รูปบทความ จ่ายค่ารถเมล์ ไม่จำเป็นต้องควักเงิน วิธีใดบ้างให้เราจ่ายง่ายมากขึ้น

จ่ายค่ารถเมล์ ไม่จำเป็นต้องควักเงิน วิธีใดบ้างให้เราจ่ายง่ายมากขึ้น

การเดินทางกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่มีความเร่งรีบและต้องแข่งกับเวลาอยู่ตลอด ทำให้การเดินทางกลายเป็นปัจจัยในการเลือกสถานที่ทำงานและที่อยู่อาศัยไปด้วย หนึ่งในบริการขนส่งมวลชนที่ผู้คนเลือกใช้กันมากคือ รถโดยสารประจำทางหรือที่เรียกกันว่า ‘รถเมล์’


รถเมล์เป็นขนส่งครอบคลุมหลายพื้นที่ทั้งในตัวเมืองใหญ่และแถบชานเมือง และยังมีราคาถูกอยู่ที่หลักสิบบาท เพราะฉะนั้นการจ่ายค่าโดยสารจะเป็นในรูปแบบเหรียญกับแบงค์เล็ก ในบางครั้งที่รถเมล์เต็มไปด้วยผู้คนเบียดเสียด การล้วงมือลงไปหยิบเหรียญจากส่วนลึกสุดของกระเป๋าเพื่อมาจ่ายคงเป็นสิ่งที่ทำให้ปวดหัวมานักต่อนัก


ทำให้ในปัจจุบันมีการคิดและออกแบบช่องทางใหม่ๆ สำหรับจ่ายค่าโดยสาร โดยจะเป็นช่องทางไหนบ้างนั้นและทำให้เราสะดวกมากขึ้นจริงหรือไม่ ลองมาศึกษาข้อมูลกันในบทความนี้ดู


ระบบ QR CODE

เมื่อกลางปีที่แล้ว ขสมก. ได้เปิดทดลองโครงการ โครงการรับชำระค่าโดยสารผ่านคิวอาร์โค้ด (QR CODE) บนรถโดยสารปรับอากาศแอร์พอร์ตบัส (Airport Bus) โดยเริ่มต้นใน รถประจำทางสาย A1 ดอนเมือง-หมอชิต 2 จำนวน 16 คัน ผลตอบรับที่ออกมาเรียกได้ว่าดีมาก โดยเฉพาะผู้โดยสารวัยทำงาน เพราะเป็นวัยที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสามารถใช้ระบบคิวอาได้ และต้องการความรวดเร็ว


ในขณะที่ความลำบากจะตกไปยังผู้สูงอายุที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีไม่สามารถที่จะเปิดแอพพลิเคชั่นของธนาคารขึ้นมาเพื่อให้กระเป๋ารถเมล์สแกนคิวอาร์โค้ดได้ และยังชอบการจ่ายเป็นเงินสดมากกว่า ความลำบากซ้ำสองจึงตกไปยังกระเป๋ารถเมล์ จากปกติถือแค่กระบอกเก็บเงินอย่างเดียว กลายเป็นต้องถือทั้งเครื่องสแกนคิวอา และยังต้องถือกระบอกเก็บเงินด้วย ลองคิดสภาพเวลาผู้โดยสารเต็มคันรถ กระเป๋ารถเมล์ต้องเดินเบียดไปมาเพื่อเก็บค่าโดยสารให้ครบ


ข้อดี ของการจ่ายค่าโดยสารผ่านระบบคิวอาร์ คือไม่ต้องพกเงินสด สะดวกรวดเร็ว ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทอน และสามารถลดปัญหาอาชญากรรมจากการฉกชิงวิ่งราวอีกด้วย อีกหนึ่งผลประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการคือ ทุกวันนี้รถเมล์เก็บค่าบริการต่ำกว่าต้นทุนทำให้ขาดทุนหลายแสนล้านบาท จากการศึกษาพบว่าลูกค้าจะยินยอมจ่ายมากขึ้นเมื่อเป็นการใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มค่าโดยสารได้เพื่อลดการขาดทุนในส่วนนี้ และสามารถนำเงินไปพัฒนาระบบรถเมล์ต่อไป


