รูปบทความ มินิมอลลิส "Minimalist" คืออะไร สมดุลแห่งการใช้ชีวิตหรือภัยเงียบทางเศรษฐกิจ

Minimalist รูปแบบชีวิตเรียบง่าย สมดุลแห่งการใช้ชีวิตหรือภัยเงียบทางเศรษฐกิจ

"Less is more"  คือคำจำกัดความที่ดีที่สุดของความ "Minimal"


Minimal style ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ได้มีที่มาที่แน่ชัดนัก  หลายคนอาจจะมีภาพจำเกี่ยวกับวิถีวิตของชาวญีปุ่น และร้าน Muji แต่ในความเป็นจริงแนวความคิดด้าน "มินิมอล" กระจายอยู่ทั่วโลก และอยู่ในศาสตร์หลายแขนง ตั้งแต่แฟชั่น ไลฟ์สไตล์  สิ่งปลูกสร้าง ไปจนถึงในด้าน IT  โดยคำพูดที่ทรงอิทธิพลที่สุด คงหนีไม่พ้นวลี "Less is more" ของ Ludwig Mies van der Rohe สถาปนิกลูกครึ่งเยอร์มัน-อเมริกัน ที่กลายมาเป็นคาถาสำคัญของการเรียนสถาปัตยกรรมในยุคต่อ ๆ มา 


แนวความคิดด้านมินิมอล ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญีปุ่น โดยถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรม และพัฒนาไปตามยุคสมัย ซึ่งในปัจจุบันภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้นร้าน Muji ที่เน้นขายสินค้าที่ดูเรียบ ๆ สีล้วน ไม่มีป้ายแสดงยี่ห้อ ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาว Minimalist 


ทางฝั่งตะวันตกอย่างอเมริกาเอง ก็มีกระแสของมินิมอลเข้ามาเช่นกัน โดย Joshua และ Ryan ได้ก่อตั้งเวปไซต์ของพวกเขาในปี 2010 (https://www.theminimalists.com/) เพื่อช่วยให้ชาวอเมริกันหลุดพ้นจากกระแสของ "บริโภคนิยม" และให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ 




แยกให้ออกก่อน ระหว่าง มินิมอลที่เป็นแฟชั่น และมินิมอลที่แท้จริง



จริง ๆ แล้ว หลักการของมินิมอลคือการประหยัด การไม่มีของที่ไม่จำเป็นหรือเกินความจำเป็น  ดังนั้นหากเราเจออะไรก็ตามที่โชว์ความมินิมอล แต่เพื่อเน้นการจูงใจให้ซื้อ โดยยึดเรื่องของความสวยงามเป็นหลัก นั่นคือแฟชั่นที่นำรูปแบบของมินิมอลมาเป็นจุดขาย ไม่ใช่หลักการมินิมอลจริง ๆ 


ยกตัวอย่างร้าน Muji สาขาที่ตั้งในไทย นี่คือภาพของกระแสบริโภคนิยมที่มาในรูปแบบของมินิมอล เพราะของที่ขายในร้านมูจิค่อนข้างมีราคาสูง ขัดกับวิถีมินิมอลโดยสิ้นเชิง หากคุณชื่นชอบสินค้าในร้านมูจิคุณอาจจะกำลังชื่นชอบความเรียบง่าย แต่คุณอาจจะไม่ใช่มินิมอลลิส 


มินิมอล คอนโด* ในภาพเป็นการแต่งห้องในสไตล์มินิมอล แต่อาจจะไม่ใช่ลักษณะของ Minimalist เพราะมีเก้าอี้ถึง 8 ตัว  ซึ่งมินิมอลลิสจริง ๆ จะมีเก้าอี้ตามจำนวนสมาชิกในบ้านเท่านั้น (ยกเว้นว่าสมาชิกบ้านนี้จะมีถึง 8 คน)




มุมมองของ Minimalist 

มินิมอลคือการจัดการกับ "ความสำคัญ" 

มินิมอลลิสที่เลือกการใช้ชีวิตในหลักการแบบ Minimal  สิ่งแรกที่พวกเขาต้องทำ คือการทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิต  ในกลุ่มคนที่ยึดหลักมินิมอลแบบแน่วแน่ จะเหลือทิ้งไว้เพียงสิ่งที่สำคัญจริง ๆ เท่านั้น  อย่างในการแต่งบ้านของชาวมินิมอล ของตกแต่งกระจุกกระจิกจะถูกนำออกไป  รูปภาพแห่งความทรงจำจะถูกจัดวางอยู่ในห้องเพียงไม่กี่รูป โดยรูปที่เหลือจะถูกเก็บเป็นดิจิตอลแทน  หลักการแบบมินิมอล จะสอนให้คุณรู้จักแยกแยะว่าอะไรสำคัญ สิ่งใดคือความจำเป็น  


