รูปบทความ ชอปกระจาย อย่าลืมระวังภาษีออนไลน์

ชอปกระจาย อย่าลืมระวังภาษีออนไลน์

การซื้อของออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก หลายคนหันไปทำธุรกิจออนไลน์มากขึ้น เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ทั้งแบบพิเศษและประจำ ดังนั้นจึงต้องยอมรับว่าปัจจุบันธุรกรรมการเงินออนไลน์ ถือได้ว่าเข้ามามีบทบาทในชีวิตเป็นอย่างมาก


เมื่อไม่นานนี้ กฎหมายอีเพย์เมนต์ ได้เริ่มบังคับใช้แล้ว ตามที่ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ประเด็นเกี่ยวกับการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)


มีผล คือ การกำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ e-wallet ต้องรายงานข้อมูลผู้มีบัญชีธุรกรรมเฉพาะให้กรมสรรพากร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 และให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมครั้งแรกต่อกรมสรรพากร ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563


หมายความว่า ใครก็ตามที่รับโอนเงินถึงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็จะถูกส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ไม่ใช่แค่ พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ทุกคนมีสิทธิ์โดนตรวจสอบเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์เงินเดือน บริษัท-ห้างร้านต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่มีรายได้อื่น ๆ ที่ไม่ได้มีการยื่นเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้จะไม่มีการตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีย้อนหลังแต่อย่างใด


ธนาคารจะส่งข้อมูล ผู้มีบัญชีธุรกรรมเฉพาะให้กรมสรรพากร เมื่อไหร่ ?


สถาบันการเงินต่างๆ จะส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรก็ต่อเมื่อ บัญชีธุรกรรมเฉพาะนั้น มียอดฝากหรือรับโอนเงิน รวมกันทุกช่องทางทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม และ Internet Banking ในแต่ละธนาคาร ตามเงื่อนไขดังนี้

  1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี นับเฉพาะจำนวนครั้งที่รับโอนเงิน ถ้าปีนั้นรับโอนถึง 3,000 ครั้ง ก็จะโดนตรวจสอบ ไม่ว่ามูลค่าเงินจะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
  2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาท/ปีขึ้นไป ซึ่งจะต้องต้องเข้าทั้ง 2 เงื่อนไข ทั้งจำนวนครั้งและมูลค่าเงิน


การนับข้อมูลธุรกรรมเฉพาะที่กำหนด จะนับเฉพาะการฝากหรือรับโอนเงิน เท่านั้น ไม่รวมการโอนออกหรือถอนออก จะทำเป็นแบบรายปี คือ ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม ของปีนั้น ๆ โดยข้อมูลที่ส่งจะแยกเป็นรายสถาบันการเงิน ไม่นับบัญชีต่างธนาคารกัน


แล้วธนาคารจะส่งข้อมูลอะไรให้กรมสรรพากรบ้าง ?


หากพบบัญชีธุรกรรมเฉพาะที่เป็นไปตามเงื่อนไข ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องรายงานไปยังกรมสรรพากร ซึ่งถ้าเจ้าของบัญชียังเสียภาษีไม่ถูกต้อง ก็มีหน้าที่ต้องมาเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยข้อมูลที่ธนาคารต้องส่งให้สรรมพากร ก็จะมี ชื่อ-สกุลเจ้าของบัญชี เลขประจำตัวประชาชน เลขที่บัญชีเงินฝาก จำนวนครั้งของการฝากหรือโอนรับเงิน ยอดรวมของการฝากหรือโอนรับเงิน


หากธนาคาร หรือผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ไม่รายงาน กรมสรรพากรจะลงโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน จนกว่าจะแก้ไขและปฏิบัติให้ถูกต้อง


แล้วเราเตรียมตัวยังไงบ้างกับ กฎหมายอีเพย์เมนต์


เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว หลายคนอาจกังวลว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลมากไป เพราะนี่เป็นเพียงการให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลบัญชีธุรกรรมเฉพาะ เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบเท่านั้น และการเสียภาษีก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีรายได้ทุกคนอยู่แล้ว ซึ่ง กฎหมายอีเพย์เมนต์ เป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐจะใช้ในการตรวจสอบข้อมูล ให้ผู้ที่อยู่นอกระบบภาษี เข้ามาเสียภาษีแบบถูกต้องมากขึ้น


ดังนั้นผู้ที่ที่ยื่นภาษีอย่างถูกต้อง รับรองว่าไม่มีปัญหาตามมาแน่นอน แค่ต้องเสียภาษีประจำปีตามเดิมเท่านั้น


ทั้งนี้จากการบังคับใช้กฎหมายอีเพย์เมนต์ จะทำให้ร้านขายของออนไลน์ หรือผู้ทำธุรกรรมการเงินเป็นประจำต้องระมัดระวังมากขึ้น เก็บหลักฐาน เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน จะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เพราะต้องใช้ในเวลาที่จะยื่นตรวจสอบภาษี


หรือถ้าเป็นกรณีมีการรับโอนเงินเกินกำหนดเงื่อนไข แต่การโอนนั้นไม่ใช่รายได้ หรือการซื้อ ขาย เช่น เป็นเพียงการโอนเงินค่าใช่จ่ายต่างๆ ภายในครอบครัว หากมีการเรียกตรวจสอบ เราก็เพียง แสดงหลักฐาน และแจ้งไปตามข้อเท็จจริง เท่านั้น


ส่วนใครที่ยังไม่เคยเริ่มเสียภาษี ก็ต้องลองเริ่มศึกษาข้อมูลต่างไว้ได้แล้ว ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับภาษีให้ดีๆ และหัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ หรือใครที่จะทำธุรกิจก็จะต้องรู้ว่าประเภทธุรกิจที่ทำมีภาษีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่ หากเพิ่งเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ก็คอยเก็บเอกสารไว้ แล้วรวบรวมไปขอคำปรึกษาการทำบัญชีและเสียภาษีกับสำนักงานบัญชี ..


บทความที่เกี่ยวข้อง

เห็นชอบแล้ว! เตรียมใช้ภาษีลาภลอย หวั่นกระทบราคาคอนโด

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คนซื้อคอนโดควรรู้

พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ เสีย หรือเสมอตัว

ค่าลดหย่อนภาษี 2562 สูงสุด 60,000 บาท!! สิทธิพึงมีที่ใครก็ขอได้ พร้อมแบบฟอร์มดาวน์โหลด


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์