รูปบทความ คุยกับ “ป๋าเต็ด” เปิดมุมมองเพื่อเข้าใจ คำว่า “งาน” กว่า 30 ปี บนเส้นทางวงการเพลง

คุยกับ “ป๋าเต็ด” เปิดมุมมองเพื่อเข้าใจ คำว่า “งาน” กว่า 30 ปี บนเส้นทางวงการเพลง

Highlight

  • “ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม” ที่ใครหลายคนรู้จักเขาจากการจัดเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “Big Mountain”
  • เป็นเวลากว่า 30 ปี ในการทำงานด้านวงการเพลง เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่หล่อหลอมจากครอบครัวให้ “ป๋าเต็ด” กลายเป็นคนที่รักในการสื่อสารกับคนหมู่มากเเละกล้าที่จะเเสดงออกเเต่เยาววัย
  • เเละด้วยระยะเวลาหลายสิบปี ที่ได้ทำงานเกี่ยวกับ “สิ่งที่รัก” อย่างเอาจริงเอาจริง ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเเละเบื่อหน่ายจากการทำงาน ทำให้ป๋าเต็ดได้เข้าใจ คำว่า “งาน” ได้อย่างลึกซึ้งผ่านมุมมอง ความคิด เเละประสบการณ์ของตัวเอง 


Ted Yutthana

ในห้องสี่เหลี่ยมขนาดกำลังพอดี ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป เต็มไปด้วยเเผ่นเสียงเพลงที่เรียงรายกันอยู่มากมาย พร้อมเสียงเพลงอันไพเราะกับจังหวะที่สนุกสนานชวนให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปตามทำนองอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งดูอย่างไรก็ไม่เหมือนห้องทำงาน เเต่ว่านี่คือ “ห้องทำงาน” ที่รื่นเริงที่สุดเท่าที่เคยได้เห็นมา ใช่ค่ะ ห้องสี่เหลี่ยมที่ว่ามานี้คือ ห้องทำงานของ “ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม” ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทรับจัดทำอีเวนท์เเละคอนเสิร์ต อย่างบริษัท เเก่น 555 จำกัด


คำทักทายเเรกของป๋าเต็ดพร้อมใบหน้าที่เปื่อนรอยยิ้ม “สวัสดีครับ นั่งก่อน ๆ พักให้หายเหนื่อยก่อน” ไม่ใช่เพราะเดินทางมาไกลเเต่อย่างใด เเต่เพราะต้องเดินขึ้นบันได 4 ชั้น เพื่อมาที่ห้องทำงานของป๋าเต็ด ทำเอาทีมงาน Esto+ พากันหอบเเฮก ๆ กันเลยทีเดียว เมื่อนั่งพักพอให้หายเหนื่อย ทีมงานทุกคนก็เเยกย้ายจัด Setup ต่าง ๆ เพื่อเริ่มการสัมภาษณ์ เพราะอยากรู้จักผู้ชายที่เป็นเจ้าพ่อแห่งวงการเพลงคนนี้มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว...


ป๋าเต็ดเริ่มรู้ตัวตั้งเเต่เมื่อไหร่ว่าชอบทำงานด้านวงการเพลง

ด้วยความที่โตมาในครอบครัวที่อาจจะ สภาพเเวดล้อมมันหล่อหลอมให้เราเหมาะที่จะทำงานกับคนเยอะๆ คือที่บ้าน ทั้งพี่สาว พี่ชาย คุณพ่อ คุณเเม่ ทุกคนเป็นมนุษย์ประเภทที่ไม่กลัวจะเเสดงออกต่อหน้าผู้คนเยอะๆ เป็นบ้านที่ปาร์ตี้กันด้วยการร้องเพลง เล่นกีต้าร์ เป็นบ้านที่เวลาไปงานเเต่งงานญาติๆ ทุกคนจะต้องขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีกันหมด เป็นบ้านที่ที่บ้านทำโรงหนัง คุณพ่อก็นักพากย์หนัง คุณเเม่ขายหนังสือ คือมันพร้อมที่จะอยู่ท่ามกลาง เหมือนโตมาในคณะนิเทศศาสตร์ มีสื่อทุกแขนงอยู่รอบๆ ตัวอยู่ตลอดเวลา


