รูปบทความ ยินดีต้อนรับสู่ยุค Smart Eco-Home ในอีก 10 ปีข้างหน้า!

ยินดีต้อนรับสู่ยุค Smart Eco-Home ในอีก 10 ปีข้างหน้า!


ที่มา: Westend61/Getty Images


เชื่อหรือไม่ ในอนาคตอันใกล้นี้ เฟอร์นิเจอร์ภายในห้องจะสามารถเปลี่ยนสีและรูปร่างตามอารมณ์ของผู้อยู่อาศัยได้!


หรือแม้แต่ห้องน้ำ โถสุขภัณฑ์ก็จะสามารถติดตามสถิติสุขภาพของเราได้ด้วย โดย AI ภายในโถสุขภัณฑ์จะเก็บข้อมูลการขับถ่ายของเราเอาไว้ และเก็บรวบรวมเป็นสถิติ เพื่อให้เห็นถึงสุขภาพของผู้ใช้งานได้ นอกจากนี้ก็ยังสามารถสร้างพลังงานจากน้ำเสียในโถสุขภัณฑ์และฝักบัว หรือแม้แต่การกรองน้ำเสียเพื่อสร้างน้ำใช้ภายในครัวเรือนให้เพียงพอกับความต้องการ นี่จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะ Smart Eco-Home อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดก็เป็นได้


นักอนาคตศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวว่า ภายในปี 2030 เราจะสามารถใช้วัสดุ Existing Reconfigurable และ Augmented Reality ในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเฟอร์นิเจอร์ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถเปลี่ยนโซฟาหนังสีน้ำตาลเป็นเนื้อกำมะหยี่สีแดงได้ง่าย ๆ ผ่านการสั่งงานระบบ AI ภายในบ้าน เบาะอัจฉริยะจะเปลี่ยนสีได้เหมือนกิ้งก่า เพื่อให้เหมาะกับอารมณ์ของเรา หรือแม้แต่ผ้าปูที่นอนที่ปรับให้เข้ากับอุณหภูมิร่างกาย เป็นต้น


ที่มา: peart/Getty Images/iStockphoto


ตัวอาคารจะเริ่มทำจากวัสดุรีไซเคิลพร้อมฉนวนกันความร้อนที่ดีขึ้น มีแผงโซลาร์บนหลังคาและหน้าต่าง อีกทั้งเรายังสามารถเพิ่มห้องสำเร็จรูปเข้าไปได้ตามใจต้องการ เมื่อสมาชิกในครอบครัวเติบโตขึ้น ไม่ได้ใช้ชีวิตภายในห้องดังกล่าวแล้ว เราก็สามารถย้ายห้องสำเร็จรูปออกไปได้ อีกทั้งยังสามารถควบคุมการใช้พลังงานได้มากขึ้น เซ็นเซอร์จะสามารถติดตามผู้อยู่อาศัยรอบบ้าน พร้อมปรับอุณหภูมิและแสงในแต่ละห้องได้อัตโนมัติทันที


หัวใจของระบบดังกล่าวคือ ‘มาตรวัดอัจฉริยะ’ ที่เริ่มมีให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้วทั่วสหราชอาณาจักร Gadgets เหล่านี้ จะช่วยตรวจสอบการใช้พลังงานในครัวเรือนตลอดทั้งวัน และรายงานข้อมูลกลับไปยังผู้ให้บริการเครือข่าย ซึ่งจะช่วยในการคาดเดาอุปสงค์และอุปทานได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังแจ้งค่าไฟแบบเรียลไทม์ให้กับเราอีกด้วย ทีนี้ก็สามารถควบคุม และบริหารจัดการการใช้งานให้ประหยัดมากยิ่งขึ้นได้ ลดได้ทั้งพลังงาน แถมจ่ายค่าไฟน้อยลงอีกด้วย


ประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน รักษาสิ่งแวดล้อม


‘มาตรวัดอัจฉริยะ’ ช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถทำนายอุปสงค์ได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นพลังงานหมุนเวียนจึงสามารถใช้งานได้โดยมีความสูญเสียที่น้อยลง นั่นคือปริมาณที่เหมาะสมสามารถกระจายไปยังพื้นที่ที่ต้องการได้ในเวลาที่ถูกต้อง จึงช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในระบบการจ่ายไฟฟ้า แม้ปัจจุบันแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของพลังงานผสมผสาน แต่รายงานของรัฐจากสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่า 70% ของพลังงาน จะมาจากแหล่งคาร์บอนต่ำและพลังงานหมุนเวียนได้ ภายในปี 2030


โครงการมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ได้ทดลองติดตั้งแบตเตอร์รีที่สามารถเก็บพลังงานจากแผงโซลาร์หรือระบบไฟฟ้าภายในครัวเรือน 7 แห่ง พลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่ได้ถูกใช้งาน จะทำการชาร์จแบตเตอร์รีทันที ซึ่งจะสร้างพลังงานที่เพียงพอให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงเย็น ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างน่าทึ่ง!


ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ฟังดูเหมือนไกล แต่จริง ๆ ก็ไม่นานเกินรอคอย และคงจะดีไม่น้อย ถ้าในอนาคต เราสามารถมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวัน ไปพร้อม ๆ กับการประหยัดพลังงาน เพราะเราจะได้รับทั้งความสะดวกสบาย, ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังช่วยรักษ์โลกของเราได้ไปในตัวอีกด้วย




ที่มา : www.theguardian.com/smarter-energy/2019/nov/29/chameleon-cushions-and-hydroponic-gardens-welcome-to-the-smart-home-of-the-future


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์