รูปบทความ กทม. เตรียมปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะทั่วพื้นที่

กทม. เตรียมปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะทั่วพื้นที่ พร้อมชวนภาคเอกชนร่วมพัฒนาห้องน้ำตามมาตรฐาน


(18 มี.ค.62) เวลา 13.00 น. นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2562 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ และมีจำนวนเพียงต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงรองรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกรุงเทพมหานคร โดยมี นายไพโรจน์ สันตนิรันดร์ ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักอนามัย พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ซึ่งเป็นผู้แทนจากกลุ่มเขตกรุงเทพกลาง กรุงเทพใต้ กรุงเทพเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ ผู้แทนจากสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการศึกษา สำนักการโยธา กทม. ผู้แทนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมเอราวัณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)


ที่มา: pexels

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ร่วมกับสำนักงานเขต ทำการสำรวจและตรวจประเมินสุขลักษณะของห้องน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต ตามเกณฑ์มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะของกรุงเทพมหานคร โดยทำการสำรวจห้องน้ำสาธารณะภายในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 37 แห่ง ซึ่งมีทั้งสิ้น 71 จุด พบว่า ผ่านเกณฑ์ฯ จำนวน 53 จุด คิดเป็นร้อยละ 74.65 และไม่ผ่านเกณฑ์ฯ จำนวน 18 จุด คิดเป็นร้อยละ 25.35 ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่พบว่า ไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรค สำหรับเช็ดฝารองนั่ง ฝาชักโครกชำรุด และไม่มีถังขยะ ประกอบกับมีชาวต่างด้าว รวมถึงคนเร่ร่อนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ในส่วนของห้องน้ำสาธารณะในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้ทำการสำรวจ จำนวน 274 แห่ง พบว่า ผ่านเกณฑ์ฯ จำนวน 213 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 77.74 และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 61 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 22.26 โดยพบปัญหาคือ งบประมาณในการบำรุงดูแลรักษาไม่เพียงพอ บางโรงเรียนมีพื้นที่จำกัด และบางโรงเรียนนักเรียนมีพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำที่ไม่ถูกวิธี อีกทั้งในส่วนของห้องน้ำวัด ซึ่งได้ทำการสำรวจ จำนวน 312 แห่ง ปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์ฯ จำนวน 196 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 62.82 ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 116 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 37.18 ซึ่งสภาพปัญหาส่วนใหญ่พบว่า โครงสร้างห้องน้ำมีการออกแบบที่ไม่ถูกต้อง และไม่มีผู้ดูแลประจำ ซึ่งโดยปกติพระภิกษุและสามเณรภายในวัดจะทำหน้าที่ดูแลทำความสะอาดกันเอง และห้องน้ำภายในวัดมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน


ที่มา: pexels

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจห้องน้ำสาธารณะใน 12 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มตลาดสด ร้านอาหาร โรงพยาบาล แหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน สถานศึกษา สถานที่ราชการ สถานีบริการเชื้อเพลิง สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า และกลุ่มห้องน้ำริมทาง พบว่ามีห้องน้ำสาธารณะในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 5,592 แห่ง และได้ทำการตรวจประเมินสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะ จำนวน 3,136 แห่ง ตามเกณฑ์ฯ ผลปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์ฯ จำนวน 2,329 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 74.27 และไม่ผ่านเกณฑ์ฯ จำนวน 807 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 25.73 ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ทำการออกแบบห้องน้ำที่เป็นมาตรฐานให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงในกรุงเทพมหานคร รวมถึงประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาห้องน้ำในสถานที่ของตนเอง และหากหน่วยงานภาคเอกชนมีความประสงค์จะเข้าร่วมพัฒนาห้องน้ำสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านความสะอาด ความเพียงพอ และความปลอดภัย ต่อผู้ใช้บริการมากที่สุด พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาเสนอต่อที่ประชุมในครั้งถัดไป


ที่มา: www.prbangkok.com


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์