มันก็เลยทำให้มันปลูกฝังนิสัยที่เราไม่กลัวการสื่อสารกับคนหมู่มาก กลับชอบด้วยซ้ำไปตั้งเเต่เด็ก โตมาด้วยความชอบมากที่จะออกไปพูดหน้าชั้นเรียนไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร จะให้เล่าเรื่อง จะให้เล่นละคร จะให้ร้องเพลง คือไม่เคยกลัว ทำได้หมด


จนกระทั่งพอถึงวัยที่จะต้องเข้ามหาวิทยาลัย พี่ๆ ซึ่งเขาเรียนมหาวิทยาลัยมาก่อนเรา เขาก็บอกเราว่าเหมาะกับการที่จะไปเรียนนิเทศศาสตร์ เมื่อก่อนเขาเรียกว่า สื่อสารมวลชน  ดังนั้นถ้าจะตอบคำถามนี้ ก็คือเกือบจะเรียกได้ว่ารู้ตัวมาตั้งเเต่จำความได้ เป็นคนที่ชอบการทำงานที่จะได้สื่อสารกับคนหมู่มากมาตั้งเเต่เด็ก 


Ted Yutthana

เเล้วเริ่มต้นเข้ามาทำงานสายนี้ได้อย่างไร

จริงๆ ตั้งเเต่เเรกเลยก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นด้านดนตรี จริงๆ ตอนแรกอยากทำหนังด้วยซ้ำไป เพียงเเค่ว่าตอนที่ฝึกงาน ตอนเรียนนิเทศถึงปี 3 ก็ได้มาฝึกงานที่ GMM เพราะว่าที่เเกรมมี่มีรุ่นพี่ที่เขาจบนิเทศจุฬาฯ เเล้วเขาก็มาชวนไปฝึกงานกัน แล้วก็งานเเรกที่ได้ไปฝึกงานด้วยเป็นคอนเสิร์ตเเบบเบิร์ดเบิร์ด


พอเราเรียนไม่จบ คือผมโดนรีไทร์ ที่ทำงานเเรกที่นึกถึงก็นึกถึง GMM เพราะเราไม่มีปริญญา ไม่กล้าไปสมัครที่อื่น ก็มาสมัครที่นี่ในที่ที่เราคุ้นเคย มันก็เลยทำให้เริ่มต้นทำงานกับ GMM มาตั้งเเต่ต้น เเละงานหลักของ GMM คือค่ายเพลง ดังนั้นมันก็เลยได้ทำงานในวงการเพลงมาตั้งแต่ต้น


บวกกับตอนนั้นเป็นช่วงที่ GMM เริ่มบริษัท เอ - ไทม์ มีเดีย ซึ่งเป็นรายการวิทยุ เราก็เลยได้ไปทำงานเป็นดีเจในรายการวิทยุด้วย มันก็เลยทำให้เส้นทางที่เริ่มต้นเเวดวงอาชีพของเรามันเริ่มกับวงการเพลงมาโดยตลอด หลังจากนั้นมันก็เติบโตมาในวงการเพลง


