‘บางรัก' น่ารักกว่าที่คิด กลิ่นอายความคิดถึงที่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา
12 February 2563
ถ้าพูดถึง 'บางรัก' จะนึกถึงอะไรเป็นอันดับแรก?
ถ้าพูดถึง บางรัก จะนึกถึงทำเลชุมชนเก่าร่วมสมัย
สำหรับเราบางรักเป็นเหมือน Niche Location ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และโดดเด่นด้วยตัวของมันเอง ซึ่งจากเดิมบริเวณบางรักเคยเป็นชุมชนเก่าที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งไทย-จีน-ยุโรป-ตะวันออกกลาง ก่อนจะพัฒนาปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้มีความร่วมสมัยตามกาลเวลา จนกลายมาเป็นย่านการค้า และศูนย์รวมความเจริญหลาย ๆ ด้านอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
ซึ่งต่อให้เวลาจะผ่านมา 100 กว่าปี 'บางรัก' ก็ยังคงเป็นทำเลที่คนภายนอกอยากเดินทางเข้ามาทำความรู้จัก ทั้งด้านประวัติความเป็นมาที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงพระราชทานพื้นที่บริเวณวัดกาลหว่าร์ หรือวัดแม่พระลูกประคำให้กับผู้นับถือศาสนาคริสต์ ก่อนจะมีชาวจีนและชาวตะวันออกกลางย้ายมาตั้งถิ่นฐานพร้อมทำการค้าในละแวกเดียวกัน ทำให้บางรักกลายเป็น "ย่านเศรษฐกิจ" ที่ผสมผสานทั้งด้านสังคม, ศาสนา, ภาษา และวัฒนธรรมมาตั้งแต่ตอนนั้น เอาเป็นว่า... ให้ภาพมันเล่าเรื่องจะดีกว่า
ศุลกสถาน Old Customs House : สถานที่พบปะบรรดาทูต และพ่อค้าวาณิชในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ปัจจุบันยังคงตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางโรงแรมสูงสมัยใหม่
ศุลกสถานได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี กลายเป็น Creative point ที่แม้โครงสร้างบางส่วนจะผุกร่อนตามกาลเวลา แต่ก็ยังได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ และมักมีงาน Exhibition แวะเวียนเข้ามาขอใช้สถานที่ ทำให้เราสามารถเข้าไปสัมผัสเสน่ห์ภายในสถานที่แห่งนี้ได้เรื่อย ๆ
บ้านเลขที่ 1 : บ้านเก่าแก่หลังแรกที่มีรหัสไปรษณีย์ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปนีโอคลาสสิก ผสมรวมกับหลังคาทรงปั้นหยา ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความรุ่งเรือง ความร่วมสมัยในซอยกัปตันบุช ย่านเก่าแก่ของชุมชนชาวยุโรป
อาสนวิหารอัสสัมชัญ : สัญลักษณ์ความหลากหลายทางศาสนา ที่มีอายุยาวนานกว่า 200 ปี แต่ทุกวันนี้ผู้คนก็ยังแวะเวียน เข้ามาชมความสวยงามของสถานที่แห่งนี้อยู่ตลอดเวลา
ย่านไลฟ์สไตล์ Meeting point ของคนทุกยุคสมัย
"และเมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญก็เริ่มขยับเข้ามาในพื้นที่นี้มากขึ้น" ทั้งจากทางฝั่งตลาดน้อยที่ขณะนั้นมีชาวจีนอาศัยอยู่มาก, ทางฝั่งสีลม-สาทรก็มีนักธุรกิจชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจ เข้ามาลงทุนจัดตั้งบริษัทกันมากมาย ซึ่งในย่านบางรักเองก็มีการปรับตัวตามช่วงเวลา มีความหลากหลายวาไรตี้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม เช่น ‘โรงหนังปรินซ์ รามา’ โรงภาพยนต์ที่เคยเลื่องชื่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
และทุกวันนี้ สถานที่เหล่านี้ก็ได้ผ่านการปรับปรุงสร้างใหม่ ให้มีความ Unique ร่วมสมัย จากโรงหนังที่ฉายตั้งแต่หนังเงียบภาพขาวดำ ก็เปลี่ยนเป็นหนังควบแบบวน
จนในที่สุดก็พัฒนาเป็น "Prince Theatre Heritage Stay" ที่พักสไตล์ Boutique Hotel ที่พยายามเก็บเศษเสี้ยวความทรงจำของโรงหนังเก่าเอาไว้ให้มากที่สุด
ซึ่งไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ หรือย่านใกล้เคียงเท่านั้นที่หลงรักบางรัก เพราะแม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งยุโรป-จีนก็ต่างหลงรักที่นี่ไปเป็นที่เรียบร้อย
ถ้าพูดถึง บางรัก จะนึกถึง Residential Area
