5 IDEA ดีไซน์แปลนห้องน้ำให้น่าใช้งาน แบบฉบับมือโปรที่มือใหม่ก็ทำได้
9 April 2563
การออกแบบจัดวางแปลนภายในห้องน้ำ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความสำคัญมาก เพราะห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนต่อการใช้งาน หากเลือกจัดวางเลย์เอาต์ด้านในไม่เหมาะสม หรือเลือกดีไซน์ เลือกใช้วัสดุที่ไม่เหมาะกับภายในห้องน้ำ อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
Esto เลยอยากจะบอกต่อและแชร์ไอเดียจากประสบการณ์ของ Interior Designer สำหรับการ ดีไซน์แปลนห้องน้ำให้น่าใช้งาน ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการออกแบบที่ถูกต้อง
แยกส่วนเปียกและส่วนแห้งออกจากกัน
ไอเดียแรกคือการออกแบบ Lay-out plan ภายในห้องน้ำ โดยการแยกส่วนเปียกและส่วนแห้งออกจากกัน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว ไม่ควรนำมารวมกันเด็ดขาด เพราะจะเกิดปัญหาในเรื่องของความเปียกชื้น รวมถึงคราบน้ำหลังจากการอาบน้ำ อาจกระเด็นมาโดนอุปกรณ์และสุขภัณฑ์ชำระ ซึ่งจะทำให้ลำบากและเสียเวลาในการทำความสะอาด
นอกจากนั้นแล้ว การดีไซน์แบบแปลนระหว่างส่วนเปียกและส่วนแห้งก็ควรเว้นระยะให้เหมาะสม เช่น ขนาดโดยรวมของห้องน้ำความยาวอยู่ที่ 10 เมตร ส่วนหน้ากว้างอยู่ที่ 5 เมตร การแบ่งระยะของทั้ง 2 ส่วน
- ควรเลือกเว้นระยะพื้นที่ส่วนแห้งเฉลี่ย ความยาว 5-7 เมตร และความกว้าง 5 เมตร เนื่องจาก บริเวณส่วนแห้ง มีสัดส่วนของการใช้สุขภัณฑ์มากกว่าส่วนเปียก ประกอบด้วย โถชำระและอ่างล้างหน้า ซึ่งทั้ง 2 สุขภัณฑ์ควรมีระยะห่างจากกัน 0.80 - 1.00 เมตร โดยประมาณ
- สำหรับพื้นที่ส่วนเปียก ควรมีความยาวอยู่ที่ 3-5 เมตร โดยประมาณ เพื่อจัดวางสุขภัณฑ์อย่างอ่างอาบน้ำ หรือกั้นเป็น Shower Box สำหรับชำระล้างร่างกาย
ออกแบบตามหลัก Universal Design
สำหรับไอเดียที่ 2 เป็นอีกหนึ่งหลักการออกแบบที่ใช้กันทั่วโลกอย่าง การออกแบบตามหลัก Universal Design หลักการออกแบบนี้ เป็นการออกแบบขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์การใช้งานของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ-ทุกวัย ซึ่งนั่นเองจึงทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับการจัดวางแบบแปลน และดีไซน์ฟังก์ชันการใช้งานภายในห้องน้ำ
หลักการออกแบบตามหลัก Universal Design เน้นให้สอดคล้องกับแบบแปลน โดยจะจัดวางเป็น Step ดังนี้
- เมื่อเข้าเปิดประตูห้องน้ำมาจะพบพื้นที่ส่วนแห้ง ภายในประกอบด้วยอ่างล้างหน้าที่มักจะถูกจัดให้อยู่ทางด้านซ้ายมือเป็นหลัก ถัดเข้ามาจะเป็นส่วนของโถสุขภัณฑ์ ซึ่งบริเวณอ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์เอง จะต้องติดราวจับบริเวณผนังทั้งด้านซ้ายและด้านขวา โดยมีระยะห่างประมาณ 20-40 เซนติเมตร
- ถัดเข้ามาจากส่วนแรกซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนแห้ง จะเป็นในส่วนของพื้นที่ส่วนเปียกสำหรับชำระร่างล้างกาย ภายในบริเวณนี้เองจะถูกออกแบบอยู่ 2 ลักษณะ คือ ห้องสำหรับอาบน้ำ (Shower Box) และอ่างสำหรับอาบน้ำ หรือบางที่อาจมีทั้ง 2 ฟังก์ชันรวมอยู่ด้วยกัน แน่นอนว่าต้องมีการติดตั้งราวจับขนาบไปกับผนังกำแพงด้วยเช่นกัน
อย่าลืมว่าส่วนชำระต้องมีขนาดกว้างพอ
ไอเดียที่ 3 จะมีความคล้ายกับไอเดียทั้ง 2 ที่ผ่านมา แต่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการจัดวางแบบแปลนภายในห้องน้ำให้สามารถใช้งานได้สะดวก นั้นก็คือการเว้นพื้นที่บริเวณส่วนแห้งให้มีขนาดกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะนอกจากพื้นที่ในส่วนนี้จะต้องรองรับการใช้งานหลายฟังก์ชันแล้ว ยังสามารถทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกด้วย