“อุปสรรค” เเละ “หัวใจการทำงาน” ด้านวงการเพลงของป๋าเต็ดคืออะไร

ในชีวิตการทำงานของผมมันยาวนานมาก 30 กว่าปี แต่ละงานมันก็จะมีอุปสรรคแตกต่างกันไป เวลาทำงานในเรื่องของการสื่อสารมวลชน หัวใจสำคัญของเราเลยคือเราต้องเข้าใจมวลชน เราต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่เรากำลังทำงานด้วย ดังนั้นอุปสรรคสำคัญมันคือ เมื่อวัยเราเปลี่ยนไป เเต่ว่าเรายังต้องทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น มันจะมีช่วงแรกๆ ที่เราเริ่มทำงานมันจะเข้าใจง่าย เพราะว่าเรายังเป็นวัยรุ่นอยู่ เราเพิ่งอายุ 20 ต้น ๆ เราเข้าใจว่าเราต้องการอะไร พอเราอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราต้องทำงานอยู่กับคนกลุ่มเดิม ถ้าเราไม่ทำตัวเปิดรับเรื่องราวต่าง ๆ เเบบที่กลุ่มเป้าหมายของเราเปิดรับอยู่ มันจะทำให้เราไม่เข้าใจเขา


นี่คือสิ่งเราต้องปรับตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เราไม่ได้ทำเพื่อให้เราสนุกเอง เราทำเพื่อให้มวลชนเขาสนุกเเละเกิดความเข้าใจ ซึ่งการไม่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วย เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้มันล้มเหลว 


Ted Yutthana

ทริคเล็ก ๆ ที่คอยหล่อเลี้ยง Passion ในการทำงานด้านเดิม ๆ ตลอด 30 ปี

จริงๆ ดูห้องทำงานของผมก็ได้ คือพยายามทำให้เหมือนห้องทำงานน้อยที่สุด เราพยายามสนุกกับการทำงาน คือ ผมชอบฟังเพลง ที่ทำงานผมก็จะมีอุปกรณ์การฟังเพลงเป็นหัวใจสำคัญ แล้วทุกครั้งที่นั่งลงที่ห้องทำงาน ก็จะเปิดเพลงฟัง พยายามสร้างบรรยากาศที่ทำให้ไม่รู้สึกว่าเราอยู่ที่ทำงาน


คือความโชคดีอย่างหนึ่งของผมคือ ผมเป็นคนชอบฟังเพลง ชอบดูหนัง ชอบอ่านหนังสือ แล้วผมได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมชอบ คือมองมุมหนึ่งก็อาจมองว่าเป็นเรื่องของความโชคดี แต่มองอีกมุมหนึ่ง ถ้ามองมุมเเบบอาจจะพูดเข้าข้างตัวเองหน่อยก็คือ เราก็จงเลือกงานที่เราชอบ มันอาจจะฟังดูเเบบ ก็เลือกแล้วพี่ เเต่เขาไม่รับ คือผมอยากเป็นพี่ตูน บอดี้สเเลม เเต่ผมก็ไม่ได้เป็น


ซึ่งนั้นผมก็เข้าใจนะ แต่ว่าบางที่มันต้องอย่างนี้ คำว่างานที่เราชอบ ต้องเเยกจากคนที่เราชอบ คือเราชอบพี่ตูน บอดี้สแลม มันแปลว่าอะไร ทำให้เราชอบพี่ตูน บอดี้สแลม เราชอบเเนวคิดของเขา เราชอบฟังเพลงของเขา หรือว่าเราชอบวิธีคิดของเขา หรือเรามีความสุขที่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับดนตรี ต้องเเยกมันออกมา มันมีงานอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับดนตรี อย่างผม ชอบฟังเพลง ผมก็ไม่เคยเป็นนักร้อง ผมก็ไม่เคยมีวงดนตรีที่จะต้องเเบบประกอบอาชีพเป็นวงดนตรี


นี่คือหัวใจของมัน ลองคิดให้ดีว่าเราชอบอะไร เเล้วเราทำอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งที่เราชอบได้ ถ้าเรามองมันอย่างเข้าใจ เเล้วเราได้อยู่ในจุดนั้น ที่เหลือมันจะตามมาเองเลย มันจะกลายเป็นความรู้สึกที่ทุกเช้าลุกขึ้นจากเตียงเเล้วอยากไปทำงาน ความรู้เเบบนี้มันจะเกิดขึ้นกับการที่เราวางตัวเราไว้ในที่ที่มันเหมาะสมกับเราที่สุด เเล้วก็มุ่งมั่นทำมันให้ดีที่สุด


