รูปบทความ รวมทริคเพื่อสินเชื่อคอนโด : อยากได้ต้องสร้าง อยากคุ้มต้องวางแผน

รวมทริคเพื่อสินเชื่อคอนโด : อยากได้ต้องสร้าง อยากคุ้มต้องวางแผน


เมื่อถึงช่วงหนึ่งของชีวิต คนส่วนใหญ่มักต้องหาอสังหาริมทรัพย์ดีๆ มาเป็นสินทรัพย์หรือหลักประกันของตัวเอง ไม่ว่าจะเพื่อลงทุนหรือสร้างครอบครัวก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการขอสินเชื่อหรือการยื่นกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่เหล่านี้ ดังนั้นวันนี้เอสโตจึงพาคุณมาทำความรู้จักกับ “สินเชื่อ” ตัวช่วยสำคัญว่ามีกติกาอย่างไรบ้าง


อาชีพอย่างเราขอได้เท่าไร? ปัจจัยสำคัญในการอนุมัติวงเงิน


หากต้องการขอสินเชื่อแล้ว โดยส่วนใหญ่สถาบันจะดูในเรื่องของ “ราคาคอนโดที่จะซื้อ” กับ “รายได้ที่ตัวเองมี” แล้ว ยังมีอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขอสินเชื่อเป็นไปได้ด้วยดีก็คือ การพิจารณาจาก “ลักษณะอาชีพ และความมั่นคงของผู้กู้” ซึ่งโดยปกติสถาบันการเงินมักให้วงเงินกู้ 25 เท่าของรายได้ แต่ในบางกรณีก็ต่างออกไป


ดังเช่นกรณีเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือมนุษย์เงินเดือนบริษัทเอกชนที่มีกิจการมั่นคง มีชื่อเสียง มีประวัติการดำเนินงานที่ชัดเจน ก็อาจได้รับการอนุมัติเงินกู้สูงถึง 30 เท่าของเงินเดือนหรือค่าจ้าง นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มวงเงิน ได้อีกไม่เกิน 15 เท่าของโบนัส และค่าคอมมิชชันเฉลี่ยต่อเดือนอีกด้วย


ส่วนผู้กู้ที่เป็นผู้ประกอบการอิสระที่ประกอบกิจการตรงตามวิชาชีพ หรือคุณวุฒิการศึกษา มีการดำเนินงานมั่นคงเชื่อถือได้ ก็อาจได้รับการอนุมัติเงินกู้สูงถึง 20 เท่าของรายได้เฉลี่ยรายเดือน แต่ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบกิจการรายย่อยที่กิจการไม่มีความมั่นคง และไม่มีการจดทะเบียนการค้าหรือประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ไม่แน่นอน อาจได้รับอนุมัติเงินกู้เพียงประมาณ 15 เท่า ของรายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วเท่านั้น


เพราะกำลังเรายังน้อย ทำอย่างไรจึงขอสินเชื่อได้มากขึ้น


ใครที่รู้ตัวว่ามีกำลังภายในรายได้ไม่มากนัก อาจจะลองใช้วิธีขยายระยะเวลาผ่อนให้นานขึ้น เพื่อให้ค่างวดที่ผ่อนต่อเดือนน้อยลง ธนาคารก็มักจะอนุมัติโดยยึดหลัก อายุของผู้กู้ + ระยะเวลาการกู้ ไม่เกิน 60 ปี หรืออย่างมากไม่เกิน 65 ปี (กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว) แต่ต้องไม่ลืมว่า การกู้สั้น = เสียดอกเบี้ยน้อย + จ่ายเงินงวดสูง ส่วน การกู้ยาว = เสียดอกเบี้ยสูง + จ่ายเงินงวดน้อย


และถ้ารายได้ของคุณคนเดียวไม่น่าจะพอต่อการขอสินเชื่อ ก็อย่าลืมวางแผนสะสมเครดิตให้กับตัวช่วยคนสำคัญไว้ด้วย นั่นคือผู้กู้ร่วมที่โดยมากมักเป็นคนในครอบครัว เช่น สามี ภรรยา พ่อแม่ พี่น้อง หรือบุตร ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่มักจะอนุมัติให้มีผู้กู้ร่วมคนอื่นได้อีกไม่เกิน 1 คน และถ้าผู้กู้ร่วมที่มิใช่คู่สมรสและบุตร จะต้องเป็นผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ที่จำนองด้วย


อย่าคิดว่ากู้ผ่านแล้วจะจบ ข้อควรรู้ในตอนต่อไป


ยิ่งถ้าใครวางแผนจะขอกู้เพิ่มหรือกู้เพื่อการไถ่ถอนหนี้ (Refinance) พูดง่ายๆว่า กู้ใหม่มาใช้โปะหนี้เก่า ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดว่าต้องผ่อนกับธนาคารเดิมมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป ผู้กู้ก็ต้องทำตัวเป็นลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีมาโดยตลอดเสียก่อน เช่น ผ่อนจ่ายตรงเวลาไม่ผิดนัดชำระทุกงวด แถมยังต้องนำหลักฐานมาแสดงต่อผู้ให้กู้อีกด้วย


เห็นหรือยังว่าการวางแผนจะขอสินเชื่อเพื่ออนาคตที่ดีกว่านั้นไม่ยากเลย ขอแค่ต้องหมั่นตรวจสอบและเตรียมพร้อมให้เครดิตของตนเองดูดีอยู่เสมอ เช่น เปิดบัญชีเงินฝากแล้วนำรายได้เข้าประจำให้เห็นยอดทุกเดือน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 เดือน- 1 ปีก่อนยื่นขอสินเชื่อ รวมทั้งเก็บเอกสารสัญญาจ้างของลูกค้าหรือหลักฐานการเสียภาษีประจำปี ฯลฯ ไว้แสดงให้เห็นถึงสถานะทางการเงิน


เปลี่ยนเรื่องยากให้ง่ายขึ้น แค่รู้จักตัวช่วยตรวจสอบ


ถ้าใครอยากตรวจสอบความสามารถในการกู้และการผ่อนชำระก่อนถึงเวลาต้องซื้อบ้านจริงๆ ง่ายที่สุดคือไปติดต่อขอข้อมูลและนำเอกสารไปให้ทางธนาคารช่วยตรวจสอบ หรืออาจจะใช้บริการของเว็บไซด์ที่ทางสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีให้บริการทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้ผู้กู้สามารถประเมินความสามารถของตน และจัดเตรียมสิ่งต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ไว้แต่เนิ่นๆ


อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะมองเห็นลู่ทางอันสดใส ด้วยการวางแผนบังคับตัวเองเก็บออมกับการผ่อนคอนโดสักห้อง แต่ที่แน่ๆคือ อย่าปล่อยให้ตัวเองมีประวัติหนี้ติดตัว เพราะประวัติการชำระหนี้ทั้งหมดนี้ของคุณ จะถูกส่งไปรวบรวมไว้ที่เครดิตบูโร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินหลายๆแห่งตอบปฏิเสธการขอกู้ และทำให้คุณพลาดโอกาสทองเวลาไปเจอคอนโดดีๆราคางามๆได้อย่างน่าเสียดาย


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์