffany Studio สตูดิโอสร้างงานกระจกสีชื่อดังในนิวยอร์คช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สตูดิโอนี้ก่อตั้งโดย Louis Comfort Tiffany ศิลปินกระจกสีชื่อดังชาวอเมริกัน คนสำคัญของยุค Art Nouveau ตัวโคมเป็นงานมือทำจากกระจกสี ตัวขาทำจากสำริด ให้ความรู้สึกดิบแบบโบราณ , สวยงามและบอบบางในเวลาเดียวกัน


งานกระจกสีเพื่อการตกแต่งในยุค art nouveau

งานกระจกสีเป็นศิลปะที่อาศัยทั้งความละเอียดอ่อน งบประมาณ และความรู้ทางวิศวกรรมค่อนข้างสูง เป็นเทคนิกการสร้างงานที่มีความเก่าแก่นับพันปี เรามักจะเห็นงานกระจกสีเฉพาะบนหน้าต่างของโบสถ์หรือมหาวิหารโบราณเท่านั้น ซึ่งถูกใช้เพื่อเล่าถึงเรื่องราวของคริสตศาสนา การที่ Jobs เลือกเครื่องเรือนที่ถูกสร้างขึ้นโดยเทคนิกนี้อาจสามารถบ่งบอกถึงรสนิยมส่วนตัวในการคารวะยกย่องงานศิลปะโบราณ อย่างที่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนหน้านี้ในโลโก้ Apple Computer ชิ้นแรก ที่ใช้เทคนิกโบราณอย่างภาพพิมพ์โลหะเช่นกัน

Logo แรกของ Apple Computer

Louis Comfort Tiffany เกิดเมื่อปี 1848 ณ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกชายของ Charles Lewis Tiffany เจ้าของบริษัท Tiffany & Co. ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ เพชรนิลจินดา และสินค้าบ่งบอกฐานะในสมัยนั้น ด้วยรสนิยมที่ส่งผ่านมาจากผู้เป็นพ่อ หล่อหลอมกับการคลุกคลีอยู่กับงานออกแบบอันรุ่มรวยตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้ Louis มีความสนใจในศิลปะมานาน ตั้งแต่ก่อนจะมาทำงานด้านการออกแบบกระจกสี

ภาพเขียนสีน้ำมันโดย Louis Comfort Tiffany เป็นภาพตลาดนอกกำแพงของ Tangier เมืองหนึ่งในประเทศโมรอคโค

งานกระจกของ Louis Comfort Tiffany

Tiffany ก่อตั้งบริษัท Tiffany Glass Company เมื่อปี 1885 ก่อนจะมาเป็น Tiffany Studios เมื่อปี 1902 ทิฟฟานี่ออกแบบทั้งงานกระจกสีประดับ , โคมตะเกียง , แก้วโมเสก , แก้วเป่า , เซรามิค , เครื่องเพชรพลอย โดยเฉพาะงานกระจกสีของเขาได้รับการยกย่องยอมรับจนบางครั้งคนก็เรียกงานประดับตกแต่งด้วยเทคนิกนี้ว่าเป็น Tiffany Glass หรือเรียกโคมกระจกสีว่า Tiffany Lamp

นิทรรศการ Art Nouveau และ Art Deco ใน Virginia museum of fine arts สหรัฐอเมริกา

ซึ่งโคมกระจกสีรุ่นลายดอกแมกโนเลียขนาด 28 นิ้ว เป็นโมเดลที่ใหญ่ที่สุดของงานโคมกระจกของทิฟฟานี่สตูดิโอ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายกิ่งดอกแมกโนเลียที่ถ่ายโดย Tiffany เอง เขาให้หนึ่งในแรงงานผู้ช่วยสาวในสตูดิโอ (ที่มีชื่อเรียกเล่นๆว่า Tiffany girls) ของเขา ซึ่งศิลปินชาวอเมริกัน Agnes Northrop เป็นคนวาดภาพสีน้ำดอกแมกโนเลียขึ้นมาอีกทีโดยใช้ภาพถ่ายของเขาเป็นแบบ โดยงานด้านดอกไม้ที่ต้องอาศัยควมประณีต เป็นงานถนัดและความสามารถพิเศษของ Agnes อยู่แล้ว

ภาพถ่ายกิ่งดอกแมกโนเลียที่เป็นต้นแบบของลวดลาย ถ่ายโดย Tiffany

ซึ่งงานสำเร็จที่ออกมา ลวดลายของดอกแมกโนเลียดูไปกันได้ดีกับลักษณะของตัวโคม ด้วยสีและขนาดของกลีบดอก นอกจากรูปทรงที่สวยงามน่าหลงไหล ลักษณะโค้งมนของของโคมที่เป็นรูปโดมยังช่วยกระจายแสงให้สว่างและนุ่มละมุนมากกว่าแบบกรวยอีกด้วย เมื่อมองผ่าน ๆ Magnolia Floor lamp ชิ้นนี้ดูเป็นงานออกแบบที่รุ่มรวยและประดับประดาตกแต่งเกินเหตุ สวนทางกับผลิตภัณฑ์อันเรียบง่ายและสะดวกต่อการใช้งานของ Apple แต่จริง ๆ แล้ว Floor Lamp ชิ้นเอกนี้ ถูกออกแบบโดยมีความงามเป็นแรงขับเคลื่อน และถูกผลิตทีละขั้นอย่างประณีตภายใต้การใช้งานที่ทรงประสิทธิภาพเช่นกัน


ทั้งงานออกแบบกระจกสี และการออกแบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน อาจดูห่างไกลกันคนละศาสตร์ แต่สิ่งที่ทั้ง Jobs และ Tiffany หลงไหลเหมือนกันก็คือความสวยงามของรายละเอียด และความประณีตในการสร้างสรรค์งานออกแบบ (Craftsmanship) สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้นี่เอง ที่รวมกัน ส่งเสริมกัน และประกอบสร้างกันกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ขึ้นในงานสร้างสรรค์ทุกชิ้น 



เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์