Ted Yutthana

เเต่ก็มีหลายคนที่บอกว่า “ผมก็ทำอาชีพที่ชอบเเล้วพี่ เเต่มันก็ยังเหนื่อยอยู่ดี”

อย่างแรกเลย มันต้องเหนื่อยเเน่ๆ มันเป็นงาน ไม่มีงานไหนหรอกที่มันสะดวก สบาย ทุกอย่างมันไม่มีภาระ ไม่มีหน้าที่ ไม่มีความรับผิดชอบ มันไม่มี งานแบบนั้นมันไม่มีอยู่จริง รับรองได้ คนที่ประสบความสำเร็จมากๆ ไม่ว่าจะ เเจ็คหม่า สตีฟ จอบส์ บิล เกตส์ หรือใครก็ตาม อีลอน มัสก์ คุณไปอ่านประวัติเขาได้เลย ทุกคนเหนื่อยมากทั้งนั้นกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้


คือบางที่เรามองจากมุม โอ้โห เนี่ย พอทำงานไปเรื่อยๆ เเล้วได้เป็นผู้บริหารระดับสูง มีเงินเดือนเยอะขึ้น มีโบนัสเยอะขึ้น มันคงต้องสบาย จริงๆ เเล้วมันไม่ใช่ การที่เขาจะได้เงินเดือนเยอะขนาดนั้น ได้โบนัสสูงขนาดนั้น แปลว่าเขาต้องรับผิดชอบเยอะมาก เขาถึงจะได้ไปอยู่ในจุดนั้น แล้วคนที่จะได้รับการมอบหมายให้รับผิดชอบอะไรที่มันเยอะขนาดนั้น เเปลว่าเขาต้องพิสูจน์ตัวเอง มันเป็นเรื่องง่ายๆ เเบบ Common Sense เลย


ก่อนอื่นข้อแรก เปลี่ยน Mindset งานไม่ใช่เรื่องความสบาย อย่างที่สองคือ อย่ามองปัญหาเป็นอุปสรรค ปัญหามันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ถ้าเราถอดเรื่องที่มันซับซ้อนออกมาทั้งหมด งานทุกงานมันว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหาหมด มันไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นปัญหาคือเรื่องปกติ ถ้าวันไหนคุณไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย แปลว่าคุณไม่ได้ทำงานอะไรอยู่ หรือไม่คุณก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็ได้


แม้กระทั่งการทำก๋วยเตี๋ยว ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนอยากจ่ายเงินให้ก๋วยเตี๋ยวชามนี้ แล้วก็มากินบ่อยๆ ดังนั้นเเค่ 2 ข้อนี้

  • จงเปลี่ยน Mindset งานไม่ใช่เรื่องสบาย ต้องลำบากเเน่ๆ อยู่เเล้ว เเละยิ่งลำบาก เเล้วเราสามารถเอามันอยู่ แปลว่าเราก็จะประสบความสำเร็จ
  • ปัญหาไม่ใช่อุปสรรค ปัญหาคือส่วนหนึ่งของงาน แล้วในชีวิตของเรา เรามีหน้าที่แก้ปัญหา


เเบ่งความซับซ้อนของเรื่องต่าง ๆ ให้มันออกมาเป็นปัญหาข้อ ๆ แล้วแก้มันที่ละข้อ เเละนั่นคืองานของเรา 


