รูปบทความ ตลิ่งชัน-ศิริราช เชื่อม 3 ศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์ของ ม.มหิดล

ESTOPOLIS | ตลิ่งชัน-ศิริราช เชื่อม 3 ศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์ของ ม.มหิดล

ต้นปีที่ผ่านมากลายเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้งกับโครงการ รถไฟสายสีแดงช่วง ตลิ่งชัน - ศิริราช ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้กลับไปทบทวนวงเงิน และความจำเป็นในการจัดซื้อขบวนรถ ซึ่งเป็นเส้นทางสายรอง และป้อนผู้โดยสาร (Feeder) โดยทาง ร.ฟ.ท. ให้เหตุผลว่าเส้นทางสายหลัก ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา ไม่มีการจัดซื้อขบวนรถใหม่ เพราะมีการใช้ขบวนร่วมกันกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ทาง ร.ฟ.ท. ขอเวลาจัดทำรายละเอียดประมาณการจำนวนผู้โดยสาร ความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร แนวทางการบริหารเดินรถเชื่อมโยงทั้งโครงข่าย และผลกระทบต่อสถานะการเงินของ ร.ฟ.ท. ในอนาคตก่อน

หลายคนอาจจะสงสัยทำไม ร.ฟ.ท. ต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เส้นทางรถไฟฟ้าช่วงนี้มีความสำคัญอย่างไร มีอะไรน่าสนใจ บทความนี้ของ Estopolis ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจของเมกะโปรเจ็กต์ รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช เชื่อมโยงศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของมหาวิทยาลัยมหิดล มานำเสนอให้คุณๆ ได้ดูได้ชม


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาจราจร


ที่มา: http://www.manager.co.th


เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระราชกระแสให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม กองทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาจราจรรอบโรงพยาบาลศิริราช โดยใช้ที่ดินของโรงพยาบาลศิริราช การรถไฟแห่งประเทศไทย และกองทัพเรือ โดยให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินงานสำรวจ และออกแบบโครงการก่อสร้าง พระองค์ได้พระราชทานแนวทางเพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการเดินทาง และสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น จนนำมาสู่โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เชื่อมโยงศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์ทั้ง 3 แห่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา


ศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์

ที่มา: http://med.mahidol.ac.th


ศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์ทั้งสามแห่ง ดำเนินการเชื่อมโยงด้วยเส้นทางรถไฟฟ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน หรือผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี รวมทั้งนิสิต นักศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และทำเวลาได้ตามนัดหมาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564 หากโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยให้รัฐประหยัดพลังงานได้อย่างมาก และผลพลอยได้ประการสำคัญคือช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการเดินทาง และการสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น ถือได้ว่าทาง ร.ฟ.ท. ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มาดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติอย่างแท้จริง


ที่มา: http://th.wikipedia.org


ล่าสุดทาง ร.ฟ.ท. ได้สรุปข้อมูลนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (บอร์ด) หรือ สศช. เพื่อขออนุมัติโครงการเปิดประมูลก่อสร้างภายในปี 2561 และได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาพร้อมที่จะจัดทำข้อเสนอโครงการ (TOR) เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วจะเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ 2561 อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท. ได้เสนอจัดซื้อขบวนรถในส่วนของสายสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช – ตลิ่งชัน - ศาลายา เพิ่มเติม ซึ่งลักษณะการเดินรถแบบ Feeder เป็นช่วงที่อยู่ในเขตเมือง มีความถี่การเดินรถ 6-9 นาทีต่อขบวน จึงต้องประมาณการผู้โดยสารที่จะส่งต่อเข้าสู่เส้นทางสายหลัก ให้มีความชัดเจนในการประเมินปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ ร.ฟ.ท. ในอนาคต หรือไม่ อย่างไร


โรงพยาบาลศิริราช ผุดโรงพยาบาล 12 ชั้นบนสถานี



ที่มา: https://www.prachachat.net



เป็นที่น่ายินดีที่ รพ. ศิริราช ได้จัดสรรเงินทุนกว่า 2 พันล้านบาท ก่อสร้างโรงพยาบาล 12 ชั้นบนสถานีรถไฟฟ้า โดยหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม ในการที่จะขอใช้พื้นที่ด้านทิศเหนือของสถานีศิริราช ซึ่งเป็น 1 ในสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนช่วง ตลิ่งชัน - ศิริราช ก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ค่าก่อสร้างประมาณ 1,500 – 2,000 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นการพัฒนากึ่งรูปแบบ TOD (Transit Oriented Development) ใช้ประโยชน์บนพื้นที่สถานีร่วมกัน ทั้งสองหน่วยงานคือ กระทรวงคมนาคม และโรงพยาบาลศิริราช จึงต้องศึกษาด้านเทคนิค การออกแบบรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ จากนั้นจึงนำเสนอกระทรวงพิจารณาก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป ในทางปฏิบัติทั้งสองหน่วยงานต้องทำงานคู่ขนานกันไป เพื่อเปิดให้บริการได้พร้อมกัน โดยทาง รพ. ศิริราช จะเริ่มก่อสร้างอาคารภายในเดือนพฤษภาคม 2561 ส่วนสถานีรถไฟฟ้าทาง ร.ฟ.ท. จะเริ่มก่อสร้างตามแผนในเดือนมิถุนายน 2561 ทิ้งห่างกันแค่ 1 เดือนเท่านั้น และคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี 6 เดือน จากนั้นจึงจะเปิดให้บริการพร้อมกันในเดือนธันวาคม 2563 ตามแผนปฏิบัติการของกระทรวงคมนาคม โครงการนี้ใช้เงินลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายตลิ่งชัน - ศิริราช ระยะทาง 5.8 กม. วงเงิน 7,469 ล้านบาท


ที่มา: https://th.wikipedia.org/

โรงพยาบาลศิริราช

สถานีธนบุรี - ศิริราช ที่จะก่อสร้างโครงการ โรงพยาบาล 12 ชั้น เป็นสถานียกระดับ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังโรงพยาบาลศิริราช ใกล้กับอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ อยู่ห่างจากสถานีจรัญสนิทวงศ์ประมาณ 1.3 กม. เท่านั้น เมื่อโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการจะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช และพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นย่านวังหลัง ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนบางขุนนนท์ ตลาดน้ำตลิ่งชัน และถนนบรมราชชนนี และคาดว่าในอนาคตเมื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม - บางขุนนนท์) จะทำให้การเดินทางสะดวกสบาย สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยในปีแรกคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 29,400 คนต่อวัน



ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ผู้จัดการออนไลน์ และประชาชาติธุรกิจ

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์