รูปบทความ Everyday Studio เฟอร์นิเจอร์คอนโดที่ตอบโจทย์ทั้งพื้นที่และฟังก์ชั่น

Designer Talks : Everyday Studio สตูดิโอเฟอร์นิเจอร์อารมณ์ดี ที่จะสร้างความพิเศษให้ทุก ๆ วันในคอนโดของคุณ

" ... การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์เป็นขั้นตอนสำคัญในการบริหารพื้นที่ใช้สอยสำหรับการอยู่อาศัย โดยเฉพาะกับชาวคอนโดมิเนียมหรือผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้องที่มีพื้นที่บริเวณจำกัด การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นจึงเป็นขั้นตอนศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องดำเนินไปอย่างรอบคอบระมัดระวัง หากพลั้งพลาดไปเราอาจจะได้ห้องที่คับแคบลงหรือเพิ่มความลำบากในการอยู่อาศัยขึ้นมาเสียเปล่า ๆ เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นที่ปรากฏในห้องของเรานั้นจึงควรจะเป็นสิ่งที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วอย่างเข้มข้นและมีเหตุผล เพื่อคาดคั้นเอาความคุ้มค่าและประโยชน์ใช้สอยจากมันมาได้อย่างหมดจดเต็มเม็ดเต็มหน่วย ... "


    แต่ในอีกด้านหนึ่ง  เฟอร์นิเจอร์ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ห้อง ๆ หนึ่งกลายเป็นบ้านได้ เครื่องเรือนแต่ละชิ้นที่เราเลือกใช้ย่อมเชื่อมโยงผูกพันธ์กับความทรงจำ  สะท้อนถึงบุคลิกและอุปนิสัยส่วนลึกของเราเมื่อเราต้องเลือกเครื่องเรือนสักชิ้นหนึ่ง เราจึงควรเลือกชิ้นที่เราชอบ และสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ยาวนานเป็นปี ๆ โดยไม่เบื่อ ทั้งสบายกายเมื่อได้ใช้ และสบายใจเมื่อได้มอง



ประโยชน์ใช้สอยและความอบอุ่นน่าใช้งาน ดูจะเป็นคุณลักษณะที่อยู่คนละฝั่งเหรียญกัน แต่บางครั้งก็สามารถพบเจอสิ่งของที่ตอบทั้งสองโจทย์ของเราได้ครบครันในเวลาเดียวกัน




Everyday Studio เป็นสตูดิโอออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2014 ภายใต้แนวคิด “ Our design makes your everyday special. ” มุ่งเน้นไปที่การสร้างงานเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณค่าทั้งประโยชน์ใช้สอยและความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน เพื่อสร้างความรู้สึกพิเศษให้กับทุก ๆ วันในชีวิต ภายใต้รูปลักษณ์ที่อบอุ่นและเรียบง่ายของงานออกแบบ แต่เมื่อได้ทดลองใช้งานดูเราจะพบว่าเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นของ Everyday Studio ค่อย ๆ เกิดและเติบโตขึ้นมากับการขัดเกลาทางประโยชน์ใช้สอยอย่างเข้มข้นและมีเหตุผลมากจริง ๆ ที่สำคัญคือมีขนาดที่เป็นมิตรกับห้องคอนโดมิเนียมอีกด้วย





คุณเอ็กซ์ วุฒิชัย ลีลาวรวงศ์ และคุณเปิ้ล สิริพร กอบนิธิกุลวงศ์ ทั้งสองท่านสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย Passion ในการสร้างสรรค์งานเฟอร์นิเจอร์เพื่อตอบโจทย์และมอบความรู้สึกพิเศษให้กับทุก ๆ วันของผู้ใช้งาน ทำให้ทั้งสองตัดสินใจก่อตั้ง Everyday Studio ขึ้น


ก่อนอื่นอยากให้พูดถึงผลงานของ Everyday Studio Collection ที่เคยได้ทำออกมา


คุณเปิ้ล : ชิ้นที่เคยทำมาก็มีอย่างตัวนี้ชื่อ Rocky ชื่อก็บ่งบอกความเป็นมัน มันเป็นม้าโยกสำหรับผู้ใหญ่





คุณเปิ้ล : บางคนจะชอบลักษณะของมัน ชอบ form ยาว ๆ ผอม ๆ เก็บง่ายดี แล้วเขาอยากได้แบบไม่โยก เราก็เลยพัฒนาเป็นตัวถัดมา ถึงไม่โยกแต่ก็ยังมีลูกเล่นอยู่ ก็คือมีล้อ สามารถเคลื่อนไปไหนมาไหนกับเราได้ง่ายไม่ต้องยก ตัวนี้เป็น Rocky Mama ทีนี้ลูกค้าก็อยากให้มีสำหรับลูกเค้าด้วย เราก็ Develop ตัวเล็กมาเป็น Rocky Baby ก็เป็นครอบครัว Rocky


คุณเปิ้ล : คอลเล็กชั่นแรกก็จะชื่อ Play It มี Rocky Family สามชิ้น ตัวที่สองก็จะเป็น Swingy ก็จะเป็นเก้าอี้แกว่งขาได้ ชื่อมาจาก Swing ก็ตรงตัว เราก็เอาลูกเล่นของชิงช้ามา ตัวนี้ได้รางวัล Good Design Awards จากญี่ปุ่น ได้ Demark จากเมืองไทย