Ted Yutthana

ในฐานะที่เป็นเจ้านายเเละเคยเป็นลูกน้องมาก่อน ป๋าเต็ดมีความคิดเห็นอย่างไร

คือพอเราทำงานด้านนี้มาโดยตลอด เเล้วนิสัยของเราเป็นเรื่องของการที่ชอบอยู่ท่ามกลางความหลากหลาย ดังนั้นมันสามารถ Adapt ใช้กับการเป็นผู้ปกครองในองค์กร ถึงเเม้องค์กรผมจะเล็กมาก มีพนักงานอยู่เเค่หลัก 10 เท่านั้นเอง แต่ว่าเราต้องเข้าใจเขา เพราะว่าอย่างเเรกเลยก็คือ เติบโตมาจากตำแหน่งที่เล็กที่สุดในบริษัท เราก็เริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กฝึกงาน เราก็เริ่มต้นด้วยการทำงานที่ความรับผิดชอบไม่ได้สูงนัก ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นไป ดังนั้นเราต้องพยายามทบทวนความทรงจำ วันแรกที่เราเป็นเด็กฝึกงาน เรามองไปรอบๆ ตัวเเล้วเราต้องการอะไร เราขาดอะไร พอถึงวันหนึ่งเราเริ่มมีความรับผิดชอบมากขึ้น เป็นพนักงานจริงๆ เราต้องการอะไร เราขาดอะไร เราต้องการความช่วยเหลือจากบริษัทอย่างไร เราต้องการการสนับสนุนอย่างไร


คือเรื่องเเบบนี้มันทำให้เรา จริงๆ ทั้งหมดทั้งปวงมันกลับมาที่คำว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา มันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย คือมันเป็นคำสอนที่เราได้ยินกันมาตั้งเเต่เด็ก แล้วเราก็รู้สึกว่า บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นคำที่กลาง ๆ มาก มันพูดก็ง่าย แต่จริง ๆ เเล้วมันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา นั่นคือหัวใจสำคัญในการที่เราใช้ปกครองลูกน้อง ดูแลลูกน้อง หรือแม้กระทั่งปฏิบัติตัวต่อลูกพี่ของเรา หรือลูกค้าของเรา มันคือเรื่องเดียวกันหมดเลย



ทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่เราทำ ผลลัพธ์ย่อมดีเสมอ



รู้สึกอย่างไรเมื่อเอ่ยชื่อ “ป้าเต็ด” เเล้วต้องนึกถึง “เทศกาลดนตรี”

ก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องดี เเปลว่าสิ่งที่เราทำมันมีความชัดเจนจนทำให้คนนึกถึง เเต่เรื่องไม่ดีก็มีนะ ผมก็โดนด่าเยอะ ทุกครั้งเวลาจัดเทศกาลดนตรี เเต่ผมว่านี่มันคือตัวอย่างของการที่เราเอาจริงเอาจังกับการทำอะไร จนคนเห็นว่าเราทำสิ่งนั้นอยู่ จริงๆ


คือผมเคยเป็นดีเจยุคหนึ่งทุกคนก็จะจดจำผมได้ อย่าง 10 ปีเเรก ผมทำรายการชื่อว่า เปิดอัลบั้ม ก็คือเอาศิลปินเขาจะวางเเผงอัลบั้มใหม่พรุ่งนี้มาสัมภาษณ์กับผมก่อน ฟังทุกเพลง เหมือนกับเป็นการให้คนตัดสินใจก่อนที่พรุ่งนี้ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ช่วงนั้นผู้คนก็จะจดจำผมในฐานะที่ว่าศิลปินคนไหนจะออกเทปต้องมาคุยกับผม


ต่อมามาทำ Fat Radio คนก็จะจดจำผมในฐานะคนที่เอาเรื่องของวงการเพลงอินดี้มานำเสนอจนเเพร่หลาย จนคนเเทบมองไม่ออกว่าอะไรอินดี้ไม่อินดี้ หรือตอนที่มาทำเทศกาลดนตรีอย่างจริงจัง เเต่ตั้ง Fat Fest มาจนถึง Big Mountain มันก็ทำให้ภาพของการเป็นนักจัดเทศกาลดนตรีมันชัด ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงจะเห็นได้ว่ามันยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องที่ผมชอบหมดเลย เเต่มันไม่จำเป็นจะต้องทำอยู่อย่างเดียว ผมชอบเรื่องของการสื่อสารกับคนหมู่มาก มองย้อนกลับไป งานของผมมันคือการสื่อสารกับคนหมู่มากมาโดยตลอด


