รูปบทความ อยากเริ่มเปิดร้านต้องทำอย่างไร ให้กระโดดก้าวทันในยุค Covid

เปิดร้านอาหารกันดีกว่า อยากเริ่มเปิดร้านต้องทำอย่างไร ให้กระโดดก้าวทันในยุค Covid

ในวันที่ทุกคนอยู่บ้านกันแบบนี้ หลายคนที่มีฝีมือในการทำอาหารคงปิ๊งไอเดียที่จะเปิดร้านอาหารแบบเดลิเวอร์รี่กันอยู่แน่ ๆ เพราะการเปิดร้านอาหารในสมัยนี้ ไม่ใช่เรื่องยากเลยแม้แต่น้อย เพียงแค่มีความรู้ทาง Social Media เล็กน้อย และฝีมือการทำที่แสนอร่อย ก็เปิดร้านอาหารได้ไม่ยาก

แต่ร้านที่อยู่รอดนั้น จะต้องอาศัยเทคนิคและสิ่งที่เรียกว่า PlatForm เพื่อนำเสนอร้านของเราให้คนอื่นได้รู้จัก วันนี้ ESTO+ ขอมาแนะนำวิธีและเคล็ดลับการเปิดร้านอาหารในยุค Covid-19 ให้ปังแบบก้าวกระโดด ว่าควรทำอย่างไรบ้าง และควรเตรียมตัวอย่างไร


รู้ก่อน มักได้เปรียบเสมอ


ขั้นตอนที่ 1 เตรียมตัว

หาแหล่งวัตถุดิบ

ขั้นตอนแรกของการที่คิดจะเปิดร้านอาหาร คือเราต้องมั่นใจว่า เรามีแหล่งวัตถุดิบ ที่เราสามารถที่จะซื้อหาวัตถุดิบได้ทุกเมื่อที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นตลาด หรือสั่งจาก Supplier และที่สำคัญ ต้องมีราคาที่สมเหตุสมผล ไม่เช่นนั้นล่ะก็ อาจจะขาดทุนโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่เริ่ม


ทำความรู้จักร้าน 

นั่นคือการ รู้จักร้านของตัวเองให้ดีพอ ทั้งเมนูทั้งหมด ราคา สินค้าขายดี จุดเด่น จุดด้อย และจุดที่ต้องพัฒนา ต้นทุน กำไร ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนต้องอาศัยการทำความเข้าใจ และต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อเรารู้จักและเข้าใจในร้านของเราอย่างดีที่สุดแล้ว จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการได้ง่ายยิ่งขึ้น


ศึกษา Platform

ไม่ว่าจะเป็น Platform ทาง Social Media หรือ Platform Application Delivery หรือแม้กระทั่ง Platform ที่จะช่วยบริหารจัดการระบบหลังร้าน ต้องศึกษาให้ดีว่า ร้านของเราเหมาะกับ Platform อะไรบ้าง


รู้จักและรู้ใจลูกค้า

นี่คือข้อที่สำคัญที่สุด เพราะร้านอาหารที่รสชาติอร่อยอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าจะอยู่รอดเสมอไป ถ้าขาดการรู้จักและรู้ใจลูกค้า ต้องศึกษากลุ่มลูกค้าของร้านให้ดี ว่าเป็นกลุ่มลูกค้าแบบไหน มีกำลังซื้อเท่าไหร่ สนใจเทรนด์อะไรในตอนนี้ ต้องเท่าทันเหตุการณ์ และหมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพอาหารให้ตามความต้องการของลูกค้าเสมอ



ขั้นตอนที่ 2 ก้าวสู่โลกออนไลน์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า 80% ของคนในสมัยนี้ รับข่าวสารผ่าน Social Media ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องผ่านโลกออนไลน์ไปซะทั้งหมด ไม่ว่าจะดูหนัง ทำงาน ซื้อของ หรือแม้กระทั่งซื้ออาหาร ในปัจจุบัน คนเลือกที่จะดูรีวิวตามเว็บไซต์หรือแฟนเพจต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ มากกว่าการดูโฆษณาจากทีวีเหมือนแต่ก่อน ทำให้การมีตัวตนบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับร้านอาหารก็เช่นกัน ต้องมีอย่างน้อย 1 แพลตฟอร์มทาง Social Media ที่จะทำให้คนอื่นรู้จักร้านของเรามากขึ้น