คุณเปิ้ล : แล้วก็ Spinny เป็นโต๊ะกลางที่หมุนได้ Idea Concept ของมันมาจากลูกข่าง ก็คือลูกข่างที่มันหมุนได้ แต่ปกติพอเราเห็นโต๊ะแบบนี้ปุ๊บ เราก็จะมาหมุนเอาตรงกลางเหมือนโต๊ะจีน ซึ่งพื้นที่ส่วนที่หมุนได้เป็นพื้นที่ Functional ด้านนอกต่างหาก ซึ่งคนก็จะแปลกใจว่ามันคืออะไร



คุณเปิ้ล : ซึ่งเจตนาของเราก็ตั้งใจให้มันเป็น Coffee Table แหละ มันหมุนตรงกลางไปทำไมในเมื่อมันแคบนิดเดียว ตรงกลางเราวางของโชว์ดีกว่า เราวางแจกันดอกไม้ ตรงข้าง ๆ เราวางขนม วางรีโมท ที่คนจะได้สลับสับเปลี่ยนหยิบกันได้ง่าย ๆ เป็นอะไรประมาณนั้น





คุณเอ็กซ์ : โต๊ะ Hidy คอนเซปท์คือเหมือนเล่นซ่อนแอบ มันเป็นช่องเล็ก ๆ สีดำที่อยู่ใต้ท็อปโต๊ะ ที่เป็นเก๊ะ โดยปกติจะมองไม่เห็น ซึ่งมันก็คือโครงสร้างโต๊ะธรรมดา ๆ น่ะแหละ แต่เราเพียงเอาคานโต๊ะออกไปหนึ่งชิ้น และแทนที่มันด้วยเหล็ก ให้เป็นช่องเก็บของแทน


คุณเปิ้ล : Size ของมันก็ตั้งใจไว้ให้เป็นคอนโด พื้นที่จำกัด ปลายเตียง แต่สำหรับพื้นที่จำกัด ซึ่งมันก็สามารถเป็นได้ทั้งโต๊ะทำงานและโต๊ะกินข้าว เราทำงานเสร็จ เราก็เก็บ Laptop ลงในเก๊ะ ก็กลายมาเป็นโต๊ะกินข้าวได้ แบบเตี้ยความสูงเท่าโต๊ะปกติก็มี เตี้ยลง และใช้กับเก้าอี้ธรรมดา ก็แล้วแต่ลูกค้า





คุณเอ็กซ์ : ที่มาของเราโฟกัสเรื่องคอนโดก็จริง แต่จุดต่างของเราก็คือเราก็โฟกัสที่การใช้งานเช่นกัน เฟอร์นิเจอร์คอนโดในปัจจุบันเค้าจำกัดขนาดก็จริง คือขนาดจะเล็กหน่อยเป็นโซฟาที่เล็ก เพื่อที่จะสามารถเข้าไปอยู่ในพื้นที่ ๆ จำกัดได้ แต่เรามองอีกมุมหนึ่งเหมือนกันว่าโอเค เรื่องขนาดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ แต่เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของการผสมผสานประโยชน์ใช้สอย เช่นโต๊ะทำงานกับโต๊ะกินข้าวเรารวมเป็นตัวเดียวกันได้ มันก็เลยต่างจากเฟอร์นิเจอร์คอนโดทั่วไปที่โฟกัสเพียงการลดขนาดลงจนใช้ไม่สบาย แต่เรายังทำให้คนใช้ใช้ได้สบายอยู่ในขณะเดียวกันก็ประหยัดพื้นที่ใช้งาน เพราะมันสามารถตอบโจทย์การใข้งานหลาย ๆ อย่างได้ในพื้นที่ดียว






อีกชิ้นหนึ่งที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ก็คือเจ้านี่ คือบางคนเวลาอยู่คอนโดก็จะติดว่าหน้าโซฟาต้องมีโต๊ะกลาง แล้วพอมีก็ไม่รู้จะเอาไว้ใช้วางอะไร ส่วนมากก็จะเป็นของจิปาถะนิด ๆ หน่อย ๆ เราเลยลดขนาดมาเหลือแค่นี้พอมั้ย นั่งโซฟาไปทำงานไป วางโน้ตบุ๊ควาง ipad ไปก็โอเคแล้ว ปกติเวลาเรานั่งเราจะเป็นคนโน้มเข้าหาโต๊ะใช่ไหม แต่พอเราใช้เจ้านี่เราสามารถพิงโซฟาได้สบาย ๆ พิงหลังทำงานได้ ไม่ต้องเมื่อย คือเราไม่ต้องเอนเข้าไปหาโต๊ะ แต่ให้โต๊ะเข้ามาหาเราแทน





Passion ในการทำงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์มาจากไหน ?


คุณเอ็กซ์ : ผมกับเปิ้ลจบอินทีเรียจุฬามาด้วยกัน แล้วผมไปต่อเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ที่อเมริกา เปิ้ลต่อโทเอกที่อเมริกา อินทีเรียเหมือนกัน ผมมาเริ่มทำเฟอร์นิเจอร์ก่อนตอนคุณเปิ้ลเค้ายังเรียนอยู่ที่นั่น ยังไม่จบ แล้วผมก็มาทำธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ เรียนจบมาไฟแรง ก็อยากลองทำ Experiment แต่ตอนแรกไม่ได้มาในนาม Everyday Studio เราทำเฟอร์นิเจอร์โชว์ ไม่ได้เน้นขายเท่าไหร่นัก ซึ่งก็ทำอยู่สี่ปี ตอนนั้นคุณเปิ้ลก็เริ่มกลับมาช่วยนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็รู้ว่าจริง ๆ แล้ว Business นี้เองเราทำเฟอร์นิเจอร์น่ะครับ เราทำให้คนใช้ เราไม่ได้ทำเพื่อโชว์ว่าเราออกแบบะไรได้ ตอนนั้นชื่อ X l in l Fur มาจาก X ก็คือชื่อผมเอง interior Furniture จริง ๆ แล้วมันเหมือน พอร์ทโฟลิโอตอนเรียนจบน่ะครับ อยากจะเอามาอวดว่าผมทำได้หลายอย่างนะ ยังไม่ได้ก้าวไปสู่ Business ครับ เราแค่เอาของไปโชว์แล้วมีคนชมว่า Design เราดี ก็พอใจแล้ว ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แต่ถามว่าขายได้มั้ย ก็ไม่ได้ขาย(หัวเราะ)





แล้วเรายังสามารถเห็นความเป็น X l in l Fur ได้ใน everyday มั้ย ?