3 ใน 1 ส่วนของพื้นที่ส่วนแห้ง จะแบ่งเป็นพื้นที่สัญจร ดังนั้นการเว้นระยะพื้นที่สัญจรควรแบ่งไว้ 0.50-0.80 เซนติเมตร ไม่รวมกับพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้เหมาะกับการสัญจรทั้งการเดิน และรถเข็นผู้พิการ เพื่อให้มีพื้นที่ในการหมุนตัวเข้า-ออกได้สะดวก
และอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรเว้นให้พื้นที่ส่วนแห้งภายในห้องน้ำมีขนาดกว้าง เนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้ต้องรองรับในหลากหลายกิจกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้งานของผู้หญิงที่มักจะมีการแต่งหน้า-แต่งตัว และใช้เวลาอยู่ในห้องน้ำเป็นเวลานาน ซึ่งห้องน้ำบางบ้านมีการออกแบบให้ส่วนของ work-in closet รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย
วัสดุภายในที่เลือกใช้ป้องกันความปลอดภัย
การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะกับอุณหภูมิภายในห้องน้ำ มีความจำเป็นไม่แพ้กับการจัดวางแบบแปลน หรือการดีไซน์ภายในห้องน้ำ เนื่องจากวัสดุที่เลือกใช้ภายในห้องน้ำ ต้องเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ กันชื้น และไม่ลื่น ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้ในระยะยาว
โดยทั่วไปแล้ววัสดุที่เลือกใช้ จะเป็นประเภทหินแกรนิตโต้ โมเสก และกระเบื้องผิวด้าน ซึ่งจะช่วยรองรับในการเดิน ป้องกันการลื่นหกล้ม บวกกับเมื่อสัมผัสกับน้ำและความชื้น วัสดุที่กล่าวไปนั้นจะไม่เกิดการผุกร่อน หรือหลุดลอก และนอกจากนั้นเองยังสามารถเลือกใช้วัสดุประเภทสังเคราะห์อย่าง ไม้เทียม หรือหินเทียมได้
สำหรับการออกแบบดีไซน์ให้ห้องน้ำสวยงาม คือการเลือกใช้วัสดุเพื่อกำหนด mood & tone ให้ภายในมีทิศทางเดียวกัน เช่น หากต้องการออกแบบห้องน้ำในสไตล์ Muji วัสดุที่เลือกควรเป็น ไม้จริงบางชนิดที่ทนต่อความชื้น หรือไม้เทียมที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานภายในห้องน้ำโดยเฉพาะ นอกจากจะมีความแข็งแรงสูงแล้ว ยังมีสีสันที่สามารถสื่ออารมณ์ในสไตล์ Muji ได้ดี
การจัดวางแสงสว่างเพื่อความเหมาะสม
ไอเดียสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดสำหรับไอเดียตกแต่งห้องน้ำ คือ เทคนิคการจัดแสงสว่างให้เหมาะกับพื้นที่ภายใน เพราะแสงสว่างเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ห้องน้ำมีความสวยงาม และปลอดภัย ซึ่งการออกแบบแสงสว่าง หรือ Lighting Design จะมีการจัดวางพร้อมกับการจัดวาง Lay-out plan ของห้องน้ำในตอนแรก
โดยจะมีการวางจุดวงไฟ Down Light บนเพดานตามมาตรฐานอย่างน้อย 3-6 ดวง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดของห้องน้ำด้วย โดยที่ไฟส่องสว่างหลักจะอยู่บริเวณส่วนเปียก โดยมีการจัดวางดวงไฟให้มีระยะห่าง 80-2.00 เมตร เพื่อให้แสงสว่างกระจายได้อย่างทั่วถึง และในส่วนของส่วนเปียกบริเวณส่วนชำระร่างกาย จะมีการจัดวางดวงไฟ 1-2 จุด เพื่อให้มีแสงสว่างในระดับกลาง
ส่วนการจัดวางแสงสว่างเพื่อเพิ่มลูกเล่นให้กับพื้นที่ภายใน จะนิยมตกแต่งแสงสว่างบริเวณกระจกอ่างล้างหน้า ซึ่งจะถูกออกแบบในหลายลักษณะด้วยกัน เช่น การซ่อนไฟเป็นเส้นตรง รวมถึงการใช้ไฟแขวนเพื่อสร้างบรรยากาศให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
หวังว่าไอเดียการดีไซน์แบบแปลน พร้อมกับเทคนิคการตกแต่งภายในห้องน้ำ จะช่วยให้เพื่อนๆที่กำลังจะลงมือตกแต่งห้องน้ำภายในที่อยู่อาศัยของตัวเอง ได้มองเห็นข้อดีและข้อจำกัดบางอย่าง เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัวมากที่สุด