รูปบทความ 'รถ คน เมือง' 3 เรื่องที่กรุงเทพฯ ต้องต้องแก้ แต่จะทำยังไงให้ได้ผล

'รถ คน เมือง' 3 เรื่องที่กรุงเทพฯ ต้องแก้ แต่เราต้องแลกอะไรกับการแก้ปัญหาในครั้งนี้บ้าง

'รถติด' ถือเป็นเรื่องโลกแตกที่เราเสียเวลาให้กับมัน วันๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง (2 ชั่วโมงตอนเช้า และอีก 2 ชั่วโมงตอนเย็น) ยืนยันได้จากจากผลสำรวจจาก INRIX ที่ยกให้กรุงเทพฯ ครองแชมป์เมืองรถติดสุดในเอเชีย และอันดับ 11 ของโลก

ด้วยเหตุนี้ คนเมืองอย่างเราๆ จึงต้องเสียเวลาเฉลี่ยกว่า 64 ชั่วโมง/ปีอยู่บนถนน หรือถ้าคิดให้เป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นอีกนิด ด้วยการมองเป็นจำนวนเวลา 1/2 ของเวลาทำงานต่อวัน หรือต้องจ่ายค่าเสียเวลาเป็นเงินครึ่งหนึ่งของเงินเดือน เรื่องรถติดก็ดูจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนไทยเสียรายได้ต่อปีไปแบบใช่เหตุ


เสียเงินไปฟรีๆ กับปัญหาอมตะที่แก้ไขไม่ได้

ถ้าให้นับย้อนกันตั้งแต่จำความได้ คนเมืองอย่างเราๆ ไม่เคยได้หยุดเผชิญหน้ากับปัญหารถติดเลย แม้ว่าเราจะมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มเติมอย่างรถไฟฟ้าหลากสีแล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนจะไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

แต่จะอ้างว่า เป็นปัญหาอมตะคู่เมืองใหญ่ ก็อาจจะไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะในหลายประเทศสามารถลดทอนปัญหานี้ให้เป็นรูปเป็นร่างได้จริง เช่น ใน London หรือกรุง Stockholm ประเทศสวีเดน มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่ขับผ่านเข้าเมือง หรืออย่างสิงคโปร์เพื่อนบ้านก็เลือกใช้วิธีควบคุมปริมาณรถยนต์ด้วย COE ฯลฯ


แล้วทำไมกรุงเทพฯ ถึงยังคงสภาพความเป็น 'เมืองรถติด' แบบนี้ไว้ได้ไม่มีเปลี่ยน เราไม่มีวิธีที่จะแก้ไขแบบจริงจังเลยอย่างนั้นหรือ?  

ในวันนี้ Estopolis จึงขอเดินทางฝ่ารถติดไปถามหาวิธีแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการชวน อาจารย์ภาวิณี เอี่ยมตระกูล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง สังกัดอยู่สาขาวิชาการผังเมือง มาพูดคุยเพื่อสอบถามว่า ปัญหารถติดนี้จะอยู่คู่กับกรุงเทพไปอีกนานแค่ไหน แล้วจะมีวิธีการใดที่ช่วยทำให้เราฝ่าสถานการณ์นี้ไปได้แบบคล่องตัวบ้าง


จุดเริ่มต้นของปัญหารถติด

อาจารย์ภาวิณี : รถกับถนนมันมาด้วยกัน เมื่อมีถนนทุกคนก็อยากจะเดินทางด้วยความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และเหมาะสมกับสถานะของตัวเอง ดังนั้นการตัดสินใจใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจึงเป็นตัวเลือกต้นๆ ทำให้ปริมาณรถยนต์สะสมในกรุงเทพมหานครก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนทางเลือกในการเดินทางก็มีค่อนข้างจำกัด ระบบขนส่งที่ค่อนข้างดีอยู่เฉพาะในพื้นที่ใจกลางเมืองเท่านั้น ทำให้แหล่งงานกระจุกตัวอยู่แค่ในเมือง


ส่วนแหล่งที่อยู่อาศัยก็ไม่ได้มีอยู่ในเมืองมากขนาดนั้น เลยกลายเป็นว่าคนก็หนีออกมาอยู่นอกเมืองมากขึ้น แต่ก็ต้องเดินทางเข้าไปในเมืองเพื่อไปทำงานมากขึ้นด้วยเหมือนกัน


3 สิ่งที่คนเมืองต้องจ่ายให้กับปัญหานี้

อาจารย์ภาวิณี : 'เวลา' ที่เสียไปกับการเดินทางมันควรจะอยู่ในเวลาที่เหมาะสม เช่น การเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปถึงจุดปลายทางจริง ๆ แล้วไม่ควรจะเกิน 1 ชั่วโมงด้วยซ้ำ เพื่อทำให้แหล่งงาน ที่อยู่อาศัย แล้วก็การเดินทาง มันทำให้เกิดความสมดุลแก่ชีวิต ทีนี้พอทุกคนเดินทางเกิน 1 ชั่วโมง Average ของเวลาในการเดินทางเฉลี่ยมันก็เกิน