คุณเอ็กซ์ : จริง ๆ แล้วมันค่อย ๆ หล่อหลอมมามากกว่า ด้วยประสบการณ์ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง แล้วก็มีคุณเปิ้ลเข้ามาเติมเต็ม ก็คำนึงถึงผู้ใช้และการใช้งานมากขึ้นด้วย ก็คือมาช่วยสร้างสีสีน


คุณเปิ้ล : เหมือนตอนที่เป็น X l in l Fur มันจะเป็นเอ๊กซ์ที่ทำเฟอร์นิเจอร์ แต่สำหรับเราด้วยความที่เราเป็นสาย Interior เราจะเอาความเป็น Interior มาประยุกต์ใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุ เราก็ใช้วัสดุที่เราคุ้นเคยจากงาน Interior มาทำในงานด้วย แต่เป็น Experiment ซึ่งมันมีความแปลก คนชมเยอะมากเลยเพราะเป็นมุมมองที่แปลก Innovative แต่สุดท้ายแล้วเค้าก็ไม่เอาไปใช้งาน


คุณเอ็กซ์ : เค้าไม่รู้จะซื้อไปใช้ทำอะไร


คุณเปิ้ล : ใช่ พอเปิ้ลเข้ามาช่วย เราก็มาคุยกันว่าเราออกแบบเฟอร์นิเจอร์น่ะ แล้วแค่คนชมมันไม่พอนะ พอเราออกแบบ เราต้องให้คนใช้งานแล้วพอใจด้วย ทีนี้ด้วยความที่เป็น Interior ของเราสองคนจะมาเจอกันที่มุมไหน อาจจะไม่ใช่ในเรื่องของ Material แต่เป็นเรื่องของการที่เราออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ภายใน ในรูปแบบใหม่ที่ตอยโจทย์พฤติกรรมการใช้งานที่เกี่ยวกับคนมากกว่าเกี่ยวกับวัสดุ





เหมือนคุณเปิ้ลเข้ามาช่วยทำให้ไอเดียของคุณ X มัน Functional มากขึ้น ?


คุณเปิ้ล : เอ็กซ์เค้า Functional อยู่แล้วค่ะ แต่ว่าเรามาคุยกันว่าเราอยากให้คนใช้แล้วเป็นอย่างไรต่อ


คุณเอ็กซ์ : คือเปิ้ลช่วยมองในอีกมุมหนึ่งน่ะครับ คือผมก็จะเป็นแนว Functional มาก ๆ จนบางทีมันอาจจะไม่ได้กลับไปคิดว่าเอ๊ะ คนใช้จะรู้สึกอย่างไร คือส่วนที่ Emotional มาก ๆ เนี่ย จะเริ่มมีคุณเปิ้ลเข้ามาดู อาจจะเริ่มใส่เรื่องสีสัน เรื่องวัสดุเข้ามาบ้าง เลือกชนิดผ้า คือจะมาช่วยเติมเต็มในรายละเอียดที่บางทีผมก็ตกหล่นไป ผมจะค่อนข้างดูเพียงการใช้งานไปเลย แต่บทบาทเราสองคนก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโอกาส


คุณเปิ้ล : เปิ้ลก็จะมาคอยติงว่า อันนี้ใช้งานยากไป คิดเยอะไป ก็จะมาคุย ๆ กัน





มีทะเลาะกันบ้างไหม ? 


คุณเปิ้ล : อุ้ยบ่อยค่ะ (หัวเราะ)


คุณเอ็กซ์ : จริง ๆ เราก็แค่เหมือนกับคุยกันเรื่องงานกันนั่นแหละครับ บางทีก็เกิดการไม่เห็นด้วยกันบ้าง เราก็จะถามว่าทำไมถึงไม่เห้นด้วย อาจจะเถียงกันบ้าง แต่ก็เป็นการคุยงานกันมากกว่า ก็ยังไม่ได้ Seriously กับมันขนาดนั้น


คุณเปิ้ล : สุดท้ายแล้วเป้าหมายเราเป็นสิ่งเดียวกัน ก็คืออยากให้งานออกมาดี เราเถียงกันคือคุยกันเกี่ยวกับการหา Direction ของการพัฒนางานให้ดีกว่าเดิม





แปลว่าสิ่งที่ผลิตออกมาก็คือเป็นผลสำเร็จที่ทั้งคู่พอใจแล้ว ?