ดังนั้นเวลาที่เราทำในสิ่งที่เราชอบ ทำในสิ่งที่เรารัก เรารักในสิ่งที่เราทำ มันส่งผลดีเเน่ ๆ คือมันทำให้เรามุ่งมั่น มันทำให้เราเอาจริง มันทำให้เราพัฒนาปรับปรุงให้มันดีขึ้น โดยไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาระหน้าที่ ไม่รู้สึกว่ามันเหนื่อย ทั้งที่ความจริงมันเหนื่อย และนี่มันก็ทำให้ผู้คนจดจำเราในฐานะของคนที่ทำเรื่องเหล่านี้ 


Ted Yutthana


เเล้วมีเทคนิคอย่างไรบ้าง ที่ทำให้ทำงานอย่างมีความสุขเเละผลงานก็ออกมาดีด้วย

เมื่อเราได้เลือกทำในสิ่งที่เราชอบ ความรู้สึกเหนื่อย ความรู้สึกมันเเย่จังเลย ต้องตื่นเช้า ต้องอดหลับอดนอน อะไรเเบบนี้ มันจะรู้สึกว่ามันคุ้มค่า เพราะว่ามันได้ทำในสิ่งที่เราทำเเละทำในสิ่งที่เราชอบ เเละเมื่อเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบเเล้วเนี่ย เราจะอยากทำให้มันดีขึ้น เราจะอยากทำให้มันเก่งขึ้น เราจะอยากพัฒนามันโดยอัตโนมัติ เพราะว่าเราอยากอยู่กับมันเยอะๆ เราไม่อยากหนีไปจากสิ่งที่เราทำอยู่นี้


เเล้วพอเราชอบ โอกาสที่มันจะทำได้ดีมันก็สูงขึ้นอีก เพราะว่ามันไม่ทำให้เราเหน็ดเหนื่อยที่จะฝึกฝน พัฒนาปรับปรุงให้มันดีขึ้น มันก็เเปลว่าเราก็จะเก่งขึ้น! ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ฟังดูเเล้วเหมือนพูดมันง่าย แต่พอทำมันยาก แต่จริงๆ เเล้วมันไม่ยาก


คือที่สำคัญที่สุดอันหนึ่ง ที่มันทำให้คนไขว้เขว มันคือบางคนไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะกลัวว่ามันจะไม่เท่ บางคนเข้าใจไปว่าสิ่งที่ตนเองชอบไม่เห็นจะเท่เลย เเต่ว่าเดี๋ยวนี้บรรยากาศเเบบนี้มันเปลี่ยนไป เเต่ก่อนจะมีเเบบอาชีพยอดฮิต 10 อันดับเเรก ทุกคนก็อยากจะเป็นประมาณนี้ เดี๋ยวนี้ความรู้สึกแบบนั้นมันน้อยลง เพราะว่าคนให้คุณค่ากับสิ่งที่ตัวเองชอบ ไม่ว่ามันจะคืออะไรก็ตามมากยิ่งขึ้น


เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่ามันเท่ตรงไหนวะ เป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวมันเท่ตรงไหนวะ ? เดี๋ยวนี้คุณก็เห็นว่ามันมีร้านก๋วยเตี๋ยวมากมาย ที่เมื่อเขาทุ่มเทเเละอาจริงเอาจริงกับมัน ด้วยความรักในสิ่งนั้น มันกลายเป็นความเท่ได้


