รวม 7 สิทธิต้องรู้เรื่องเลือกตั้ง ทำแบบไหนไม่ให้เสียสิทธิ
8 March 2562
นับถอยหลังอีกไม่ถึง 30 วัน ก็จะถึงวันที่หลายคนเฝ้ารอออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกผู้นำประเทศมาบริหารบ้านเมือง แต่ด้วยความที่เราห่างหายกับการเลือกตั้งไปตั้ง 5 ปี ทีม Estopolis จึงรวบรวม 7 สิทธิที่ทุกคนต้องรู้ ก่อนออกไปเลือกตั้งมาฝากกัน ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบสิทธิเพื่อป้องกันรายชื่อตกหล่น และสามารถยื่นเรื่องไม่ใช้สิทธิหากติดธุระสำคัญโดยที่ไม่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองได้อีกด้วย
ใครบ้างที่มีสิทธิเลือกตั้ง ปี 62
คนที่มีสิทธิต้องออกไปเลือกตั้งจะต้องมีสัญชาติไทย หรือได้รับสัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือ 90 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง
ที่สำคัญคือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง หรือสรุปง่าย ๆ ว่า “มีอายุครบ 18 ภายในวันที่ 24 มีนาคม” (คนที่เกิด พ.ศ.2544 ขึ้นไป) ซึ่งตรงอายุนี้เองที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่กำหนดว่าต้องมีอายุครบ 18 ปีในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีเลือกตั้ง
แล้วต้องทำอะไรบ้างก่อนไปใช้สิทธิ?
ก่อนอื่นเลยก็ต้องตรวจสอบรายชื่อว่าเราเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิเลือกตั้งรึเปล่า? โดยตรวจสอบได้ง่าย ๆ จากเอกสารที่ กกต.เขต ส่งรายชื่อคนที่มีสิทธิออกไปเลือกตั้งไปยังเจ้าบ้านทุกหลัง ซึ่งในปีนี้จะได้รับเอกสารภายในวันที่ 3 มีนาคม แต่ถ้าใครอยากตรวจย้ำอีกครั้งเพื่อความมั่นใจว่าเราไม่พลาดตกหล่นไปแน่ ๆ ก็สามารถออกไปตรวจสอบรายชื่อได้ที่ กกต.เขตหน้าหน่วยเลือกตั้งภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ก่อนก็ได้
ทำอย่างไร..ถ้าไม่มีชื่อเราอยู่ในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิ?
อาจจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้างสักเล็กน้อยแบบเล็กน้อยมาก ๆ ที่รายชื่อเราตกหล่นหายไปจากประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ แต่หากเกิดเคสแบบนี้ขึ้นมาจริง ๆ ก็อย่าเพิ่งตกใจ แต่ต้องรีบไปยื่นคำร้องเพิ่มชื่อต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน ซึ่งหากนายทะเบียนตรวจสอบแล้วว่าเราเป็นคนมีสิทธิจริง ๆ เขาก็จะเพิ่มชื่อให้เราและจะแจ้งกลับภายใน 3 วัน
หรือหากมีรายชื่อแปลก ๆ ที่เหมือนไม่ใช่คนในบ้านเราเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้าน ก็สามารถแจ้งเรื่องไปยังนายทะเบียนหรือนายอำเภอ เพื่อให้เขาขีดฆ่าเอารายชื่อนั้นออกได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน เช่นกัน
ถึงจะเป็นคนมีสิทธิ แต่ก็อาจหมดสิทธิถ้าไม่เตรียมหลักฐาน
ถึงแม้เราจะเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิออกไปใช้เสียงลงคะแนนเลือกตั้ง แต่หากไปถึงสนามเลือกตั้งแล้วเกิดลืมพกหลักฐานไปยื่นแสดงตัวก็อาจทำให้เสียสิทธิ แต่ไม่ต้องกังวลเพราะว่าเขาใช้แค่ ‘บัตรประจำตัวประชาชน’ หรือ ‘บัตรหรือหลักฐานทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้’ ขอแค่ที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนของเราชัดเจน เช่น ใบขับขี่ หรือ พาสปอร์ต เป็นต้น แถมยังใช้บัตรประชาชนที่หมดอายุยื่นแสดงแทนก็ได้
แม้ไม่ว่าง แต่ก็มีหนทางไม่ถูกจำกัดสิทธิ
หากวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม เกิดเราติดธุระไม่สะดวกไปจริง ๆ ก็สามารถแจ้งเรื่องที่เราไม่สามารถออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ แค่ทำเป็นหนังสือระบุเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้น ซึ่งตรงนี้เราจะไปยื่นเอง ฝากคนอื่นยื่นแทน หรือจะยื่นผ่านไปรษณีย์ก็ได้ แต่ต้องยื่นเรื่องก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง เพื่อที่เราจะได้ไม่ถูกจำกัดหรือเสียสิทธิทางการเมืองต่าง ๆ ในระยะเวลาอีก 2 ปีหลังจากนี้
จะเป็นอะไรมั้ยหากเราไม่ไปใช้สิทธิ?
อย่าเผลอคิดว่าก็แค่ไม่ไปเลือกตั้ง ครั้งเดียวไม่เป็นอะไร เพราะการที่เราไม่ไปเลือกตั้งก็เท่ากับไม่ทำตามสิทธิและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นคนที่ไม่ไปใช้สิทธิจึงถูกจำกัดสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปยาว ๆ ถึง 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิ ดังนี้
- ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
- ไม่สามารถลงสมัคร ส.ส., ส.ว., สถ., ผถ. กำนัน และผู้ใหญ่บ้านได้
- ไม่สามารถปฏิบัติหน้านี้เป็นข้าราชการทางด้านการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมตรวจสอบรายชื่อว่าเราเป็นหนึ่งในคนที่มีสิทธิ ที่พร้อมจะออกไปใช้เสียงลงคะแนนเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่พลเมือง เพื่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกเสียงร่วมเลือกผู้นำที่ดีมาบริหารประเทศ เพราะการเลือกตั้ง 2562 นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่รอให้ทุกคนออกไปใช้สิทธิกันอย่างพร้อมเพรียง
ที่มาข้อมูล : ect.go.th