คุณเปิ้ล : ยังไม่สุดหรอกค่ะ เพราะทุกชิ้นเราก็มี Develop มันขึ้นไปเรื่อย ๆ


คุณเอ็กซ์ : ทุกงานของเรา ด้วยความที่เราทำเอง เราก็มีความรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดกาล บางครั้งลูกค้า Feedback อะไรมาเราก็แก้ เราปรับให้เราเห็นว่ามันดีกว่าเดิม ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเห็นว่ามันน่าจะดีกว่าเดิม ทำไมเราต้องคงอยู่กับแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มันไม่มีใครบอกว่าเราต้องทำแบบนี้ คือเราไม่ซีเรียสที่เราจะกลับไปเอาแบบตัวเองเมื่อครั้งที่ 1 มาแล้วบอกว่ามันยังไม่ดี แล้วก็ปรับใหม่ เหมือนงานของเราก็โตตามไปกับเรา





คุณเอ็กซ์ : เวลาเราไปออกบูธในงานเราก็ชอบที่จะฟังความเห็นของลูกค้าหรือ Request บางอย่างจากเขา ซึ่งบางทีมันก็เป็นไอเดียที่ดีครับ เราก็ Open คือเราไม่ใช่คิดกันเองสองคนแล้วก็เอามาขาย สิ่งที่เราทำคือเราทำมาแค่นี้ แล้วเราเอาไปตั้งโชว์ แล้วเรารอให้ลูกค้า Feedback เรามา บางทีเราชอบมากที่ลูกค้าบอกว่า เออ ไม่ใหญ่กว่านี้เหรอ ใหญ่กว่านี้ได้มั้ย อย่างเช่นโต๊ะตัวนี้ มันเป็นรุ่นเก่าครับ มันยังไม่มีเซาะร่อง


คุณเปิ้ล : ตัว Original ของมันจะมาแค่ไซส์เล็ก แล้วพอเราไปออกงาน ลูกค้าก็บอกว่าอยากใช้วางโน้ตบุ๊ค อันนี้มันไซส์ไม่ได้


 



คุณเอ็กซ์ : จริง ๆ แล้วลูกค้าเอาตัวนี้ไปวางโน้ตบุ๊คครับ แล้วเราก็บอกว่ามันไม่ควร เพราะผมออกแบบมันไว้ให้ขนาดพอดีกับ ipad แล้วเค้าเอาโน้ตบุ๊คมาวาง เค้าบอกมันสะดวกดี มีใหญ่กว่านี้อีกสักนิดมั้ย แล้วก็มีคนถามแบบนี้หลายคนมาก เห็นตัวนี้แล้วบอกว่าอยากได้ใหญ่กว่านี้ มีประมาณสิบกว่าคนที่พูด ออกงานครั้งต่อมา เราก็มีตัวนี้เลย ลูกค้าก็บอกอีกว่า ทำไมตัวเล็กมีร่องสำหรับวาง ipad แต่ตัวใหญ่ไม่มีล่ะ เราก็ฟัง แล้วก็เอาไปปรับใช้กับตัวไซส์ใหญ่ด้วย


คุณเปิ้ล : ที่สักครู่ถามว่าเถียงกันบ้างมั้ย ตัวนี้ก็เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่เถียงกันค่ะ ตอนออกแบบเปิ้ลก็บอกเอ๊กซ์ว่ามีร่องต้องทำให้เหมือน เอ็กซ์เค้าก็จะเถียงว่าไม่เหมือน ไม่ต้องมี วางโน้ตบุ๊คมันไม่จำเป็นต้องใช้ร่อง คือเค้ามองในเรื่อง Function คือลูกค้าจะเอาไปวางโน้ตบุ๊คนะ มันไม่จำเป็นต้องมีช่องอันนี้


คุณเปิ้ล : ใช่ เพราะผมเองมองว่าพอมีร่อง มันก็จะไปเพิ่มต้นทุน เพิ่มต้นทุนราคาสินค้าก็จะแพงขึ้น ทำไมเราต้องไปเพิ่ม Process ถ้ามันไม่จำเป็นต้องใช้ แต่พอ Feedback ลูกค้ามา ลูกค้าก็ถามตลอดว่าตัวใหญ่ทำไมไม่มีร่อง ผมก็เลยคิดว่าเพิ่มไปเลยดีกว่า พอเพิ่มเสร็จก็ดี ลูกค้าพอใจ


คุณเอ็กซ์ : แล้วลูกค้าก็จะถามอีกว่าทำไมไม่ทำให้มันปรับระดับขึ้นลงได้ล่ะ อยากได้สูงต่ำ ผมฟังก็คิดตาม ไม่ใช่ว่าไม่อยากทำนะ แต่ถ้าเราทำปรับสูงต่ำได้มันก็ไม่แข็งแรง เมื่อไหร่ที่มันเกิด Part ที่มันหมุนได้ ขยับได้ มันก็คลายตัวเองได้ โยกไปโยกมาได้ มันก็จะไม่ Functional กับการทำงานแล้ว ก็เลยไม่ทำ


คุณเปิ้ล : เราฟังลูกค้าก็จริง แต่เราก็มีจุดยืนในเรื่องของการออกแบบ ว่าเราอยากทำของดี แข็งแรง ตอบโจทย์การใช้งาน มันเกิดจากที่คุยกับเอ็กซ์ว่าเราอยากทำของให้คนใช้ แต่ถ้าเราไม่ฟังคนใช้ เค้าจะใช้ของ ๆ เรามั้ย เราอยากทำของให้คนใช้ ใช้แล้วเค้าน่าจะมีความสุขมากขึ้น ในตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่แบรนด์อื่นทำมาเยอะ ๆ แล้ว เราก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำ เราก็จะไปทำอะไรที่คนอื่นไม่มี เพื่อเป็นทางเลือกที่ทำให้ชีวิตเค้าง่ายขึ้น