มินิมอลลิส

Minimal  กับ Space 

เมื่อสิ่งของในห้องน้อยลง สิ่งที่ได้กลับมาคือพื้นที่ที่มากขึ้น ห้องเล็ก ๆ จะดูโล่งขึ้น  สุนทรีกับความปลอดโปร่งสบายตาจะมีมากขึ้น เว้นแต่ว่าคุณจะเป็นโรคกลัวที่กว้าง   การตกแต่งห้องในสไตล์มินิมอลเป็นที่นิยมมากในประเทศญีปุ่น โดยโทนสีที่พวกเขาเลือกใช้จะเน้นไปที่สีเอิร์ทโทนเป็นหลัก เช่น สีน้ำตาลโทนต่าง ๆ ของไม้  สีเทาของหิน สีขาว สีเขียว และสีฟ้า 

สาเหตุหนึ่งที่มินิมอลลิส ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญีปุ่น อาจเป็นเพราะค่านิยมเรื่องของการประหยัดที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ใครที่ใช้ของราคาแพงจะถูกมองว่าไม่ดี ใช้เงินไม่เป็น  ที่อยู่อาศัยของชาวญีปุ่นก็มีพื้นที่ไม่มาก หากมีของเยอะ ก็จะจัดให้ลงตัวได้ยาก  ดังนั้นการมีของน้อยชิ้นและมีเฉพาะที่จำเป็นจึงเป็นเรื่องดีกว่า รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ชาวญีปุ่นเองรู้สึกไม่มั่นคง จึงหันมาประหยัดกัน  ชาวญีปุ่นส่วนใหญ่จึงกลายเป็น Minimalist โดยธรรมชาติ 




Minimalistชาวมินิมอลลิสที่จริงจัง จะมีของใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และแทบจะนับชิ้นได้เลย  บางคนสมบัติทั้งหมดที่มีสามารถใส่กระเป๋าเพียงแค่ใบ-2ใบได้ 



Minimalist กับ การประหยัด 

หากมองไปในเรื่องของการตกแต่งคอนโด หรือบ้านเพียงอย่างเดียว จะพบว่าการแต่งห้องสไตล์มินิมอล จะใช้ของน้อยชิ้น และจะมีเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญเท่านั้น  ยิ่งเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่นได้ยิ่งดี  ที่สำคัญเมื่อวางแล้วต้องดูไม่รก มีพื้นที่ว่างเยอะ ๆ  การซื้อของเข้าบ้านแต่ละชิ้นจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ และต้องตัดสินใจนาน  เพราะถ้าหากซื้อเข้ามาแล้วไม่ได้ใช้ ก็จะกลายเป็นสิ่งของที่วางเอาไว้รกหูรกตาขัดกับคอนเซ็ปของมินิมอลได้ 


ในด้านของแฟชั่น ชาวมินิมอลมักจะเลือกการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีเอิร์ธโทน ซึ่งไปในทางเรียบ ๆ ไม่หวือหวา ไม่หลากหลาย แล้วยิ่งกับคนที่เป็น Minimalist อย่างแท้จริงแล้ว จะมีเสื้อผ้าไม่เยอะ และจะเป็นตัวที่ใส่จริง ๆ เท่านั้น  เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นปัญหาด้านการจัดเก็บ  หลายครั้งที่ทีมงาน Estopolis เข้าไปรีวิวคอนโดแล้วพบตู้เสื้อผ้าแบบกระจกใสมองเห็นข้างใน เราจะเข้าใจได้ทันทีว่าตู้เสื้อผ้าแบบนี้เหมาะกับชาวมินิมอลเท่านั้น เพราะถ้าตู้เสื้อผ้าเหล่านี้มีเสื้อผ้าเยอะและหลากหลายเกินไป มันจะดูรกทันที



ทำไมต้องมินิมอล? 

ในทุกวันนี้กระแสบริโภคนิยมไปไกลเกินกว่ากำลังทรัพย์ของประชาชนส่วนใหญ่ สินค้าจำเป็นและไม่จำเป็นต่าง ๆ ถูกผนวกเข้ากับการตลาด และแฟชั่น  การไม่มีของบางอย่างในครอบครองกลายเป็นความแปลกแยก โทรศัพท์มือถือต้องเป็นรุ่นใหม่เสมอแม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานใด ๆ  กลายเป็นว่าเราใช้จ่ายเกินความจำเป็น และสร้างภาระหนี้ขึ้นมา โดยที่หนี้เหล่านั้นเป็นหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดนอกจากความพอใจในชั่วขณะ 


มินิมอล

แล้วทำไม Estopolis จึงสนใจกระแส Minimal ? 