แล้วก็พอเราต้องทำหลายธุรกรรม 'ค่าใช้จ่าย' ในการเดินทางหลายๆ ต่อมันอาจจะทำให้ต่อเที่ยวเกิน 100 บาท พอเกิน 100 บาท มันกลายเป็นว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในเรื่องของมูลค่าการเดินทางกับในเรื่องของรายได้มันไม่สมดุล

วันนี้เราจึงเห็นหลาย ๆ กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น พยายามที่จะปรับตัวโดยการไปหา 'ที่อยู่อาศัย' ให้อยู่ใกล้กันกับแหล่งงาน โดยการยอมอาจจะต้องไปซื้อบ้านหลังที่สองก็คือคอนโดมิเนียม หรือแม้แต่ยอมในลักษณะของการที่เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล


แต่พอเป็นการปรับตัวภาคอสังหาก็ปรับตัวตามตลาด เนื่องจากว่าต้นทุนสูงขึ้นก็ขายต่อยูนิตแพงขึ้น งั้นกลายเป็นว่าการที่กำลังจะพยายามปรับสมดุลก็ไม่สมดุล เพราะว่ากลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่ที่ซื้อที่อยู่อาศัยบริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้าก็เป็นกลุ่มคนที่ขับรถยนต์ ดังนั้นมันก็เลยกลายเป็นรูปแบบของปัญหาในแบบใหม่ว่าอสังหาก็เพิ่มขึ้น คนไปอยู่มากขึ้น แต่คนก็ยังขับรถยนต์ไปทำงานเหมือนเดิม


สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งในการแก้ปัญหารถติด

อาจารย์ภาวิณี : วันนี้เราอาจจะต้องมาเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน แล้วก็คิดว่าเครื่องมือทาง 'ด้านผังเมือง' จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถเป็นหนึ่งในคำตอบเพื่อแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะปัญหาการจราจรจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นแค่ปัญหาจราจรอย่างเดียวเท่านั้น มันเกิดจากปัญหาของเมืองด้วย การที่เราอนุญาตให้เกิดความหนาแน่นเพิ่มขึ้นก็แปลว่าคนมาอยู่มากขึ้น แต่การที่คนมาอยู่มากขึ้นมันไม่จำเป็นที่คนทุกคนจะต้องครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคลทุกคน แล้วเราจะทำอย่างไรคนเหล่านั้นถึงจะเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ นั่นก็แปลว่า เมืองก็ต้องรองรับเขาด้วย 


วิธีการจัดการผังเมืองที่จะช่วยแก้ปัญหารถติด

อาจารย์ภาวิณี : เวลาเราคุยในเรื่องของการขยับไปสู่ขนส่งสาธารณะ เราต้องการให้ตั้งแต่เริ่มต้นจากบ้าน โดยไม่ใช้รถ แต่การไม่ได้เอารถมาก็แปลว่า คุณจะต้องเดินเท้าหรือคุณต้องใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้ได้ ถ้าวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กว่าจะเดินไปถึงป้ายรถเมล์ป้ายแรก กว่าจะเดินไปถึงสถานีรถไฟสถานีแรกไกลมาก คำว่าไกลมากก็แปลว่าเปลี่ยนใจทันที เปลี่ยนใจก็กลับไปหารถยนต์เหมือนเดิม 

ดังนั้น วิธีแก้คือภาครัฐต้องช่วยชาวบ้านในการจัดรูปที่ดินเพื่อคืนพื้นที่สาธารณะ คืนสาธารณูปโภคที่จำเป็น โดยเฉพาะโครงข่ายคมนาคม เพื่อให้เกิดสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น เดินในระยะที่เหมาะสม ในการเดินก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือมีภูมิทัศน์ที่ดีมีความปลอดภัย ดังนั้นมันต้องมาทั้งในส่วนของปริมาณ แล้วก็ในเชิงของคุณภาพ เพื่อทำให้การเข้าถึงเปลี่ยนใจคน เปลี่ยนวิธีคิดคนให้เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างแท้จริง


ตัวอย่างภาพโครงการ Good Walk เมืองเดินได้ เมืองเดินดี โครงการที่ช่วยกระตุ้นและทำให้เมืองใช้รถกลายเป็นเมืองเดินเท้าอย่างแท้จริง


ในทุกวันนี้เรามีโครงการอะไรที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้บ้าง

อาจารย์ภาวิณี : ส่วนของภาครัฐมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานเยอะมาก เรามีโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางน้ำที่ประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ แต่ก็เป็นการประสบความสำเร็จที่เราอยากเห็นการพัฒนามากขึ้น


ไม่ว่าจะเป็นวันนี้ที่เราเห็นคลองแสนแสบก็มีผู้โดยสารที่ใช้เรือขนส่งโดยสารจำนวนมาก แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของมลพิษทางน้ำ ปัญหาเรื่องของจุดเชื่อมต่อต่างๆ ปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย

ฉะนั้น ถ้าเราค่อยๆ ยกระดับตรงนี้แล้วก็เกิดภูมิปัญญาเราเชื่อว่า โดยการมีคลองต้นแบบเราสามารถทำตรงนี้ให้เกิด Network ขนาดใหญ่ แล้วเผลอๆ เราสามารถใช้ช่องทางนี้เป็น Feeder ก็คือ เป็นระบบป้อนผู้โดยสารไปยังระบบหลักอื่นๆ ของเมืองได้ ก็จะยิ่งช่วยให้เป็นทางออกและก็ทางเลือกของประชาชน 

ตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จด้านการคมนาคมที่เชื่อมต่อถึงกัน

แล้วในขณะเดียวกันยิ่งทำให้เกิดการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น เกิดการลงทุนภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ ทำให้คุณภาพชีวิตของทุกๆ คนดีขึ้น ตรงนี้มันน่าจะกลับมาทำให้สังคมดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น แล้วท้ายที่สุดเราเชื่อว่าทุกคนปรับตัวไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกขึ้น เมืองก็จะลดมลพิษได้ดีขึ้น แล้วก็คนก็จะเริ่มรู้สึกว่ารถยนต์มีความจำเป็นน้อยลง  สังคมมันก็จะกลับมาเป็นสังคมที่เราคิดว่าการจราจรกรุงเทพไม่ได้สาหัสอย่างที่คิด


ประชาชนมีส่วนร่วมได้หรือไม่

อาจารย์ภาวิณี : ทุกคนมักจะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง แล้วก็โยงความรับผิดชอบไปให้ใคร ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน แล้วก็การให้ข้อมูลที่ตรวจสอบชี้วัดได้ จะสามารถทำให้เราเห็นว่าวันนี้เราอยู่ในเมืองแบบไหน แล้วเราอยากเห็นเมืองของเราเป็นยังไง นั่นแปลว่า เราอยากเห็นชีวิตของเรากับการพัฒนาเมืองกับการเดินทาง กับการเป็นคนกรุงเทพ หรือแม้กับการเป็นคนจังหวัดต่างๆ เป็นอย่างไร วันนี้เรามีหลายกลไกมากๆ ที่สามารถร่วมกันพัฒนาได้ แล้ววันนี้ก็เริ่มเห็นหลายๆ เมืองที่เห็นแววในการประสบความสำเร็จ


ฝากถึงคนกรุงเทพฯ ที่ยังคิดว่า รถติดเป็นเรื่องที่แก้ไม่ได้

อาจารย์ภาวิณี : วันนี้เราต้องมองว่าการพัฒนาเมืองที่ดีมันเป็นการดึงดูดการลงทุนจากทุกที่ เพราะวันนี้พอโลกมันขยับมากขึ้น ถ้าเมืองเราดี หลายๆ คนก็จะมาลงทุนมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะลงไปในพื้นที่มากขึ้น


ดังนั้นก็แปลว่า โอกาสในการพัฒนามันมาพร้อมกับการที่เราก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาด้วย เราก็คงต้องบอกกล่าวว่า ตรงไหนเป็นความต้องการ ในขณะเดียวกันภาครัฐคงต้องให้ว่ามีช่องทางอะไรบ้างที่เราจะคุยกัน เพื่อทำให้ช่องว่างของปัญหานี้มันน้อยลง

เพราะเราเชื่อว่า เมืองของเรามีของดีอยู่เยอะมากนะคะ ถ้าจะมาเสียเพราะการจราจรติดขัดที่แก้ไม่ได้เราก็รู้สึกว่ามันดูเป็นปมที่ถ้าไม่รีบแกะ มันก็จะผูกแน่นขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็กลายเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ที่เราก้าวข้ามไม่ได้ แล้วมันก็จะเป็นตัวทำให้การพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ ชะงักลงไปด้วย แล้วยิ่งอนาคตที่จะก้าวเข้าไปสู่สังคมสูงวัย (aging society) ขนาดอายุน้อยยังเดินทางยาก ถ้ายิ่งแก่ยิ่งเป็นภาระ อันนี้คือจะยิ่งเป็นวิกฤติ ดังนั้น วันนี้ถ้าไม่ช่วยกันแล้วก็น่าจะหมดหวังจริงๆ ก็อาจจะต้องขยับมาช่วยกันมากขึ้น แล้วก็ใช้ทุกช่องทางในการจูนเข้าหากันค่ะ


จะเห็นว่า ปัญหารถติดมีความซับซ้อนมากกว่าเรื่องรถและเรื่องถนน แต่สัมพันธ์ถึงระบบของผังเมือง การวางแผนโครงข่ายการจราจร ลักษณะการเดินทางที่ควรเอื้อให้กับคนเมืองมากกว่าการออกมาตรการให้คนหันมาซื้อรถยนต์คันแรก รวมถึงการยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อสังคมที่ดีกว่า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น Road map สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่จะต้องใช้ความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน

ก็หวังว่า สักวันหนึ่งเราจะได้เห็นภาพของเมืองกรุงเทพฯ หายรถติด แบบไม่เว้นวันหยุดช่วงวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ก็ตาม


บทความที่เกี่ยวข้อง :


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์