หลากหลายความเห็น! ค่าแรง 400 บาทกระทบตลาดอสังหาฯ ด้านไหนบ้าง!?
24 July 2562
รวมบทวิเคราะห์และความเห็นเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรง 400 บาท จะมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ รวมถึงคอนโดด้านไหนกันบ้าง หากนโยบายนี้โดนผลักดันจนใช้ได้จริง!
เป็นที่ฮือฮากันอย่างมากกับนโยบายค่าแรง 400 บาทที่ฝั่งรัฐบาลเคยประกาศไว้ตอนหาเสียง ถึงแม้จะมีข่าวออกมาว่าค่าแรง 400 บาทนี้จะต้องควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะขีดความสามารถของผู้ประกอบการ พูดให้เข้าใจง่ายๆ หมายถึงคนที่ได้ค่าแรง 400 บาทนั้นอาจไม่ใช่ทุกคน แต่เป็นแรงงานที่มีฝีมือที่จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรานี้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันก็มีบทวิเคราะห์รวมถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและคนในตลาดอสังหาฯหลายคนที่ออกมาวิเคราะห์การขึ้นค่าแรง 400 บาทนี้ว่าหากนโยบายดังกล่าวถูกผลักดันให้ใช้ได้จริงและครอบคลุมตลาดแรงงานทั้งหมดจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างต่อตลาดอสังหาฯและคอนโด
ค่าแรง 400 บาท อาจทำให้ต้นทุนนิติบุคคลเพิ่ม 10%
เว็บไซต์ประชาชาติได้รายงานถึงความเห็นของ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ จาก Property Perfect ที่ออกมาเปิดเผยว่าการเก็บค่าส่วนกลางแบบรายเดือนนั้น ไม่ได้เก็บเอากำไร แต่เก็บให้พอดีกับค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้จะประกอบด้วย ค่าแรงงานคน เช่น รปภ. แม่บ้าน คนทำสวน คิดเป็นอัตราส่วนรวมกัน 50% ของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง
หากนโยบายค่าแรง 400 บาทถูกนำไปปรับใช้จริงจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 - 330 บาทขึ้นอีกประมาณ 21% เมื่อคำนวณดูแล้วจะทำให้ค่านิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีก 10% โดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ นายสามภพ บุญนาค นายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยยังให้สัมภาษณ์กับประชาชาติอีกด้วยว่าเวลาทำสัญญากับเอาต์ซอร์ซ เช่น บริษัท รปภ. จะมีการระบุในสัญญาว่าหากค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นจะขอสงวนสิทธิ์ในการปรับขึ้นค่าจ้างด้วย
ค่าก่อสร้างอสังหาฯ อาจเพิ่มขึ้น แต่ไม่น่าหนักขนาดตลาดพัง
เมื่อย้อนกลับไปตอนที่ค่าแรงปรับเพิ่มจาก 300 บาท เป็น 325 บาท (เกือบ 10%) ตอนนั้นค่าก่อสร้างก็เพิ่มขึ้น 1 - 2% ด้วย แต่อย่างไรก็ตามนายไตรเดชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการจาก ศุภาลัย ได้ให้ความเห็นกับประชาชาติไว้ว่าการปรับตัวของค่าก่อสร้างนั้นต้องดูปัจจัยและสถานการณ์อื่นๆ ประกอบด้วย เนื่องจากค่าก่อสร้างจะประกอบด้วย ค่าวัสดุ และค่าแรง หากตอนนั้นค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ค่าวัสดุบางตัวลดลง ก็อาจมีผลกระทบที่มากน้อยต่างกัน ทว่าไม่น่ารุนแรงถึงขนาดตลาดพัง
ค่าแรง 400 บาทไม่น่ากระทบค่าแรงจากการสร้างคอนโดจนถึงขั้นรุนแรง
นายไตรเดชะ ยังให้ความเห็นอีกว่าที่ราคาคอนโดขึ้นนั้นส่วนใหญ่ขึ้นตามราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ขึ้นตามราคาค่าวัสดุ สังเกตได้จากราคาเฉลี่ยพร็อพเพอร์ตี้ขึ้นปีละ 5 - 6% ขณะที่ค่าวัสดุก่อสร้างขึ้นปีละ 1 - 2%
นอกจากนี้นายไตรเดชะยังกล่าวอีกว่าโดยปกติสำหรับการสร้างอาคารสูงทางโครงการจะใช้แรงงานฝีมือเป็นหลัก ซึ่งค่าแรงจะสูงกว่าอยู่แล้ว ส่วนการก่อสร้างแนวราบ เช่น บ้าน จะมีผลกระทบที่มากกว่าเพราะจะใช้แรงงานแบกหามที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่
ค่าแรงเพิ่มเป็น 400 บาท ส่งผลดีต่อแรงงานก่อสร้างที่เป็นต่างด้าว
