รูปบทความ รวมผังรถไฟฟ้า 11 สาย  ที่ควรรู้!

รวมผังรถไฟฟ้า 11 สาย ที่ควรรู้!

            ด้วยสภาพสังคมเมืองในปัจจุบันที่ผู้คนเต็มไปด้วยความเร่งรีบ จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทำให้ปัญหาเรื่องรถติดและการเดินทางกลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนเมืองมาอย่างยาวนาน แต่อีกไม่นานปัญหาดังกล่าวจะบรรเทาและลดลง เพราะในอนาคตอันใกล้ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลกำลังจะมีรถไฟฟ้าที่ให้บริการถึง 11 สายหลัก ซึ่งรถไฟฟ้าทั้งหมดนี้จะสามารถช่วยบรรเทาและลดปัญหารถติด ตลอดจนปัญหาภายในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลได้อย่างมาก โดยเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 11 สายนั้น มีผังเส้นทางดังนี้




สายที่ 1 รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-ธรรมศาสตร์รังสิต



            รถไฟฟ้าสายนี้เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมือง แบ่งเส้นทางเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทางอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในช่วงก่อสร้างงานโยธาของเส้นทางยกระดับช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งมีแนวเส้นทาง เริ่มต้นจากบริเวณแยกประดิพัทธ์ใกล้กับสถานี BTS บางซื่อในปัจจุบัน แนวเส้นทางจะวิ่งขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวเขตทางรถไฟในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ผ่านพื้นที่เขตพญาไท จตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และไปสิ้นสุดที่สถานีรังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 2562 ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มสายนี้จะมีสถานีประมาณ 14 สถานี คือ

• ช่วงบางซื่อ-รังสิต มี 10 สถานี ได้แก่ 1.ศูนย์กลางสถานีบางซื่อ 2.สถานีจตุจักร 3.สถานีวัดเสมียนนารี 4.สถานีบางเขน 5.สถานีทุ่งสองห้อง 6.สถานีหลักสี่ 7.สถานีการเคหะ 8.สถานีดอนเมือง 9.สถานีหลักหก 10.สถานีรังสิต

• ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ มี 4 สถานี ได้แก่ 1.สถานีคลองหนึ่ง 2.สถานี ม.กรุงเทพ 3.สถานีเชียงราก และ 4.สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต



สายที่ 2 รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน


        เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง ดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเส้นทางหลักตามแนวแกนตะวันตก-ตะวันออก จากนครปฐมถึงชุมทางฉะเชิงเทรา ระยะทางกว่า 127.5 กิโลเมตร จำนวน 22 สถานี โดยสามารถแบ่งเส้นทางเป็น 4 ช่วง ได้แก่

• ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน แนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณทางเหนือของสถานีบางซื่อ 2 วิ่งขนานกับแนวทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน จนกระทั่งไปสิ้นสุดปลายทางบริเวณจุดตัดถนนสวนผักกาดเขตตลิ่งชัน โดยตลอดเส้นทางมีสถานี 7 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ-บางซ่อน-สะพานพระราม 6-บางกรวยและกฟผ-บางบำหรุ-ชุมทางตลิ่งชัน-บ้านฉิมพลี

• ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ประกอบด้วย 8 สถานี คือ สถานีประดิพัทธ์-สามเสน-ราชวิถี-พญาไท-มักกะสัน-ศูนย์วิจัย-รามคำแหง-หัวหมาก

• ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มี 4 สถานี คือ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน-จรัญสนิทวงศ์-ศุนย์ซ่อมบำรุงธนบุรี-ธนบุรีและศิริราช

• ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มี 4 สถานี คือ สถานีบ้านฉิมพลี-กาญจนาภิเษก-ศาลาธรรมพสน์-ศาลายา



สายที่ 3 รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม



            แนวเส้นทารถไฟฟ้าสีเขียวเข้ม เป็นแนวรถไฟฟ้าเหนือ-ใต้ ตัดผ่าน 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวมระยะทางกว่า 66.5 กิโลเมตร แบ่งเส้นทางเป็น 5 ช่วงสำคัญ ได้แก่

            • ช่วงหมอชิต-แบริ่ง หรือ สายสุขุมวิทซึ่งที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน โดยมีแนวเส้นทางจากสถานีหมอชิตบริเวณหน้าสวนจตุจักร ไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่สถานีพญาไท เข้าสู่ถนนพระราม 1 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีลม(สนามกีฬาฯ-บางหว้า) ที่สถานีสยาม แล้วไปเชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT อีกครั้งที่สถานีอโศก ไปตามถนนสุขุมวิท จนสิ้นสุดปลายทางที่สถานีแบริ่ง

            • ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เป็นรถไฟฟ้าโครงสร้างยกระดับตลอดสาย ระยะทาง 13 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี ประกอบด้วย สถานีสำโรง, สถานีปู่เจ้าสมิงพราย, สถานีเอราวัณ, สถานีโรงเรียนนายเรือ, สถานีสมุทรปราการ, สถานีศรีนครินทร์, สถานีแพรกษา, สถานีสายลวด และสถานีเคหะสมุทรปราการ

            • ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจาก BTS สายสุขุมวิทเดิมที่บริเวณสถานีหมอชิต ข้ามห้าแยกลาดพร้าว ไปตามเกาะกลางถนนพหลโยธิน ผ่านแยกรัชโยธิน แยกเกษตรฯ วิ่งยาวไปจนถึงแยกหลักสี่ สะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก (ด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ) ข้ามคลองสอง ผ่านบริเวณด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่บริเวณเกาะกลางของถนนลำลูกกา และไปสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณคลองสอง (สถานีคูคต)

             • ช่วงคูคต-ลำลูกกา อยู่ระหว่างการศึกษา และนำเสนอขออนุมัติจาก ครม.

             • ช่วงสมุทรปราการ-บางปู อยู่ระหว่างการศึกษา และนำเสนอขออนุมัติจาก ครม.



สายที่ 4 สายสีเขียวอ่อน




            รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนหรือสายสีลม เป็นโครงการรถไฟฟ้าภายใต้ความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ระยะทางรวมประมาณ 22 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงสำคัญ ได้แก่

             • ช่วงยศเส-บางหว้า แนวเส้นทางเริ่มจากสถานียศเส วิ่งตรงผ่านเข้าสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ก่อนจะหักเลี้ยวเข้าสถานีสยาม มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ตามแนวถนนราชดำริ ถนนสีลม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์และถนนสาทร ก่อนจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามแนวสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน และตามแนวถนนกรุงธนบุรีและถนนราชพฤกษ์ไปสิ้นสุดที่สถานีบางหว้า โดยมีสถานีทั้งสิ้น 15 สถานี

            • ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน หลังจากผ่านสถานีบางหว้าไปแล้วนั้น รถไฟฟ้าจะวิ่งบนถนนราชพฤกษ์ไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน ประกอบด้วยสถานี 6 สถานี บนระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร ได้แก่ สถานีบางหว้า-บางแวก-กระโจมทอง-บางพรม-อินทราวาส-บรมราชชนนี-ตลิ่งชัน


สายที่ 5 สายสีน้ำเงิน



/

            รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ดำเนินการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยได้รับสัมปทานจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แบ่งเส้นทางเป็น 4 ช่วง ได้แก่

• ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ติน MRT ในปัจจุบัน

• ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เป็นเส้นทางที่ผ่านสถานีบางซื่อ-เตาปูน-บางโพ-บางอ้อ-บางพลัด-สิรินธร-บางยี่ขัน-บางขุนนนท์-แยกไฟฉาย-จรัญสนิทวงศ์ 13 และไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีท่าพระ

• ช่วงหัวลำโพง-บางแค แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีหัวลำโพง ผ่านไปยังสถานีวัดมังกร-วังบูรพา-สนามชัย-อิสรภาพ-ท่าพระ-บางไผ่-บางหว้า-เพชรเกษม 48-ภาษีเจริญ และไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีบางแค

• ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 เป็นแนวเส้นทางต่อจากช่วงหัวลำโพง-บางแค โดยเริ่มต้นที่สถานีบางแค ผ่านไปยังสถานีหลักสอง-พุทธมณฑล สาย2- ทวีวัฒนา-หนองแขม จนไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีพุทธมณฑลสาย 4


สายที่ 6 รถไฟฟ้าสายสีม่วง



            รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นรถไฟฟ้าสายชานเมือง เชื่อมต่อกรุงเทพฯและนนทบุรี แบ่งเส้นทางเป็น 2 ช่วง คือ

• ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ แนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณคลองบางไผ่ ถนนวงแหวนรอบนอก (ตะวันตก) กาญจนาภิเษก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้สะพานพระนั่งเกล้า ก่อนถึงสี่แยกแครายจะเลี้ยวขวาไปตามถนนติวานนท์ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนกรุงเทพ – นนทบุรี ถึงบริเวณแยกเตาปูน ประกอบด้วย 16 สถานี ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่-ตลาดบางใหญ่-สามแยกบางใหญ่-บางพลู-บางรักใหญ่-ท่าอิฐ-ไทรม้า-สะพานพระนั่งเกล้า-แยกนนทบุรี 1-ศรีพรสวรรค์-ศูนย์ราชการนนทบุรี-กระทรวงสาธารณสุข-แยกติวานนท์-วงศ์สว่าง-บางซ่อน-เตาปูน


• ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ
แนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณสถานีเตาปูน เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แยกผ่านฟ้า เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสีแยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรย์ ผ่านแยกถนนจอมทองเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์ แยกถนนประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร เข้าสู่ราษฎร์บูรณะข้ามคลองแจงร้อน ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณครุใน


สายที่ 7 รภไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี)




            เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก-ตะวันตก เริ่มต้นจากสถานีรถไฟตลิ่งชัน วิ่งตามแนวเขตรถไฟสายบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนิน เบี่ยงเข้าแนวถนนหลานหลวง ผ่านยมราชเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี เลี้ยวเข้าถนนราชปรารภ เมื่อถึงดินแดงแล้วเลี้ยว ไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แล้วเบี้ยงเข้าแนวถนนพระรามเก้า ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี แยกถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี รวมระยะทางกว่า 35.4 กิโลเมตร 29 สถานี ได้แก่ สถานีตลิ่งชัน-บางขุนนนท์-ศิริราช-สนามหลวง-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-หลานหลวง-นิยมราช-ราชเทวี-ประตูน้ำ-ราชปรารภ-รางน้ำ-ดินแดง-ประชาสงเคราะห์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-รฟม.-ประดิษฐ์มนูธรรม-รามคำแหง12-รามคำแหง-ราชมังคลา-หัวหมาก-ลำสาลี-ศรีบูรพา-คลองบ้านม้า-สัมมากร-น้อมเกล้า-ราษฎร์พัฒนา-มีนพัฒนา-เคหะรามคำแหง-มีนบุรี-สุวินทวงศ์


สายที่ 8 รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)



            รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ปากเกร็ด-หลักสี่-มีนบุรี-สุวินทวงศ์) เป็นโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณระหว่างศูนย์ราชการนนทบุรีและแยกแคราย จากนั้นจะวิ่งเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกแครายเข้าถนนติวานนท์ ผ่านแยกปากเกร็ดเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการ แยกหลักสี่ และผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีสถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นสถานีเชื่อมต่อ (Interchange Station) เพื่อเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งตามถนนรามอินทรา ข้ามทางพิเศษฉลองรัชบริเวณแยกวัชรพล จนถึงแยกมีนบุรีแล้ววิ่งเข้าเมืองมีนบุรีตามถนนสีหบุรานุกิจ จากนั้นจะข้ามคลองสามวาและเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบผ่านพื้นที่ว่างและข้ามเข้าถนนรามคำแหง จนไปสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณทางแยกร่มเกล้า รวมระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร


สายที่ 9 รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)





            รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวเส้นทางอยู่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครและสิ้นสุดเส้นทางในจังหวัดสมุทรปราการ แนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว วิ่งไปตามแนวถนนลาดพร้าว ผ่านแยกฉลองรัช และข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกลำสาลี วิ่งตรงข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม เมื่อถึงแยกศรีเทพาแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาอีกครั้งไปทางทิศตะวันตกตามแนวถนนเทพารักษ์ เชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางที่บริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย รวมระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร



สายที่ 10 สายสีเทา

http://www.ananda.co.th/blog/thegenc/wp-content/uploads/2016/12/greyline-map.png


            รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-พระโขนง-สะพานพระราม 9-ท่าพระ) แนวเส้นทางเริ่มจากถนนรามอินทรา ชานเมืองทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ลงมาทางทิศใต้ตามถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลียบทางพิเศษฉลองรัช เข้าสู่ใจกลางเมืองย่านทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ถนนพระรามที่ 4 คลองเตย ถนนรัชดาภิเษก-พระราม 3 ไปสิ้นสุดบริเวณเชิงสะพานพระราม 9 รวมระยะทางกว่า 26 กิโลเมตร แบ่งเส้นทางได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้