เเล้วคุณมีตัวอย่างให้เห็นมากในยุคปัจจุบันนี้ AfterYou เริ่มต้นด้วยการทำขนม โพสต์ใน Social Media เเล้วทุกวันนี้คืออะไร เพราะนั้นคือเขาทำในสิ่งที่เขารัก ซึ่งมันดูเหมือนไม่เห็นจะเท่ตรงไหนเลย ทุกคนไม่จะเป็นต้องเป็นพี่ตูน บอดี้สแลม ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นณเดช ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นสตีฟ จอบส์ ก็ได้ เป็นตัวคุณ Version ที่ดีที่สุด เเล้วมันก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จได้


ผมโชคดีที่ผมได้ทำงานในสิ่งที่ผมรักมาโดยตลอด แต่ว่าผมก็จะไม่ยกให้เป็นเรื่องโชคอย่างเดียว เพราะผมก็ถือว่าผมก็ทำเต็มที่ และผมพยายามทำให้มันดีที่สุด คือเราถือว่าเมื่อเราโชคดี เราได้รับสิ่งนี้ คือเราได้นั่งทำงานอยู่ท่ามกลางสิงที่เรารัก ก็จงใช้โอกาสนี้ให้มันดีที่สุด มันไม่ได้ทุกคนที่ได้โอกาสเเบบนี้ ถึงเเม้ผมจะพยายามพูดมองโลกในเเง่ดียังไงตามที ผมก็เข้าใจมันมีหลายคนที่บางที โอโห้ เขาไม่มีโอกาสจะเลือกเลยจริงๆ ซึ่งอันนี้ผมก็เข้าใจ เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ตาม ผมก็ถือว่าผมได้รับโอกาสอันนี้เเล้ว ผมก็จะใช้โอกาสมันนี้ให่มันคุ้มค่าที่สุด


ดังนั้นทุกคนก็จงจดจำไว้ว่า บางที่โอกาสที่มันเข้ามาหาเรา มันไม่รู้จะเข้ามาเมื่อไร คือเเน่นอนเราก็ต้องพยายามฉกฉวยโอกาสทุกอย่าง เราต้องพยายามสร้างโอกาสให้กับตัวเองให้มากที่สุด การสร้างโอกาสให้กับตัวเองคือ การพัฒนาตัวเองให้พร้อมเสมอ เมื่อเจอโอกาสเเล้วจะได้คว้าเอาไว้ให้เเม่นยำที่สุด เหมือนกับเราออกไปตกปลา ถ้าเราไม่มีเหยื่อที่ดี ถ้าเราไม่เตรียมการฝึกฝนตกปลาเก่งๆ มันจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ศึกษาหาความรู้ว่าปลาชุกชุมมันดูยังไง มันต้องลงเรือไปอยู่ตรงจุดไหน มันก็จะไม่เจอปลา คุณนั่งอยู่กับที่ รอให้อยู่เฉย ๆ เเล้วบ่นว่าฉันไม่มีโอกาสเลย ฉันไม่เห็นมีปลาเลย คุณต้องไปดูคนที่เขาตกปลาเก่ง ๆ เขาไม่ได้นั่งอยู่กับที่ เขาไม่ได้ใช้อะไรก็ได้ เขามีข้อมูลมากมาย เขาฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ เขาถึงได้ตกปลาเก่ง 


Ted Yutthana

สุดท้ายป๋าเต็ดปรับสมดุลความสุขเเละสร้างบาลานซ์ในชีวิตอย่างไร

ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ค่อย Balance พอเกิดเหตุเมื่อปีกว่า ๆ ที่ผ่านมานี้ ที่ผมหัวใจวายเกือบตาย มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เฮ้ย! การ Balance มันสำคัญมาก เเล้วมันไม่ได้ทำให้เราทำงานได้น้อยลงหรือว่ามีเวลาให้งานน้อยลงเลย เพียงเเค่ว่าเเต่ก่อนเราไม่ได้เเบ่งเวลาเท่านั้นเอง


