รูปบทความ วิธีกันเสียงข้างห้อง และเสียงรบกวนในคอนโด

วิธีกันเสียงข้างห้อง และเสียงรบกวนในคอนโด

มลภาวะทางเสียงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่มีผู้เช่าหรือเจ้าของห้องใดอยากจะเผชิญ ซึ่งปัจจัยในการเกิดเสียงรบกวนหรือมลภาวะทางเสียงเหล่านี้มีอยู่ด้วยกันหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความหนาที่ไม่เพียงพอของวัสดุทำผนัง รูรั่วหรือช่องในฝ้าเพดานหรือผนังที่ชำรุด เป็นประตูให้เสียงเล็ดรอดออกมารบกวน หรือแม้แต่แปลนของอาคารที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการป้องกันเสียงรบกวนจากผู้เช่าอาศัยข้างเคียง

หรือในบางครั้งเอง ตัวเราเองนี่แหละที่กลับเป็นแหล่งกำเนิดเสียงที่ไปรบกวนชาวบ้านเขา เช่นว่าเจ้าของห้องบางรายที่มีหน้าที่การงานหรืองานอดิเรกที่เกี่ยวกับดนตรีหรือการเล่นดนตรี ก็ย่อมต้องใช้เวลากับเสียงดนตรีที่มากกว่าคนที่มีรายได้หรืองานอดิเรกชนิดอื่น หรือสำหรับกรณีของเจ้าของห้องที่รักการสังสรรค์ โปรดปรานการจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ กับเพื่อนอยู่บ่อยครั้ง ก็ย่อมจะเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงและป้องกันเสียงที่ไม่จำเป็นให้หลุดรอดออกไปรบกวนเพื่อนข้างห้องหรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมชั้น

วิธีการในการเก็บและป้องกันเสียงในปัจจุบันมีมากมายหลายหลาก ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและลักษณะของห้อง สำหรับผู้ที่กำลังเดือดร้อนหรือประสบปัญหาจากเสียงรบกวนในห้องคอนโด สามารถพิจารณาวิธีการเหล่านี้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านเสียงรบกวนจากห้องข้างเคียง หรือเพื่อป้องกันเสียงจากห้องตนเองหลุดเร้นออกไปรบกวนคนอื่น ๆ ได้

1. ตรวจสอบเพดานและพื้นที่ผนัง

บางครั้งห้องที่อาศัยอยู่ก็มีรอยรั่วทางเสียงที่เราไม่เคยทราบมาก่อนหากไม่ตรวจสอบ รอยเหล่านี้อาจมาในรูปแบบรอยร้าวจากผนังหรือช่องโหว่บนฝ้าเพดาน ที่คอยทำหน้าที่เป็นช่องให้เสียงเดินทางเข้าออกได้ ทางเดียวที่จะระบุจำนวนและตำแหน่งของช่องโหว่เหล่านั้นคือการลงมือตรวจสอบและซ่อมแซมมัน อาจซ่อมแซมด้วยการอุด ปะ หรือยาแนว ก็ขึ้นอยู่กับพื้นผิววัสดุที่เกิดรอยรั่ว หากเป็นรอยรั่วจากผนังร้าว และกินอาณาบริเวณที่กว้างเกินจะซ่อมแซม อาจใช้วิธีการฉาบผนังใหม่เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงที่มากที่สุด

2. ปิดกั้นเสียงจากช่องว่างบริเวณล่างประตู

อีกตำแหน่งหนึ่งที่หลายคนมักจะมองข้ามไปคือช่องวางขนาดแคบและยาวบริเวณใต้ประตู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่มากสำหรับเสียงที่จะเดินทางลอดผ่านไป นอกจากนั้น เจ้าช่องโหว่นี่บางครั้งยังเป็นตัวการก่อให้เกิดอีกหลายหลายปัญหาเช่นปัญหาฝุ่น , แมลงเข้าห้อง หรือแสงที่ไม่พึงประสงค์เล็ดรอดผ่าน หรือความเย็นจากเครื่องปรับอากาศที่สิ้นเปล่าออกไปจากห้อง วิธีการที่ดีที่สุดในการปิดช่องว่างบริเวณนี้คือติดตั้งอุปกรณ์กั้นประตูที่มีให้เลือกมากมายในท้องตลาด ทั้งแบบโฟม แบบยาง แบบซิลิโคน

3. ติดตั้งวัสดุดูดซับเสียง

เหมาะสำหรับห้องที่ประสบปัญหากับสภาวะเสียงที่รุนแรงเข้มข้น สามารถป้องกันเสียงได้ในระดับดีเยี่ยม วิธีการนี้จะใช้ในห้องปฏิบัติกิจกรรมทางดนตรีทั้งหลาย หากนำมาประยุกต์ใช้กับที่อยู่อาศัยก็ต้องทำการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสไตล์การตกแต่ง หรืออาจบุเพื่อดูดซับเสียงเพียงในบางบริเวณของห้อง