คุณเอ็กซ์ : ส่วนใหญ่มันก็จะเป็นการแชร์ไอเดียกับลูกค้าน่ะครับ แต่ก็ไม่ได้ขนาดเจอกันครึ่งทาง 50:50 มันจะเป็นประมาณ 60 : 40 คือเราคิดให้แล้วแหละ 60 อีก 40 ที่เหลือเราก็ให้ลูกค้าไปเติมเต็มเอา อย่างเช่นตัวนี้ มันหมุนได้ ลูกค้าก็ไปเติมเต็มเอาเองว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร บางคนก็เอาไปให้ลูกนั่งทำการบ้าน ด้วยความที่เฟอร์นิเจอร์เรามัน Open นิด ๆ เพราะมันเป็นเฟอร์นิเจอร์แปลก ๆ ที่อาจจะไม่ได้เห็นตามท้องตลาด คือเราไม่ได้เอาชื่อมาตั้ง มาจำกัดมันว่าเป็น Coffee Table ก็ต้องเป็น Coffee Table เป๊ะ ๆ แบบนั้น เราก็จะพยายามออกแบบตามการใช้งานที่เหมาะสม




Functional กับ Aesthetic เราให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน


คุณเปิ้ล : ไปคู่กันนะคะ แต่เริ่มต้นมาจาก Functional ก่อน เราสองคนเป็น Functionalism คือทำอะไรที่มันไม่มี Function ไม่ได้ จะเกิดคำถามว่าแล้วมันเกิดมาเพื่ออะไร ทำไมเราต้องเสียวัสดุไปเพื่อผลิตสิ่งนี้ขึ้นมา แต่ทีนี้ ในความที่เป็น Function มันต้องมีความงามเกิดขึ้นด้วย ด้วยพื้นฐานการเป็น Designer ของเรา


คุณเอ็กซ์ : คือถ้าเราทำออกมาแล้วมันไม่สวย มันก็ไม่มีคนใช้


คุณเปิ้ล : มันมีพื้นฐานสามอย่างของ Designer คือเรื่องของ Function , ความงาม และความแข็งแรง ซึ่งจะอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องมีสามเรื่องนี้ เพียงแต่ว่า เราให้ความสำคัญของเรื่องไหนโดดเด่นกว่ากัน อยากถามเกี่ยวกับ Thai Designer จุดเด่นของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไทย



คุณเปิ้ล : จาก feedback ของต่างชาติ เค้ามองว่าดีไซน์ประเทศเราค่อนข้าง Strong และมีความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบน่าสนใจ มีอะไรใหม่ ๆ ไปนำเสนอระดับโลกเยอะ จะด้วยความที่ Designer ไทยถ้าไม่ใช่ Brand ใหญ่ ๆ ไปเลย รุ่นไซส์ประมาณเรา ก็จะมีจุดยืนในแต่ละ Brand มีความหลากหลาย ในบางที่ต่างประเทศเค้าก็จะมีรูปแบบค่อนข้างซ้ำกัน เค้าก็จะมองว่าบางที Designer ไทยก็จะมีมุมมองใหม่ ๆ


คุณเอ็กซ์ : เรื่องส่งออกน่ะครับ ต่างประเทศเอง เค้าชอบเฟอร์นิเจอร์ของไทยเพราะมันมัน Quality ที่ดีครับ คุณภาพในการผลิตสินค้า ถ้าบอกว่า Made in Thailand นี่ขายได้แน่นอนในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์


คุณเปิ้ล : ชื่อดีมากค่ะ


คุณเอ็กซ์ : เค้าชอบครับ เค้ารู้สึกว่าถ้ามัน Made in Thailand มันดู Craft แน่น เค้าถามเองเลยว่าผลิตในประเทศหรือเปล่า ไม่ใช่แค่ Design แต่เป็นขั้นตอนของการผลิตด้วย





ลักษณะของเฟอร์นิเจอร์สำหรับคอนโดที่ดีในสายตาของ everyday เป็นอย่างไร


คุณเอ็กซ์ : จริง ๆ แล้วเราก็ต้องดูที่ผู้ใช้งาน คือผมไม่ได้มีสูตาสำเร็จนะ มันก็ต้องดูว่าโดยไลฟ์สไตล์ของคนที่อยู่ในคอนโดคนนั้น เค้าอยู่แบบไหน บางคนเค้าชอบอยู่กับโซฟาทั้งวัน ดังนั้น โต๊ะกินข้าวจำเป็นเหรอ ? อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ คือบางครั้งคนเราตามสิ่งที่มันมีอยู่ในตลาด คือ เค้าเห็นอะไร เค้าก็ซื้อโดยไม่ตั้งคำถามว่ามันจำเป็นต้องมีหรือเปล่า


คุณเปิ้ล : ไม่เคยกินข้าวบ้านเลย แต่มีโต๊ะกินข้าวอะไรแบบนี้


คุณเอ็กซ์ : คือบางครั้ง คนที่ทำห้องตัวอย่าง ก็ทำห้องสำหรับใครก็ไม่รู้ กลาง ๆ ไว้ก่อน เค้าคงไม่กล้าทำอะไรแปลก ๆ ออกมา แต่จริงๆ แล้วห้องนั้น ถ้ามันเป็นห้องที่เราอยู่จริง ๆ เราก็น่าจะรู้ว่าเราใช้อะไรบ้าง แล้วเรากล้าที่จะมีเท่าที่เราต้องใช้หรือเปล่า คือที่เรามีน้อยนี่ แต่เราจะมาบอกว่าอยากมีทุกอย่างเหมือนกับห้องตัวอย่าง แต่ไม่ได้ใช้ บางอย่างมันอาจจะตั้งไว้เฉย ๆ โดยไม่เกิดประโยชน์เลยก็ได้ ทำไมเราไม่มองกลับไปอีกทีว่าเราต้องการอะไรบ้าง แล้วอะไรที่มันตอบโจทย์การใช้งานของเราจริง ๆ