ส่วนข้อเสียที่น่าจะแก้ไขยากคือ เรื่องของการทำให้ผู้โดยสารทุกคนหันมาใช้ระบบคิวอาร์ทุกคน เพราะยังมีส่วนที่พอใจจะจ่ายเงินสดอยู่และไม่สามารถบังคับให้หันมาใช้ระบบคิวอาได้ การพัฒนาระบบส่วนนี้จึงเดินหน้าไม่เต็มที่เท่าที่ควร


บัตรต่างๆ

ที่จริงมีการพูดและโฆษณามานานมากแล้วเรื่องการใช้บัตรในการจ่ายค่าโดยสารแทนเงินสด แต่ไม่มีการใช้จริงเกิดขึ้น(สักที) จนเมื่อเดือนเมษาฯ ที่ผ่านมาได้มีการเริ่มต้นใช้ระบบบัตรแทนการใช้เงินสด โดยจะทดลองใช้ในรถเมล์เฉพาะสาย 510 ทุกคัน และไม่มีการรับเงินสดในรถเมล์สายนี้เลย บัตรที่จะเปิดให้ใช้ได้ คือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรเครดิต เดบิตแบบ Contactless ธนาคารส่วนใหญ่หันมาใช้บัตรระบบนี้แล้ว ในตัวรถเมล์จะมีเครื่องสแกนบัตรและตัดค่าโดยสารอัตโนมัติ


ข้อดีของระบบการใช้บัตรของธนาคารต่างๆ คือไม่ต้องพกบัตรหลายใบ บัตรใบเดียวจ่ายได้ทุกอย่าง และมีความสะดวกรวดเร็วมากเพียงสแกนไม่กี่วินาที


บัตรเติมเงิน ขสมก.

ข้อนี้จะคล้ายกับข้อด้านบน บัตรนี้เป็นบัตรเติมเงินที่ทาง ขสมก. ออกมาให้ผู้ใช้บริการสามารถเติมเงินเข้าบัตรเพื่อใช้จ่ายค่าโดยสารได้ทันที โดยสามารถเติมเงินได้ 3 วิธี คือ เติมเงินผ่าน Mobile Banking ของทุกธนาคาร,เติมเงินผ่านตู้ ATM ของทุกธนาคาร, เติมเงินผ่านเคาน์เตอร์ ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา โดยน่าจะสะดวกสำหรับผู้ที่ไม่มีบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเริ่มเปิดให้ทดลองใช้บนรถเมล์สาย 510 เป็นที่แรกเช่นเดียวกับ บัตรเครดิต เดบิต


แล้วบัตรแมงมุมล่ะ?


ในปัจจุบันบัตรแมงมุมยังไม่สามารถใช้จ่ายค่าโดยสารบนรถเมล์ได้ สามารถจ่ายค่าโดยสารได้เพียงรถไฟฟ้าใต้ดินเท่านั้น และจากกระแสข่าวมีแนวโน้มว่าบัตรแมงมุมจะไม่สามารถใช้จ่ายค่าโดยสารรถเมล์ได้อีกแล้ว ทำให้ทางขสมก. ต้องออกบัตรเติมเงินมาใช้สำหรับจ่ายค่าโดยสารโดยเฉพาะ สำหรับใครที่สะดวกวิธีไหนลองเลือกใช้วิธีที่สะดวกสบายที่สุดสำหรับตัวเองเพื่อที่ชีวิตในการไปทำงานตอนเช้าหรือกลับบ้านในตอนเย็นของเราจะได้สุขสบายขึ้น


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่อยากลำบากขึ้น 'รถเมล์' มาดู 3 ทำเล 'เดินเท้า' ถึงได้สะดวก

100 กว่าปีรถเมล์ ย้อนดูอดีตที่ส่งผลสู่ปัจจุบันของประวัติค่าเดินทางชาวกรุง

‘รวมร่าง แต่ไม่รวมราง’ ความคืบหน้าของบัตรแมงมุมวันนี้


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์