            • ช่วงวัชรพล-ลาดพร้าว เป็นเส้นทางจากบริเวณซอยวัชรพล มุ่งหน้าลงใต้ผ่านซอยนวลจันทร์ ข้ามถนนเกษตร-นวมินทร์ และสิ้นสุดที่จุดตัดกับถนนลาดพร้าว ประกอบด้วย 5 สถานี คือ สถานีวัชรพล-นวลจันทร์-เกษตรนวมินทร์-โยธินพัฒนา-ลาดพร้าว87

            • ช่วงลาดพร้าว-พระราม4 เส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณถนนลาดพร้าว มุ่งหน้าลงใต้ ผ่านถนนประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษศรีรัช เลี้ยวเข้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่ วิ่งเข้าซอยทองหล่อ ข้ามโครงสร้างระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวบริเวณสถานีทองหล่อ เพื่อเข้าสู่ซอยสุขุมวิท 38 แล้วเบี่ยงแนวเข้าสู่ซอยสุขุมวิท 40 จนถึงจุดตัดกับถนนพระราม 4 และไปสิ้นสุดเส้นทางที่แยกรัชดา – พระราม 4 บริเวณตลาดคลองเตย

            • พระราม 4 - สะพานพระราม 9 เริ่มต้นเส้นทางที่บริเวณตลาดคลองเตย เลี้ยวเข้าถนนพระราม 3 มุ่งทิศใต้ เชื่อมกับถนนรัชดาภิเษกเลียบแนวทางด่วนเฉลิมมหานคร จนสิ้นสุดแนวเส้นทางที่บริเวณสะพานพระราม 9 โดยตลอดเส้นทาง มี 6 สถานี คือ สถานีแยกรัชดาพระราม 4-คลองเตย-พระราม3-นราธิวาส-สาธุประดิษฐ์-สะพานพระราม9


สายที่ 11 รถไฟฟ้าสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร)


            รถไฟฟ้าสายนี้มีแนวเส้นทางจากเคหะชุมชนดินแดง เข้าสู่ศูนย์คมนาคมมักกะสัน (สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง) ไปยังถนนวิทยุ และถนนสาทร รวมระยะทาง 9.5 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นเส้นทางจากสถานีประชาสงเคราะห์ ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ผ่านเคหะชุมชนดินแดง แยกประชาสงเคราะห์ จุดตัดถนนอโศก-ดินแดง ยกระดับข้ามทางพิเศษศรีรัชบริเวณบึงมักกะสัน ผ่านสถานีมักกะสัน แยกอโศก-เพชรบุรี และเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี ผ่านแยกมิตรสัมพันธ์ ยกระดับข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วนเพชรบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายที่แยกวิทยุ-เพชรบุรีเข้าสู่แนวถนนวิทยุลงมาทางทิศใต้ ผ่านแยกเพลินจิต สถานทูตอเมริกา แยกสารสิน สวนลุมพินี ก่อนข้ามสะพานลอยไทย-เบลเยี่ยม เข้าสู่ถนนสาทร ผ่านแยกถนนสวนพลู ไปสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณแยกสาทร-นราธิวาส

            

           จากผังแนวเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 11 สายข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีเส้นทางครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างทั่วถึง ดังนั้นหากรถไฟฟ้าทั้ง 11 สายนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ทุกเส้นแล้ว คาดว่าจะทำให้การคมนาคมภายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และช่วยผลักดันให้ชุมชนในบริเวณนั้นๆ เจริญ มีการพัฒนาส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระจายความหนาแน่นของผู้คนและการจราจรในใจกลางเมืองให้ลดน้อยลงอีกด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 

https://www.sansiri.com/blog/2016/02/25/propertyinsight/bangkok-mass-transit/

www.mrta-blueline.com/progresses/report_monthly

https://www.thairath.co.th/content/472283

http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?p=137565729

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1349154260&grpid=09&catid=07&subcatid=0700

http://www.railway.co.th/resultproject/images/Siriraj/map1_2.jpg

https://www.bangkokmetro.co.th/web/img title="รวมผังรถไฟฟ้า 11 สาย ที่ควรรู้!"content/Image/route%20future_2.jpg

https://daily.rabbit.co.th/14-ที่เที่ยว-สายสีม่วง

https://www.mrta-greenlinenorth.com








เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์