คุณเปิ้ล :
ต้องถามตัวเองเยอะนิดหนึ่ง ว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร แล้วเราก็จะได้คำตอบเองว่าเราต้องการอะไรบ้าง


คุณเอ็กซ์ : เฟอร์นิเจอร์สำหรับคอนโดเองก็ไม่จำเป็นต้องเป็นของชิ้นเล็ก ๆ เสมอไป ถ้าสมมติเราบอกว่าเราอยู่กับโซฟาเยอะ โซฟาเรามีขนาดใหญ่ก็ได้นี่ แล้วเราก็ไปลดอย่างอื่นที่จำเป็นกับเราน้อยกว่า มันก็เป็นไปได้ครับ มันไม่ใช่หมายถึงว่า อยู่คอนโด ห้องขนาดเล็ก มันต้องมีของทุกอย่าง แต่ชิ้นเล็ก ๆ เล็กที่สุดเท่าที่จะหาได้ โซฟา Love Seat นั่งได้สองคน นอนก็ไม่สบาย โต๊ะกินข้าวก็ต้องมีเล็ก ๆ ทุกอย่างเล็กไปหมด แบบนั้นเราก็อาจจะสงสัยว่ามันเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีจริงหรือเปล่า ? แต่บางคนเค้าชอบแบบนั้นนะครับ เค้าก็ต้องการแบบนั้น แต่กับบางคนเขาก็ลืมคิดไปว่าเราอาจจะไมไ่ด้เหมาะกับอะไรแบบนั้น


คุณเปิ้ล : กับอีกมุมหนึ่ง เราออกแบบของที่มึคุณภาพ ที่เราเลือกใช้ไม้จริง และใช้เหล็ก เป็นส่วนใหญ่ เพราะเราเชื่อว่าเฟอร์นิเจอร์ไม่ควรต้องถูกเปลี่ยนบ่อย มันควรจะมีความคงทน แล้วพอเราใช้ไม้จริงมันก็จะกลายเป็นว่าสินค้าเราบางคนว่าแพง แต่เราไม่คิดว่ามันแพงคือ มันเป็นราคาที่เหมาะสมกับวัสดุที่ราเลือกใช้ ถ้าเค้ามองว่าเค้าจะเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ทุกสองปี อันนั้นของเราอาจจะแพง แต่ว่าของเราเนี่ยใช้งานได้ยาวนานกว่าแน่นอน ใช้ได้เป็นห้าปีสิบปี คือเรามองแบบนั้น ถ้ามันเกิดชำรุด ไม้จริงของเราก็แค่ขัดผิวทาสีลงใหม่ แค่นั้นก็ได้แล้ว คือไม่ต้องเปลี่ยนทั้งตัวไม่ต้องเปลืองทรัพยากรโลก อันนั้นคือจุดที่เรามอง แต่คนรุ่นใหม่เราไม่รู้เหมือนกันถ้าเค้ามองว่าเค้าจะเปลี่ยนอะไรเร็ว ๆ ใหม่ ๆ อันนั้นก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ คือสินค้าเราอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เค้าซะทีเดียว





คิดว่าจริง ๆ แล้วคนรุ่นใหม่เค้าคงต้องการอะไรที่ฉาบฉวย สะดวก รวดเร็วมากกว่า


คุณเปิ้ล : มีสองกลุ่มนะ ฉาบฉวยก็อันนึง อีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนตัวคิดว่าคนรุ่นใหม่ฉลาดขึ้น คิดเยอะขึ้น มองไกลขึ้น ซื้อของไม่ได้มองแค่แป๊บเดียว


คุณเอ็กซ์ : แล้วเค้าก็อ่านรีวิว คนรุ่นใหม่ต้องการของมีคุณภาพนะครับ คือถ้าจ่ายแพงได้ แต่ว่าแพงแล้วคุณภาพมันคุ้มค่า นั่นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเขา บางทีเรามองว่าของในคอนโด มันต้องเป็นของถูก ๆ หรือเปล่า ต้องเป็นของแบบราคาไม่แพงเรอ จริง ๆ แล้วมันไม่เกี่ยวนะ จริง ๆ แล้วคำถามคือ ของชิ้นนั้นมันคุ้มค่ามั้ย กับสิ่งที่เราใช้งานมันไม่ได้ดูที่ถูกและแพงแล้ว


คุณเปิ้ล : แล้วถูกคืออะไร ถูก ณ วันนี้แต่ใช้ได้แค่ไม่เกินหนึ่งปี อันนั้นควรเรียกว่าแพงนะ


คุณเอ็กซ์ : ใช่ สุดท้ายแล้วมันก็เป็นความคุ้มค่าที่เค้ามองเห็นน่ะครับ ว่าในแต่ละอย่างแล้ว ความคุ้มค่ามันยู่ตรงไหน



เรามองอนาคตของแบรนด์ตัวเองว่าอย่างไร?


คุณเปิ้ล : มีเป้าหมายที่เรา set ไว้เป็น goal นะ เราก็มองว่าเราอยากเป็นโมเดลคล้าย ๆ มูจิ แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะทำของเหมือนมูจินะ แต่แปลว่าเราอยากทำของดีมีคุณภาพและสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนได้ แต่ก็มีสไตล์ในรูปแบบของ Everyday แหละ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ยึดติด บางทีถ้าโลกมันเปลี่ยนสังคมมันเปลี่ยน ผู้ใช้งานเปลี่ยน เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนการออกแบบ โดยคงจุดยืนเดิมคือของดีมีคุณภาพ ของที่ทำให้คนใช้งานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันนี้คือจุดยืนที่เราจะไม่เปลี่ยน แต่ในเรื่องของรูปแบบหรือวัสดุอะไรแบบนี้เรา Open เราไม่ยึดติด


Designer ที่เป็นแรงบันดาลใจ?