ตามการวิเคราะห์ในคอลัมน์ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน ของ มติชน ได้ระบุว่าผลประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะตกเป็นของแรงงานต่างด้าวที่ทำหน้าที่ใช้แรงงานในการแบกหาม ซึ่งมีความเห็นต่ออีกว่าในปัจจุบันนี้งานแบกหามตามไซต์ก่อสร้างถูกคนไทยเมินมานานแล้ว งานดังกล่าวจึงตกเป็นของต่างด้าวที่ได้ผลประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปโดยปริยาย
ค่าแรง 400 อาจกระทบต้นทุนบริษัทที่เน้นแนวราบ 0.7 - 0.8%
เว็บไซต์ข่าวสดในรายงานความคิดเห็นของ นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ที่เน้นโครงการบ้านเป็นหลักว่า หากนโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาทถูกผลักดันจนใช้จริง จะกระทบต้นทุนบริษัท 0.7 - 0.8% แต่ถ้าสถานการณ์ ณ ตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยปรับลด 0.25% จะสามารถนำมาชดเชยได้บางส่วน ทั้งนี้เพื่อให้แข่งขันในตลาดได้จะไม่พยายามขึ้นราคาบ้าน แต่จะบริหารต้นทุนในส่วนอื่นๆ แทน
ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท แต่ยอดขายอสังหาฯ จะไม่เพิ่มขึ้น
กลับมาที่ความเห็นของนายไตรเดชะ กรรมการผู้จัดการจาก ศุภาลัย ที่ได้วิเคราะห์ว่ากลุ่มลูกค้าหลักที่ซื้ออสังหาฯ นั้นไม่ใช่กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ "ในธุรกิจเราถามว่าคนที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำมาซื้อบ้านด้วยหรือเปล่า บังเอิญไม่ใช่ ใช่ไหมครับ!? ธุรกิจมีทั้งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ในคราวเดียวกัน" ก่อนที่นายไตรเดชะจะกล่าวต่อ "ผมก็ต้องบอกตรงๆ คนที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ไม่ได้มาเป็นลูกค้าผมซะทีเดียว"
แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูปัจจัยต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วยว่าเงื่อนไขการปรับขึ้นด้วยว่ามีอะไรบ้าง เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายส่วนมีความเห็นว่ากลุ่ม SMEs ขนาดเล็กถึงขนาดกลางอาจได้ผลกระทบต่อการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจนทนพิษบาดแผลไม่ไหว ต้องรัดเข็มขัด และแน่นอนว่ามีผลกระทบต่อการซื้ออสังหาฯของพวกเขา
ภาระจะตกเป็นของบริษัทรับเหมา หากรัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท
"รัฐบาลในอดีตขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท รับเหมาก็เหนื่อยมารอบหนึ่งแล้ว ยังไม่ทันฟื้นตัวก็เอาอีกแล้ว" นี่คือบทสัมภาษณ์ของ นายวิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งหากนโยบายนี้ครอบคลุมทุกกลุ่มจะทำให้เงินจ้างแรงงานไร้ฝีมือเพิ่มขึ้น 100 บาทจาก 300 บาท แรงงานฝีมืออาจต้องเพิ่มขึ้น 50 - 60 บาท
"รัฐบาลใหม่ถ้ารักษาสัจจะก็ควรทำแบบค่อยๆ ปรับ อย่างน้อยขอให้มีเวลาปรับตัว เพราะรับเหมาก่อสร้างอาคารทำสัญญาล่วงหน้า 18 เดือน ในขณะที่รับเหมางานเอกชนไม่มีค่าต้นทุนผันแปร เหมือนกับงานรับเหมาภาครัฐ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเราต้องรับภาระเต็ม ๆ กดดันให้เราจ้างคนน้อยลง ใช้เครื่องจักรทดแทน ผลิตทุกอย่างในโรงงาน ใช้คนลดลง 30% กระทบคนตกงาน หางานยากขึ้น ภาพรวมทุกธุรกิจต้องใช้แรงงานน้อยลง เป็นการทำร้ายผู้ใช้แรงงาน"
ทั้งนี้จะสังเกตเห็นว่าการวิเคราะห์ของแต่ละคนนั้นจะมีความหลากหลายที่ต่างกันออกไป เนื่องด้วยปัจจัยและเหตุการณ์หลายต่อหลายอย่างที่พวกเขาเจอ บ้างก็มองว่ารุนแรง บ้างก็มองไม่น่ามากสักเท่าไหร่ แต่กระนั้นพวกเราควรติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าภาครัฐจะขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทจริงหรือไม่ และ ณ ตอนนั้นจะมีปัจจัยอื่นๆ มาส่งผลกระทบไหม