รูปบทความ หนี้นั้นสำคัญไฉน เป็นหนี้อย่างไรให้กู้คอนโดฉลุย

หนี้นั้นสำคัญไฉน เป็นหนี้อย่างไรให้กู้คอนโดฉลุย

ถ้าเราตรวจสุขภาพร่างกายกันมาตลอดทุกปี แล้วเราเคยสำรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองกันบ้างหรือยัง เริ่มต้นง่ายสุดจากตัวเลขบัญชีเงินฝากกันก่อนเลย ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (10 พ.ค. 2561) ระบุว่า คนไทย 88% มีเงินในบัญชีออมทรัพย์ไม่ถึง 5 หมื่นบาท และมีเพียง 1% เท่านั้น ที่มีเงินฝาก 1 ล้านบาทขึ้นไป 


ขอแสดงความยินดีถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนส่วนน้อยของประเทศนี้ แต่ถ้าคุณคือคนส่วนใหญ่ที่เงินออมไม่มี แถมยังหนี้เพิ่มพูน และยิ่งไปกว่านั้น คุณกำลังวางแผนจะซื้อคอนโดไว้เพื่อการอยู่อาศัยหรือเพื่อการลงทุน ข้อมูลต่อไปนี้จะมีประโยชน์ ที่จะช่วยในการเตรียมพร้อมรับมือและวางแผนปรับโครงสร้างหนี้ของตัวคุณเอง


ก่อนอื่น มาดูกันว่า ธนาคารที่คุณกำลังจะเดินเข้าไปขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น นอกเหนือจากข้อมูลของคอนโดในฝัน เช่น มูลค่าของทรัพย์สิน ชื่อเสียงของผู้ประกอบการ วงเงินกู้ เงินที่คุณสามารถที่จะวางดาวน์ ระยะเวลาการผ่อนและจำนวนเงินผ่อนต่องวดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่สถาบันการเงินจะขอพิจารณาการให้สินเชื่อ ก็คือ “สถานภาพทางการเงินของตัวผู้กู้” นั่นเอง


เช่น อาชีพอะไร หน้าที่การงานมั่นคงแค่ไหน รายได้เท่าไร ขอดูสมุดบัญชีย้อนหลังกันอย่างต่ำ 6 เดือนหรือ 1 ปี ว่าคุณรายได้เข้าสม่ำเสมอหรือผลุบๆโผล่ๆ นอกจากเงินเดือนแล้วมีรายได้ทางอื่น เช่น โบนัส เบี้ยขยัน เงินขายของเป็นรายได้เสริมฯลฯ อีกกี่มากน้อย ทำงานมาตั้งหลายปี มีแนวโน้มว่าจะเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำหรือไม่เคยเหลือติดบัญชีเลยสักเดือน ฯลฯ ซึ่งเราอาจจะเรียกรวมๆทั้งหมดนี้ว่า “สถานะทางการเงิน” ของตัวผู้กู้


พอธนาคารรู้ “เงินเข้า” ของตัวคุณแล้ว ธนาคารก็อยากจะรู้ต่อไปอีกว่า แล้ว “เงินออก” ล่ะ ซึ่งก็ดูได้หลายทาง เช่น ดูความเคลื่อนไหวในบัญชีย้อนหลัง ว่าเงินเดือนออกวันที่ 1 หมดตั้งแต่วันที่ 10 เลยหรือเปล่า เงินรายได้เข้ามาต้องเอาไปจ่ายหนี้ค่าอะไรบ้าง เช่น คุณสมชายรายได้ดีนะแต่ผ่อนบัตรตั้ง 12 ใบ แบบนี้ก็ไม่ไหว หรือบางคนติดหนี้เงินกู้ กยศ. ตั้งแต่สมัยเรียน จนป่านนี้ยังผ่อนไม่หมด ตัวแดงโร่ในเครดิตบูโร ส่วนหลังนี้เราอาจจะเรียกรวมๆได้ว่า “ความสามารถในการชำระหนี้”

ความสามารถในการชำระหนี้โดยเฉลี่ย 40-50% ของรายได้ต่อเดือน


ซึ่งตัวเลขโดยเฉลี่ยแล้ว ธนาคารมักจะให้ผู้กู้ชำระหนี้ไม่เกิน 40 -50 % ของรายได้ต่อเดือน ยกตัวอย่าง เช่น คุณมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท แต่ยอดหนี้ที่ต้องผ่อนต่อเดือน รวมค่างวดบัตรเครดิต ค่าผ่อนตู้เย็น ผ่อนมือถือ และยังบวกค่าผ่อนคอนโดห้องงามๆที่กำลังคิดจะยื่นกู้ ทั้งหมดนี้ต้องรวมกันไม่เกิน 40-50 % X 30,000 คือประมาณ 12,000 – 15,000 บาท ต่อเดือนเท่านั้น


ซึ่งเจ้าความสามารถในการชำระหนี้ ยังถูกประเมินได้จากทางอื่นๆอีกด้วย เช่น การพิจารณาไปถึงเครดิตทางการเงินในอดีตที่ผ่านมา มีการเสียภาษีประจำปีด้วยอัตราที่สอดคล้องกับรายได้ที่คุณนำมาแสดงจริงหรือไม่ เวลาซื้อสินค้าคุณมักขอผ่อนด้วยจำนวนงวดที่สั้นๆหรือยืดเยื้อยาวนานเป็นปีๆ พฤติกรรมการผ่อนก็เช่นกัน เป็นลูกหนี้นิสัยดีผ่อนตรงเวลา หรือชอบผ่อนช้าโดนค่าเบี้ยปรับอยู่เนืองๆ เป็นต้น