คุณเอ็กซ์ : มีดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น Oki Sato ครับ ที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์หลาย ๆ อย่าง รวมไปถึง Siam Discovery ที่ Sato ไปทำ Renovate ให้เค้า แต่เราชอบงานเฟอร์นิเจอร์มากกว่างานอินทีเรีย



Oki Sato นักออกแบบชาวญี่ปุ่นที่ผสมผสานปรัชญาการออกแบบทั้งศาสตร์จากฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้อย่างลงตัว ผลงานของเขาได้รับยอมรับโดยกว้างขวางทั้งจากนักวิจารณ์และศิลปินถึงขั้นที่นิตยสาร Newsweek ได้ยกย่องให้ Sato เป็นหนึ่งใน 100 ชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการเคารพมากที่สุด 

(The 100 Most respected japanese )

งานตกแต่งภายในของ Siam Discovery โดย Studio Nendo 


คุณเปิ้ล : ที่ทำงานของเค้าคือ Nendo Studio แต่ชื่อจริง ๆ เค้าชื่อ Oki Sato เป็นคนก่อตั้งค่ะ





ใช่คนที่ทำเก้าอี้ดัดโครงเป็นเส้นสปีดในมังงะรึเปล่า?


คุณเปิ้ล : ใช่ค่ะ อันนั้นงาน Milan ปีที่แล้ว


ส่วนหนึ่งของเก้าอี้โลหะ 50 ตัวของ Sato ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากลายเส้นสปีดกระตุ้นอารมณ์ตามสไตล์ของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น จัดแสดงไปเมื่อปี 2016 ใน Milan Design week 


คุณเอ็กซ์ : เค้าจะมีไอเดียแปลก ๆ สนุก ๆ แบบนี้เรื่อย ๆ แล้วก็มีมุมมองใหม่ ๆ มากมาย อย่างวันก่อนผมอ่าน Article เกี่ยวกับเค้า เค้าพูดถึงอุปกรณ์เทคโนโลยี ทำไมเราต้องทำให้มันดูเป็นเทคโนโลยีด้วย ? ทำไมเราถึงไม่คิดจะทำให้มันดู Blend เข้ากับบ้านที่เราอยู่ คือมันไม่ต้องโดดเด่นมากได้มั้ย เหมือนกับว่ามันน่าจะ Fit in อยู่กับบ้านของ Grandma ได้ ทำไมอุปกรณ์เหล่านั้นต้องดูโฉบเฉี่ยว ฉับไว กันขนาดนั้น



socket-deer โดย studio nendo ฟอร์มเขาทั้งสามแบบของกวาง ถูกนำมาใช้เป็นที่วางโทรศัพท์ขณะชาร์จกับกำแพง 


คุณเปิ้ล : ซึ่งพออยู่ในบ้านมันก็กลายเป็นเอเลี่ยน แปลกแยกไปจากสภาพแวดล้อม ซึ่งเทคโนโลยีมันก็อยู่ที่เทคโนโลยีน่ะ มันไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ที่ต้องดูเป็นของไฮเทคขนาดนั้น


คุณเปิ้ล : ส่วนเรา เราจะไม่ได้มองแค่วงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เอง เราชอบ Bjarke สถาปนิกเดนมาร์ค ชื่อบริษัท BIG ก็เป็นคนที่ทำงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ มีแนวคิดที่แตกต่างจากคนอื่น แล้วก็กล้าที่จะลองทำอะไรที่คนชอบคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่เค้าก็แก้ปัญหาให้มันเป็นไปได้ ทั้งในเชิงโครงสร้างและดีไซน์



Bjarke Bundgaard Ingels สถาปนิกชาวเดนมาร์ค 


มันจะมีหลายอย่างที่คนเค้านำเสนอมาแล้วมันเป็นไอเดียบ้า ๆ มันทำไม่ได้หรอก ซึ่งตรงนี้น่าสนใจ คนที่มีไอเดีย ครีเอทีฟสร้างสรรค์ ใคร ๆ ก็นำเสนออะไรที่มันไม่เคยมีมาก่อนได้ ใคร ๆ ก็พูดได้ แต่คนที่ทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ อันนั้นคือสิ่งที่เราชื่นชม คือเค้าก็ไปแก้ปัญหาให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ ได้ เช่น ทำโรงงานรีไซเคิลขยะ แล้วเค้าก็พยายามทำโรงงานอันนี้ให้มันรูปลักษณ์ไม่เหมือนโรงงานรีไซเคิลขยะ ซึ่งเค้าไม่ได้ออกแบบแค่ในฟอร์มของสถาปัตยกรรม แต่เค้าลงลึกไปถึงเรื่องเทคนิกของการรีไซเคิล เค้าตั้งคำถามว่าทำไมการรีไซเคิลต้องสร้างมลพิษขึ้น เค้าก็ไปศึกษากลไกเลยว่าควันที่ออกมาจากปล่องมันต้องมีสารคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกินเท่าไหร่ถึงจะไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แล้วเค้าก็ไปออกแบบระบบตรงนั้นเอง