ยิ่งรู้จักมาก ยิ่งขายได้มาก


Facebook Fanpage

ที่มา: https://www.facebook.com/

Facebook เป็น Platform เบสิคที่ควรมี เพราะคนไทยเล่น Facebook มากถึง 47 ล้าน Account นั่งหมายความว่า มีโอกาสที่คนมากมายจะรู้จักร้านอาหารของเราผ่าน Facebook โดยข้อมูลพื้นฐานของร้านที่ควรจะมีใน Facebook fanpage คือ

  • รูป Profile เป็น Logo ร้าน
  • รูป Cover ที่บ่งบอกตัวตนของร้าน (มีข้อมูลเล็กน้อย เช่น เบอร์โทร/เวลาเปิด-ปิด)
  • แก้ไขข้อมูลพื้นฐานของร้านให้ชัดเจน ทั้งช่องทางการติดต่อ ช่องทางการสั่งซื้อ

Content ที่ควรมีในหน้า Feed ของร้าน

  • เมนูของร้าน ที่มีรูปถ่ายสวยงาม และบอกราคาให้ชัดเจน
  • โปรโมชั่นพิเศษของร้าน
  • รีวิวจากลูกค้า
  • ต้องบอกช่องทางการติดต่อ และวิธีการสั่งซื้อให้ชัดเจนทุกครั้ง

นอกเหนือจากนี้ Facebook ยังสามารถลง Content ลูกเล่นอื่น ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ หรือ Live ที่เราสามารถโต้ตอบกับลูกค้าได้แบบ Realtime 


อีกหนึ่งฟังก๋ชั่นที่น่าสนใจของ Facebook คือ การโฆษณา หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า Boost Post นั่นคือ การเสียเงินซื้อโฆษณา เพื่อให้ Fanpage ของเรา ไปปรากฎบนหน้า feed ของคนอื่น ช่วยให้คนอื่น ๆ สามารถรู้จักร้านของเราได้มากขึ้น

โดยการ Boost Post นี้ยังสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนได้ เช่น ถ้าร้านของเรานั้นขายชานมไข่มุก อยู่ย่านลาดพร้าว ก็สามารถ Set ค่ากลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น อายุ 15-30 ปี ละแวกลาดพร้าว ทำให้เราได้กลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจำนวนคนที่จะสามารถเข้าถึง Post ของเรา ขึ้นอยู่กับ Budget ที่เราตั้งไว้นั้นเอง


Instagram

ที่มา: https://en.wikipedia.org/

Instagram เป็นช่องทางที่เหมาะกับร้านที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น เพราะคนที่ใช้ Instagram ส่วนมากเป็นวัยรุ่น นอกจากนี้ ยังจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถโชว์รูปอาหารสวย ๆ ของที่ร้าน ให้คนรู้จักได้แพร่หลายมากขึ้น และยังจะช่วยทำให้ร้านดูเข้าถึงง่ายมากขึ้นอีกด้วย 

ซึ่งฟังก์ชั่นของ Instagram ก็ใช้งานไม่ยาก เริ่มจากต้องใส่ข้อมูลพื้นฐานของร้านให้ครบถ้วนเสียก่อน เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพื่อที่คนจะได้รู้จักร้านเราได้ง่าย หลังจากนั้นก็เริ่มโพสต์รูปสวย ๆ ได้เลย และนอกจากการลงรูปธรรมดา ๆ แล้วนั้น Instagram ยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ ให้เล่นได้อีกเพียบ

  • IG Story เป็นโพสต์สั้น ๆ จะเป็นรูปหรือเป็นวิดีโอก็ได้ ซึ่งวิดีโอจะมีความยาวไม่เกิน 15 วินาทีต่อ 1 โพสต์ ซึ่ง IG Story จะมีอายุ 24 ชั่วโมง เหมาะกับการลง Content แบบ Real time
  • Location เมื่อเราโพสต์รูปในหน้า IG หลัก หรือลงผ่าน IG Story ควรที่จะใส่ Location ของร้านได้ทุกครั้ง เพราะเมื่อกดเข้าไปดูใน Location แล้ว จะสามารถเห็นได้ว่า มีใครเคย Check-in ที่ Location นี้บ้าง และอาจจะเจอรูปอาหารสวย ๆ ที่ลูกค้าถ่ายและโพสต์ไว้ คนอื่น ๆ สามารถนำไปเป็นไอเดียถ่ายตาม ทำให้คนอาจจะอยากซื้อสินค้ามากขึ้น
  • Hashtag การใส่ # หรือแฮชแท็ก ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ลูกค้าเห็นร้านเราได้ง่ายขึ้น โดยจะต้องเลือกแฮชแท็กให้เหมาะสมกับสินค้าในร้าน เพื่อที่จะได้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน


LINE Official Account


ที่มา: https://aisdc.ais.co.th/


Line Official Account เป็นช่องทางง่าย ๆ สำหรับการสั่งซื้อ เพราะใคร ๆ ก็ใช้ Line ในการพูดคุยสื่อสารกันทั้งนั้น โดย Line Official Account มีฟังก์ชั่นมากมายที่ซัพพอร์ตการชายสินค้าได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญก็คือ สามารถใช้งานได้ฟรีอีกด้วย

  • Greeting Messege เมื่อลูกค้า add เรามาในครั้งแรก สามารถมี Greeting Massege ทักทาย กับลูกค้าได้
  • Auto Reply สามารถสร้างข้อความตอบกลับอัตโนมัติได้
  • Broadcast สามารถส่งข้อความไปถึงทุก User ที่เรามีได้ในครั้งเดียว เหมาะแก่การแจ้งโปรโมชั่นใหม่ ๆ
  • สามารถ Add คูปอง โปรโมชั่นพิเศษของร้านได้ เก็บสะสมแต้มได้



ขั้นตอนที่ 3 เดลิเวอร์รี่คือฮีโร่

เพราะการเปิดร้านอาหารในยุค Covid-19 ต้องอาศัยการเดลิเวอร์รี่ 100% การหา Partner เป็น Application เดลิเวอร์รี่ ก็เป็นสิ่งที่เราควรต้องทำ และนอกจากนี้ Food Delivery จะสามารถช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นได้ แต่การทำการตลาดกับ Application Food Delivery มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมาก คือ ค่า GP หรือ Gross Profit ที่เราจะต้องเสียให้กับทาง Application ต้องคำนวณเข้าไปในต้นทุนด้วย ไม่อย่างนั้นล่ะก็ ถึงยอดขายจะพุ่งสูง แต่ถ้าคำนวณยอด GP ไม่ดี อาจจะกลายเป็นว่าได้ไม่คุ้มเสีย



ขั้นตอนที่ 4 จัดการหลังบ้านให้เป็นระบบ

เมื่อร้านอาหารของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีออเดอร์เข้ามาเยอะมากขึ้น ทำให้การจัดการด้วยวิธีแบบ Manual อาจจะเกิดการผิดพลาดได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเกิดระบบ POS ขึ้นมา ซึ่งหลายคนอาจจะงงว่า ระบบ POS คืออะไร 

ระบบ POS ก็คือ ระบบขายหน้าร้าน ชื่อเต็มของ POS คือ Point of sale ซึ่งหมายถึง จุดขายหรือจุดชำระเงิน ตรงแคชเชียร์ ซึ่งนำหลักการของเครื่องคิดเงิน (Cash Register) มาเขียนโปรแกรมพัฒนาบนคอมพิวเตอร์ แล้วเพิ่มเติมความสามารถต่างๆที่เครื่องเก็บเงินทำไม่ได้ เช่น สามารถตัดสต็อกได้ ดูความเคลื่อนไหวต่างๆของสินค้า หรือ ระบบสมาชิก ตลอดจนดูข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ท ซึ่งความสามารถเหล่านี้ เครื่องเก็บเงินไม่สามารถทำได้

ซึ่งข้อดีของการมีระบบ POS นั้น จะทำให้เราเห็นภาพรวมของรายได้ของร้านชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งการคำนวณรายรับ-รายจ่ายอย่างเป็นระบบ การเช็คสต็อกสินค้าที่มีอยู่ ว่าควรสั่งสินค้าเพิ่มหรือไม่ หรือการคาดการณ์ยอดขายแบบคร่าว ๆ และยังสามารถวางแผนได้ว่า เมนูไหนที่ขายดี ควรลงทุนพัฒนาเพิ่ม เมนูไหนที่ยอดขายน้อย ควรตัดออกเพื่อลดต้นทุน



เปิดก่อน... ได้เปรียบ


ทั้งหมดนี้คือ 4 ขั้นตอนที่เราควรรู้ ก่อนที่จะคิดเปิดร้านอาหาร ยิ่งในช่วงวิกฤต Cocid-19 นี้แล้วล่ะก็ ความรู้และเทคนิคทั้งหมดนี้สำคัญมาก ที่จะพัฒนาร้านแบบก้าวกระโดด เท่าทันร้านอื่น ๆ การศึกษาได้ก่อน เปิดก่อน จะได้เปรียบเสมอ เพราะเวลาเป็นสิ่งที่รอไม่ได้





เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์