รูปบทความ นักลงทุนอสังหาฯ ควรรู้ 'ภาษีลาภลอย' คืออะไร แล้วใครต้องจ่าย

นักลงทุนอสังหาฯ ควรรู้ 'ภาษีลาภลอย' คืออะไร แล้วใครต้องจ่าย


ถือเป็นอีกยุคที่ภาษีมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น เริ่มต้นจากภาษีใกล้ตัวกันเลยก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ทางประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้ขึ้น VAT 1% โดยพุ่งเป้าโยกรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ไปใช้เฉพาะในด้านการศึกษา และการสาธารณสุขเท่านั้น หรือการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยการเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเก็บไม่เกิน 2% และขยับเพิ่ม 0.5% ทุกๆ 3 ปี จนถึงอัตราสูงสุด 5% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 ม.ค. 2562 และล่าสุดกับการปรับโครงสร้างภาษีรูปแบบใหม่กับ ภาษีลาภลอย ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการลงทุนของรัฐ


ภาษีลาภลอยคืออะไร

หลายคนอาจจะยังไมรู้จักกับ ภาษีลาภลอย หรือ Windfall Tax ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้น หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ดังกล่าวได้ 

ความจริงแล้วก็ไม่ใช่ภาษีที่เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นภาษีที่มีบังคับใช้ในต่างประเทศมานานแล้ว ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ศึกษาและอาจตัดสินใจเก็บภาษีลาภลอย เพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินส่วนนี้มาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่ต้องใช้เงินในการลงทุนเป็นจำนวนมาก


ภาษีลาภลอยจัดเก็บอย่างไร

ภาษีลาภลอย ( Windfall Tax) จะแบ่งการจัดเก็บออกเป็น 2 กรณี คือ

- การเก็บภาษีจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอจำหน่าย ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่รอบพื้นที่ที่มีการพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี, โครงการท่าเรือ พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ, ทางด่วนพิเศษ พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้น-ลง และสนามบิน พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน โดยเก็บจากการขายหรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง ส่วนนี้ให้กรมที่ดินเป็นผู้จัดเก็บ

- การเก็บภาษีกับที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท จะดำเนินการเก็บภาษีในปีถัดไปเมื่อโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ และจะจัดเก็บเพียงครั้งเดียว

โดยเบื้องต้นกำหนดจะอัตราการจัดเก็บที่ 5% ของมูลค่าที่เพิ่มขึ้น โดยจัดเก็บจากมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีโครงการลงทุนของรัฐ โดยจัดเก็บครั้งเดียวสำหรับผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้น และจัดเก็บต่อเมื่อมีการเปลี่ยนมือแล้วเท่านั้น


ผู้ได้รับการยกเว้นภาษีลาภลอย

สำหรับการจัดเก็บภาษีผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ จะมีข้อยกเว้นในกรณีที่อยู่อาศัย หรือเจ้าของเดิมไม่ได้ขายที่ดินแปลง เช่นเดียวกับที่ดินที่ได้รับมรดกตกทอด ก็จะไม่เสียภาษีที่ดินในอัตรา 5% เพราะไม่ไม่ได้มีการนำที่ดินไปสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม

ส่วนคอนโดมิเนียมจะยกเว้นให้เฉพาะคอนโดมิเนียมที่ผู้ประกอบการเป็นผู้ขาย หรือคอนโดมิเนียมที่ยังไม่ได้ปล่อยขายหลังโครงการพัฒนาของรัฐแล้วเสร็จ โดยให้คำนวณส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าคอนโดมิเนียมและจัดเก็บภาษีลาภลอย 20% จากส่วนต่างของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจริงหลังการพัฒนาโครงการของรัฐแล้วเสร็จ


ข้อมูลที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมของภาษีลาภลอย

ภาษีลาภลอยฉบับนี้ยังคงมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษากันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของผู้เสียประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐจะมีระบบการจัดการอย่างไร หรือทรัพย์สินที่อยู่ในพื้นที่นั้นไม่มีมูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น เป็นที่ดินตาบอด จำเป็นต้องเก็บภาษีลาภลอย หรือไม่อย่างไร 


ที่มา :

ไทยรัฐออนไลน์

Thaiquote คิดล้ำ นำเทรนด์

ผู้จัดการ Online

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์