Amaker Bagge โรงงานเผาขยะในโคเปนเฮเกน ที่จะกลายเป็น Landmark ลานสกี และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอนาคต โดยทุก ๆ ครั้งที่มีการเผาขยะครบหนึ่งตัน วงควันสีขาวรูปโดนัทจะลอยขึ้นสู่ฟ้า 


คุณเปิ้ล : มีหลายไอเดียของ BIG เราชื่นชมที่เค้ากล้านำเสนอ กล้าคิด แล้วก็ไปหาวิธีมาทำได้จริง ซึ่งตรงนี้แหละที่คนทั่วไปจะตกม้าตาย คือมีไอเดีย มีความคิดที่จะเปลี่ยน แต่ไม่มีแนวทางและวิธีการที่จะทำได้จริง เราก็เลยมีแรงบันดาลใจเป็น BIG คือถ้าเจอปัญหา แล้วเราบอกว่าเราจะทำ เราก็มีหน้าที่แก้ปัญหา ก็แก้ปัญหาไปสิ จะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นจริงได้


คุณเอ็กซ์ : ซึ่งอีกอย่างหนึ่งที่เราเชื่อคือ ทุกอย่างที่เราออกแบบมาไว้ ปัญหามันมีทางออกน่ะ เพียงแต่ว่าเราเห็นทางออก เห็นคำตอบมันเหรือเปล่า เราเชื่อว่าทุกดีไซน์ที่เราทำออกมา เรามั่นใจว่ามันมีทางออกที่ดีสำหรับคำถามที่ถูกต้อง ถ้าเราตั้งคำถามถูกต้อง มันจะมีคำตอบของมัน



ซึ่งการตั้งคำถามที่ถูกต้องนี่แหละ คือสิ่งที่ยากที่สุด ?


คุณเอ็กซ์ : ใช่ ก็ต้องหาคำถามที่ถูกต้อง แล้วเราก็จะรู้ว่า เราจะแก้ปัญหามันอย่างไร คำถามยิ่งชัด คำตอบก็ยิ่งชัด


คุณเปิ้ล : เราไม่ได้เริ่มต้นจากการจะออกแบบเก้าอี้ ออกแบบโซฟา ไม่ใช่แบบนั้น คำถามคือ คนใช้โซฟาอย่างไร โซฟาตอนนี้ขาดอะไรไป


คุณเอ็กซ์ : ทำไมต้องเป็นโซฟา ? แล้วโซฟามีไว้เพื่ออะไร เราจะค่อย ๆ ตั้งคำถามแบบนี้แหละครับแล้วเราก็ค่อย ๆ ช่วยกันหาคำตอบ


คุณเปิ้ล : ซึ่งสุดท้ายแล้วมันอาจจะไม่ได้ออกมาเป็นโซฟาก็ได้ แต่มันอาจจะเป็นอะไรบางอย่างที่ตอบโจทย์การใช้งานที่เราตั้งคำถามกันไว้ อาจจะกลายเป็น BeanBag สองตัวก็เป็นไปได้ อยู่ที่ว่าเราตั้งคำถามอย่างไร และเรามี Solution อะไรที่อยากทดลอง ณ เวลานั้น ๆ


คุณเอ็กซ์ : เราไม่ยึดภาพของโซฟาว่า โซฟาต้องหน้าตาเป็นโซฟา เมื่อใดที่เรายึดภาพนั้นมันก็จะไม่ไปแล้ว ดีไซน์มันจะไม่ไปไหน สุดท้ายมันก็จะออกมาเป็นโซฟาที่เปลี่ยน Form ไปนิดหน่อย เปลี่ยนที่วางแขน แต่เราก็มองอย่างอื่น แล้วคำตอบมันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นะ ด้วยความที่มันเป็นงาน Design คำตอบมันก็ไม่ได้มีคำตอบเดียว โจทย์นี้เอาไปให้กับนักออกแบบที่ต่างกัน มันก็ได้คำตอบที่ต่างกัน ดังนั้นเราก็เป็นเรา แล้วเราก็มีคำตอบที่เราเอามาให้ได้และเราก็คิดว่ามันเหมาะสมกับลูกค้า แต่บางทีถ้าลูกค้า Feedback มา เราก็เปลี่ยนคำตอบให้ลูกค้าได้ใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าเดิม


คุณเปิ้ล : เราปฏิเสธไม่ได้ เดี๋ยวนี้ Lifestyle เราเปลี่ยนเร็วมาก แต่ก่อน 5 ปีคนเราถึงจะค่อย ๆ เปลี่ยนนิสัย เราเคยติดทีวีกันมาก สองปีมานี้ทีวีหายไปไหนหมดแล้ว บางคนในคอนโดก็ไม่เหลือพื้นที่สำหรับโทรทัศน์แล้ว ซึ่งการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในชีวิตประจำวันของเรา ก็ควรจะต้องตอบโจทย์ครอบคลุมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เช่นกัน เราหยุดนิ่งไมไ่ด้ เราก็ค่อย ๆ ดูไปว่าคนต้องการอะไร อะไรที่ทำให้เค้ามีความสุขมากขึ้นจากสิ่งที่เค้าเปลี่ยนไป ไม่งั้นเฟอร์นิเจอร์มันก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง โต๊ะเก้าอี้ตู้ ถ้าเริ่มต้นจากตรงนั้น มันก็จะไม่ได้เดินหน้าไปไหนเช่นกัน



ติดตามความเคลื่อนไหวของ Everyday Studio ได้ที่ www.everyhttp://www.everyday-studio.com และบนหน้าเพจ www.facebook.com/everydaystudio.furniture/

Photo via http://www.wired.co.uk , www.dezeen.com , www.architectmagazine.com 

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์