Estopolis เป็นเวปไซต์เกี่ยวกับคอนโด  เรามองว่าแนวความคิดแบบ มินิมอล มีความน่าสนใจมาก ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องการลงทุนหากใช้แนวความคิดนี้ได้ตรงจุด และนี่คือเหตุผลของเรา 


1. คอนโดราคาแพงขึ้น 

การซื้อคอนโด อาจจะไม่ใช่แนวความคิดของมินิมอลลิสนัก พวกเขาอาจจะมองเรื่องความประหยัดเป็นหลัก และไม่อยากเสียเงินซื้ออะไรเลย  แต่สำหรับคนที่จะซื้อคอนโดก็คงจะรู้ว่าคอนโดในยุคนี้ราคาแพงขึ้นมาก ห้องมีขนาดเล็กลงมาก การเลือกห้องและแปลนห้องที่ดีจะช่วยให้เราประหยัดเงินลงได้มาก  ยกตัวอย่างการเลือกคอนโดที่ไม่มีระเบียง หรือระเบียงมีขนาดเล็กลง ก็จะช่วยลดพื้นที่ที่เราไม่ค่อยได้ใช้และเพิ่มพื้นที่ส่วนที่ใช้งานบ่อย ๆ     หรือการเลือกคอนโดเก่ามือสองที่ส่วนกลางอาจจะไม่หวือหวาแต่ได้ราคาที่ถูกกว่ามาก  ทั้งนี้การที่จะคิดแบบนี้ได้ต้องอาศัยการตัดสินใจบนหลักเหตุผลเป็นหลัก ดูว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ 


2. พื้นที่คอนโดมีขนาดลดลง 

ห้องคอนโดมีขนาดเล็กลงเนื่องจากราคาที่ดินที่สูงขึ้น และค่าก่อสร้างที่แพงขึ้น แต่รายได้และกำลังจ่ายของคนทั่วไปไม่ได้ขึ้นตามมาก การจะขายห้องขนาดใหญ่ก็จะทำให้ราคาห้องแพงขึ้น ห้องจึงต้องมีขนาดเล็กลงเพื่อให้สามารถขายในราคาเดิมได้  หลักการมินิมอลจึงมาในรูปแบบของการตกแต่งคอนโด  โดยเลือกเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็น  หรือเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามการใช้งานได้ เป็นต้น   นอกจากนี้การไม่ซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นเข้ามา ก็จะทำให้ห้องไม่รก อยู่สบาย ไม่อึดอัดอีกด้วย 


3. ในด้านการลงทุน 

การลงทุน โดยเฉพาะการปล่อยเช่าคอนโด ห้องขนาดไม่ใหญ่จะปล่อยง่ายที่สุด ดังนั้นการแต่งห้องก็ต้องแต่งให้ห้องไม่ดูแคบจนเกินไป ที่สำคัญต้องใช้งบให้น้อยที่สุดเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เพราะค่าเช่าหากเราปล่อยสูงกว่าตลาดเกินไป ก็จะหาผู้เช่ายาก  สไตล์การแต่งห้องแบบมินิมอลจึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี  เพราะนอกจากจะช่วยลดการตกแต่งที่ไม่จำเป็นแล้ว การเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่แพงเกินความจำเป็นจะช่วยลดปัญหาและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ในอนาคตด้วย 

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้หมายความว่าให้ปล่อยเช่าห้องโล่ง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังและความต้องการของผู้เช่าในย่านนั้น ๆ ด้วย  


มินิมอลโครงการคอนโดของ Grand U มักจะตกแต่งห้องออกมาในรูปแบบ minimal เพื่อให้ห้องดูโล่งโปร่ง แต่ก็ตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชั่นที่ลูกบ้านต้องการ  



มินิมอลลิส "Minimalist" ภัยเงียบทางเศรษฐกิจ

แม้ว่ามินิมอล หรือการเป็นมินิมอลลิส จะทำให้เราหลุดพ้นจากวงจรของกระแสบริโภคนิยมได้ แต่การประหยัดเกินไปก็จะส่งผลกับระบบเศรษฐกิจได้เช่นกัน ลองคิดภาพว่าทุกคนเป็นมินิมอลลิส  เราจะเห็นแฟชั่นเริ่มพากันตาย เทคโนโลยีหยุดการพัฒนา เพราะพัฒนาออกมาก็ขายไม่ได้ การผลิตต่างๆ เริ่มผลิตน้อยลง การจ้างงานก็จะลดลง ผู้คนก็จะว่างงานมากขึ้น จากสังคมที่ประหยัดเพราะต้องการประหยัด ก็จะกลายเป็นสังคมที่ประหยัดเพราะจน   ดังนั้น ณ จุดหนี่งของการเป็นมินิมอลลิส ก็ต้องมีมุมของบริโภคนิยมควบคู่ไปด้วย เพราะอะไรที่มันสุดโต่งมักจะให้ผลลัพธ์ด้านลบที่สุดโต่งด้วยเช่นกัน 