4.เปลี่ยนวิธีการจัดวางเครื่องใช้ที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง

เครื่องเสียง วิทยุ โทรทัศน์ ลำโพงคอมพิวเตอร์ หรือข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ที่เป็นต้นตอสำหรับการกำเนิดเสียง ควรถูกจับโยกย้ายให้ห่างออกจากฝาผนัง เพราะว่าสำหรับอาคารชุดแล้ว ฝาผนังเป็นแหล่งลำเลียงเสียงชั้นดี นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงแหล่งกำเนิดเสียงที่มักจะมองข้ามไปด้วย อย่างเช่น เตียงนอน ควรขยับให้ห่างออกจากผนังเพื่อลดทอนเสียงรบกวนที่จะส่งแรงกระแทกสั่นสะเทือนเข้าหาผนังในเวลาค่ำคืน หรือควรเลือกห้องที่ห้องนอนจะไม่ติดกับห้องครัวของห้องข้าง ๆ

5. เลือกใช้ผ้าเป็นวัสดุตกแต่ง

ผ้าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการใช้เป็นวัสดุดูดซับเสียง เนื่องจากเสียงจะลดความรุนแรงของคลื่นสะท้อนได้หากสัมผัสกับผ้า อาจตกแต่งบางบริเวณที่อยากเพิ่มคุณสมบัติในการดูดซับเสียงด้วยผ้าม่าน หรือบุเก้าอี้และโซฟาโดยใช้ผ้าเป็นวัสดุ หรือปูพรมผืนหนาก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการป้องกันเสียงรบกวน

6. ลดระนาบ ลดการสะท้อน 

หากฝาผนังของห้องใดมีความหนาไม่มาก เสียงสามารถเดินทางลอดผ่านได้ง่าย อีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือการทำลายระนาบของผนังเหล่านั้น เพื่อลดทอนและหักเหคลื่นสะท้อนของเสียง ซึ่งก็มีหลายวิธีการ วิธีที่แนะนำคือการประยุกต์ปรับเปลี่ยนผนังฝั่งนั้นมาใช้ประโยชน์จากมันเอาเสียเลย เช่น การติดตั้งชั้นลอยเล็ก ๆ ไว้สำหรับวางของตกแต่ง หรือติดตั้งเป็นมุมอ่านหนังสือ หรือวางตู้เสื้อผ้าขนาดใหญ่ปิดทับผนังบริเวณนั้นไว้ก็เป็นการลดทอนเสียงที่ดี 

7. เลือกตกแต่งห้องด้วยวอลเปเปอร์หนา 

อีกหนึ่งคุณสมบัติที่น่าสนใจของวอลเปเปอร์ก็คือความสามารถในการดูดซับและลดทอนเสียง ซึ่งปัจจุบัน วอลเปเปอร์มีรูปแบบให้เลือกสรรมากมายตามความต้องการของเจ้าของห้อง การติดวอลเปเปอร์เข้ากับผนังห้องสามรถช่วยดูดซับเสียงสะท้อนได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่เท่ากับการติดตั้งวัสดุในการดูดซับเสียงอย่างเฉพาะเจาะจงอย่างที่ Acoustic Board เป็น ใครที่ต้องการป้องกันเสียงในระดับปานกลาง การติดวอลเปเปอร์เพื่อลดทอนเสียงก็เป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ 

มลภาวะทางเสียงเป็นอีกหนึ่งในภัยใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม ทั้งนี้ หากปล่อยปัญหาเสียงรบกวนในที่อยู่อาศัยจนบานปลายเป็นมลภาวะไปแล้ว สิ่งที่ส่งผลตามมาอย่างแน่นอนก็คือสุขภาพกายและใจของเจ้าของห้อง โดยเฉพาะเจ้าของห้องที่กำลังประสบปัญหากับเสียงรบกวนในเวลากลางคืน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการนอนหลับ เสียงรบกวนจึงเป็นปัญหาที่ทั้งเข้าของห้องและผู้พัฒนาโครงการไม่ควรมองข้าม 

การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ในที่นี้คือแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบโครงสร้างโครงการและการเลือกวัสดุทำผนัง ควรเลือกวัสดุที่มีความสามารถในการดูดซับป้องกันเสียงรบกวนได้ในระดับหนึ่ง และเรื่องของการออกแบบแปลนห้องที่คำนึงถึงทั้งความเป็นส่วนตัวของเจ้าของห้องและเลือกที่จะวางห้องที่ง่ายต่อการเป็นแหล่งกำเนิดเสียงไว้แยกห่างออกจากห้องนอนของยูนิตถัดไป

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์