พูดมาถึงตรงนี้หลายคนอาจก้มหน้ากดเครื่องคิดเลขอย่างไว และขอแสดงความเสียใจด้วยถ้ายอดหนี้ของคุณเกินลิมิตที่เขาประเมินกันว่า “พอไหว” นั่นแสดงว่าโอกาสในการกู้เงินเพื่อซื้อคอนโดในฝันของคุณมีโอกาสริบหรี่ลงไปอย่างน่าเสียดาย แต่ถ้าคุณเข้าข่ายลูกหนี้ในฝันของคนปล่อยกู้ เรามาลุยกันต่อเลยดีกว่า


ในดีมีเสีย ในเสียมีดี “หนี้” ก็เช่นกัน


เห็นความสำคัญของคำว่า “หนี้” กันแล้วหรือยัง หลายคนอาจจะแอบนึกแย้งอยู่ในใจว่า “คนมีหนี้คือคนมีเครดิต” นั่นก็ใช่ แต่ถูกไม่ทั้งหมด เพราะหนี้นั้นเอาจริงแล้วก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และแนวทางการก่อหนี้ก้อนดังกล่าวด้วย ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นภาษาชาวบ้านฟังเข้าใจง่ายๆ ดังนี้


“หนี้ดี” เอาเป็นว่า อะไรที่เป็นหนี้แล้วทำให้มีเงินเพิ่ม เช่น กู้เงินซื้อคอนโด เอาคอนโดไปปล่อยเช่า ไปทำออฟฟิศ ไว้ทำสต๊อคสินค้าขายออนไลน์ หรือกู้ซื้อมาในราคาต่ำกว่าที่ปล่อยขายไปทำกำไรจากส่วนต่าง หรือกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรขยายโรงงาน กู้ซื้อคอมพิวเตอร์เอามารับงานตัดต่อทำกราฟฟิกเป็นรายได้เสริม คือกู้ซื้ออะไรก็ตามที่ทำรายได้มากกว่าดอกเบี้ยเงินผ่อนจนเรามีเงินเหลือเข้ากระเป๋า ยิ่งถ้าคอนโดที่ซื้อมาผ่านไปสี่ปีมีปรับราคาขึ้น โอ้โห แบบนี้จัดเป็นหนี้ดีที่แท้ทรู


“หนี้เสีย” คือ แทนที่กู้ซื้อรถแล้วจะเอาไปให้เช่าหรือทำรถขายของ กลับเอารถนั้นไปโชว์สาวแต่งซิ่งวิ่งเข้าห้างฯ แบบนี้ไม่มีรายได้แล้วยังมีรายจ่าย ทั้งค่าจดทะเบียน ค่าผ่อนต่อเดือน ค่าประกัน เผลอๆไปเฉี่ยวชนใครเข้าทำเอาจุกเจ็บไม่จบ เรียกว่าเงินไหลออกจากกระเป๋าเหมือนน้ำ เข้าทำนองหนี้เสียแน่นอนไม่ต้องสงสัย

หนี้นั้น จะดีหรือเสีย คุณกำหนดเองได้

ส่วนหนี้ก้อนไหนที่ก้ำกึ่งจนคุณเองเริ่มไม่แน่ใจ ให้ลองพิจารณาจากหลักเกณฑ์ส่วนตัวแบบง่ายๆ คือ หนี้ดีนั้นทำให้มีรายได้เพิ่ม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่กระทบชีวิตความเป็นอยู่จนเกินควร เช่น คุณคิดจะกู้เงินมาเรียนปริญญาโทเพื่อหน้าที่การงานในวันข้างหน้า แบบนี้ควรถูกจัดเป็นหนี้ดี


แต่ความที่ผลจากการกู้มาเรียนต่อนั้น ถ้าสามารถสร้างรายได้เพิ่มแค่น้อยนิด ในขณะเดียวกันกับที่ทำให้ชีวิตประจำวันอัตคัดฝืดเคืองสุดๆ กินมาม่าหาเงินส่งค่าเทอมทุกวัน แถมยังต้องเสี่ยงลุ้นโดยไม่รู้คำตอบแน่ชัดว่า ที่ทำงานจะขึ้นเงินเดือนให้จริงหรือเปล่า อันนี้มีแนวโน้มว่าหนี้ดี..อาจดีไม่จริง ก็เป็นได้

หนี้ที่ได้ผลดีกลับมามากกว่าที่เสียไป ก็นับว่าเป็นหนี้ดี

หรือการซื้อรถเพื่อซื้อความสะดวกสบายเวลาเดินทางไปทำงาน ก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าอันนี้หนี้เสีย เพราะบวกลบกันเฉพาะกรณีของแต่ละบุคคลย่อมให้ผลต่างกัน เช่น กรณีนายสมชายสายตลอดกาล เดิมทีเคยเพิ่งขนส่งมวลชน 4 ต่อ เสียค่าเดินทางต่อวันมากกว่า 200 บาท แถมยังไปสายจนโดนเจ้านายเพ่งเล็ง แต่การซื้อรถมือสองสภาพดีของนายสมชายทำให้สามารถออกทางลัดหลังบ้าน วิ่งเส้นวงแหวนปรู๊ดเดียวถึงออฟฟิศ หารต้นทุนต่อวันแค่ 40-50 บาท แถมยังเอารถไปขับ Grab แทกซี่ในวันหยุดมีรายได้เพิ่ม แบบนี้ต้องเรียกหนี้ดีอย่างไม่ต้องสงสัย


อยากให้หนี้กลายเป็นเรื่องดีของชีวิต ลองดูเคล็ดลับการจัดการหนี้ได้ที่นี่เลย 7 ข้อควรปฏิบัติ แผนจัดการหนี้ให้กลายเป็นเรื่องดีๆ ในชีวิต



เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์