อย่างวันนี้ก่อนที่จะมาสัมภาษณ์ผมก็ไปออกกำลังกายมาก่อน เเล้วจริง ๆ มันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการตื่นเช้ามากกว่าปกติวันละ 2 ชั่วโมง เเล้วคุณเอา 2 ชั่วโมงนั้นไปออกกำลังกาย คุณก็มีเวลาที่เหลือเท่าเดิมทุกประการเลย เเล้ว 2 ชั่วโมงนั้นมาจากไหน มันก็มาจากปกติคุณนอนมากไปไง ปกติคุณนอนตื่นสายเกินไปเท่านั้น จากเดิมเคยตื่นนอน 10 โมง ผมก็เปลี่ยนมาตื่น 7 โมงครึ่ง มันไม่ได้ทำให้ง่วงจนทำงานไม่ไหวเเล้ว มันเป็นเรื่องปกติ ตอนที่เราเรียนเราก็ตื่นเช้ากว่านี้อีก เพียงเเต่พอเราทำงานเเล้วเราจะรู้สึกเราควบคุมตัวเองได้ เหมือนเราเลือกเองได้เราจะตื่นกี่โมงก็ได้ เราก็เลยเหลวไหลเท่านั้นเอง


เพราะฉะนั้นใน 2 ชั่วโมงที่มันเพิ่มมา ก็เอาไปออกกำลังกาย ที่เหลือเวลาทำงานก็บริหารการทำงานให้มันมีประสิทธิภาพ ประชุมให้มันกระชับ ให้มันเข้าประเด็น มันก็ไม่ต้องไปเสียเวลาในห้องประชุมเยอะ อะไรที่มอบหมายให้ลูกน้องทำได้ก็ให้ลูกน้องทำ เราทำเราตัดสินใจเราให้เวลากับเรื่องที่ัมันสำคัญ ๆ พอเป็นเเบบนี้ปั๊บ ผมก็มีเวลาที่จะกลับบ้านเร็วขึ้น ก็ไปอยู่กับครอบครัว


ดังนั้นมันคือเรื่องแบบนี้เลย Big Mountain 3 ปีที่ผ่านมา วันงานผมเเทบไม่ทำอะไรเลย ผมเดินไปเดินมา เเต่ว่าทั้งหมดทั้งปวงมันเกิดจากการที่เรามอบหมายให้ลูกน้องเราพัฒนา ให้ลูกน้องเราเก่งขึ้น เเล้วก็ให้โอกาสในการที่เขาจะตัดสินใจเอง ให้โอกาสที่เขาจะลองผิดลองถูก มันก็ส่งผลให้เราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง เเล้วจริงๆ เราไม่ต้องเหนื่อยขนาดนั้น 


Ted Yutthana

ในระยะเวลาที่นั่งสนทนากันเพียงสั้น ๆ เเต่กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สร้างเเรงบันดาลใจในมุมของการทำงาน ซึ่งถ้าหากว่าไปเเล้ว เนื้อหา Mastermind ในบทความนี้ เหมาะสำหรับกลุ่มวัยทำงาน โดยเฉพาะนักศึกษาที่กำลังจบใหม่เป็นอย่างมาก เเละหวังว่าข้อคิดดี ๆ จากคอนเทนท์นี้จะเป็นประโยชน์เเละสร้างเเรงบันดาลให้กับทุกคนที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่ายกับการทำงานที่ทำ หรือนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังมองหาตำเเหน่งงาน จะทำให้คุณได้เข้าใจคำว่า “งาน” มากยิ่งขึ้น พร้อมกับได้ทำงานอยู่ท่ามกลางสิ่งที่ชอบ เหมือนที่ “ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม” ได้พูดไว้ เเล้วคุณจะมีความสุข “เป็นความรู้สึกที่ทุกเช้าลุกขึ้นจากเตียงเเล้วอยากไปทำงาน มันจะเกิดขึ้น เมื่อเราวางตัวเราไว้ในที่ที่เหมาะสมกับเราที่สุด”



ชมคลิปสัมภาษณ์  :  https://bit.ly/2L9TiW5 



เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์