ในเคสนี้คงต้องมองไปที่ประเทศญีปุ่น


เราทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของญีปุ่นยังไม่กลับมา ที่ผ่านมามีข่าวของการลดพนักงานของหลายบริษัท และล่าสุดการมีข่าวการปลดพนักงานเพื่อนำหุ่นยนต์มาทำงานแทน ดังนั้นความมั่นคงทางจิตใจของชาวญีปุ่นจึงไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อน 


คนญีปุ่นเคยมีความเชื่อและความศรัทธาในการเป็นพนักงานประจำ โดยจะทำงานไปจนถึงวัยเกษียณ แต่จากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ญีปุ่นเคยประสบมา ทำให้บริษัทต่าง ๆ ในญีปุ่นปรับแผนไม่จ้างพนักงานประจำ แต่เป็นการจ้างแบบต่อสัญญาแทน คนญีปุ่นจึงเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง เริ่มประหยัด และกลายเป็น minimalist แบบเต็มตัว สิ่งที่ตามมาคือการจับจ่ายซื้อสินค้าที่ลดลง การยับยั้งชั่งใจที่มากขึ้น  กลายเป็นว่าการทำธุรกิจและขายสินค้าให้คนญีปุ่นยากขึ้น 


ไม่ต้องสงสัยเลยสำหรับกรณีที่คนไทยสามารถไปเที่ยวญีปุ่นได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า  เพราะเอาจริง ๆ แล้วเราติดอันดับ 6 ประเทศที่ไปเที่ยวญีปุ่นเยอะที่สุด  ซึ่ง 5 อันดับแรก เป็น เกาหลีใต้  ใต้หวัน จีน อเมริกา และฮ่องกง โดย 5 ประเทศนี้สามารถอาศัยอยู่ในญีปุ่นได้ถึง 90 วัน (ส่วนของไทย 15 วัน) ทั้งนี้เพราะญีปุ่นต้องการให้เกิดรายได้หมุนเวียนภายในประเทศเพิ่มขึ้น และแน่นอนไม่ใช่แค่วีซ่า การโฆษณาท่องเที่ยวญีปุ่นก็มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วย


อีกทางเราเห็นบริษัทญีปุ่น ร้านญีปุ่น เข้ามาเปิดสาขาในบ้านเรามากขึ้น ก็อาจจะเป็นเพราะขายในประเทศตัวเองยากแล้ว  หรือแม้แต่ในวงการอสังหาฯเอง ก็มี developer หลาย ๆ เจ้าร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทญีปุ่นด้วยเช่นกัน  ซึ่งในจุดนี้จะเป็นผลดีกับคนที่จะซื้อบ้านหรือคอนโด ตรงที่จะได้อสังหาฯที่มีมาตรฐานการก่อสร้าง และการเก็บงานที่เนียบตามแบบฉบับของชาวญีปุ่น 


สำหรับด้านอสังหาฯ จากที่ได้คุยกับคนญีปุ่นก็พบว่าคนญีปุ่นเองก็ไม่ชอบที่จะซื้อบ้าน แต่จะเน้นไปที่การเช่ามากกว่า ไม่ใช่เพราะบ้านราคาแพง แต่เพราะภาษีมรดกที่โหดจนการซื้อบ้านเป็นภาระของคนรุ่นลูก และคนรุ่นหลานก็แทบจะไม่เหลืออะไรตกทอดมาเลย


สรุปแล้ว การเป็น minimalist ที่แท้จริงนั้น...ก่อปัญหากับระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน อันที่จริงแล้วการประหยัดเป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าพากันประหยัดจนเกินไป ไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน เอาเป็นว่าการเป็น Minimalist ก็ควรจะเป็นให้ถูกต้อง เลือกประหยัดในบางส่วน เลือกบริโภคนิยมในบางส่วนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 


สุดท้ายแล้ว วันที่ 11 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม มีโครงการช็อปช่วยชาติ  เราอาจจะต้องสละความเป็นมินิมอลลิส ปล่อยให้บริโภคนิยมครอบงำ แล้วมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกันบ้างก็ดี 





บทความที่เกี่ยวข้อง

รีวิวห้องนอนไม่ได้นอน 2 : รีโนเวทห้องมินิมอลแบบมูจิๆ (Muji)

รวมคอนเซ็ปต์แต่งคอนโดสไตล์มินิมอล พร้อมประโยชน์ที่ได้รับ

แต่งคอนโดสไตล์มินิมอล ให้คอนโดขนาดเล็กกว้างขึ้น อย่างไม่น่าเชื่อ


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์