ปัจจุบัน ‘ทำเลบางรัก-เจริญกรุง’ มีราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ประมาณ 200,000 - 500,000 บาท/ตารางวา โดยปัจจัยส่วนหนึ่งที่นอกจากความเจริญของตัวพื้นที่เองแล้ว ก็มาจากบริบทรอบข้างที่มีความสมบูรณ์แบบเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นด้านตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งจะอยู่ใกล้กับศูนย์กลางเศรษฐกิจ Real CBD ของกรุงเทพฯ ขยับไปแค่ 1.5 กิโลเมตรก็ถึงสีลม หรือแค่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปก็จะเจอย่านเพื่อนบ้าน อย่าง เจริญนครแล้ว
ด้านการคมนาคมครบถ้วนด้วยรถไฟฟ้า-เรือโดยสาร-รถสาธารณะ ส่วนบรรยากาศการอยู่อาศัยก็ดูจะสงบและเรียบง่ายกว่าพื้นที่อื่น ๆ ใกล้เคียง
แถมยังได้ทัศนียภาพติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีผู้พัฒนาหลายเจ้าที่หยิบเอาความได้เปรียบนี้มาเป็นจุดขายให้กับโครงการของตนเอง
ต้องบอกว่า… บางรักเหมาะกับการอยู่อาศัยทุกรูปแบบมาแต่ไหนแต่ไร อย่างตอนนี้แม้เวลาจะเข้าสู่ปี 2563 แต่เราก็ยังจะได้เห็นโรงแรมดังที่ยังคงสถาปัตยกรรมเก่าร่วมสมัยเอาไว้มากมาย
และโดยส่วนใหญ่ ก็จะเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นไป เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการพื้นที่พักผ่อน กับนักลงทุนที่อยากได้ที่พักใกล้รถไฟฟ้า ใกล้สถานที่ทำงานแบบเดินทางสะดวก
นอกจากนี้ คอนโดบริเวณเจริญกรุง-สะพานตากสินเองก็ต่างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามการเปิดตัวของโครงการเมกะ โปรเจกส์และสถานที่แลนด์มาร์ก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้บางรักมีความเป็น Residential Area มากขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ย่านเจริญกรุง-เจริญนคร หรือถนนจันทน์ก็สามารถแวะเวียนมาเปลี่ยนบรรยากาศที่ "บางรัก" กันได้ง่าย ๆ
ถ้าพูดถึง บางรัก จะนึกถึงร้านอาหารเก่าเจ้าอร่อย
น่าจะเกือบ 80% ที่ผู้คนรู้จักชื่อบางรักผ่านร้านอาหาร ของอร่อย ที่มีให้เลือกชิมกันตลอดทาง ทั้งแบบ Street Food, ร้านเก่าแก่ และร้านแนะนำระดับมิชลินสตาร์
เปิดต่อมรับสัมผัสกับ 'ประจักษ์ เป็ดย่าง' ตำนานความอร่อยประจำบางรัก ที่เปิดขายมานานกว่า 100 ปี และเมนูเลื่องชื่อก็หนีไม่พ้นเป็ดย่างเนื้อนุ่ม หนังกรอบ ราดน้ำซอสหอม ๆ รสชาติเข้มข้น
โดยเฉพาะ บะหมี่เป็ดย่าง ใครมาแล้วไม่ได้ท่าน ถือว่าพลาดมากกกก
มาบางรักทั้งทีก็อย่าลืมแวะ 'โจ๊กปรินซ์' เมนูอาหารเช้าขวัญใจคนบางรัก ที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน, คนทำงาน หรือคนเฒ่าคนแก่ก็ต้องออกมาทานกันตั้งแต่เช้า เพราะถ้ามาสายกว่า 11 โมงแล้วละก็ อดกินแน่นอน
ส่วนใครที่อยากหาอะไรง่าย ๆ รองท้อง ระหว่างทางเดินออกจากบ้านไปทำงาน ก็มีร้านอาหารดัง ๆ ตั้งขายอยู่มากมาย ทั้งอาหารจานเดียว, ก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ , ขนมของทานเล่น Street Food เรียกว่า เยอะจนเลือกทานไม่ถูกเลย
ถ้าพูดถึง บางรัก จะนึกถึง Exhibition & Art gallery
กลับกัน หากถามคนรุ่นใหม่ว่าบางรักมีอะไรบ้าง? เกือบ 90% ก็จะต้องตอบว่า TCDC หรือไปรษณีย์กลาง บางรักก่อนเป็นอับดับแรก ๆ ซึ่งสถานที่ตรงนี้เองก็ไม่ต่างจากจุดเช็ก อิน เพื่อบอกให้รู้ว่าคุณได้เดินทางมาถึงบางรักแล้วนะ
นอกจากนี้ก็ยังมี "พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก" สถาปัตยกรรมบ้านเรือนไทย 4 หลังที่ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 43
ภายในเต็มไปด้วยเรื่องราว ความทรงจำ รวมถึงอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ ที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6-7 เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตสมัยรุ่นปู่ รุ่นย่า
รวมมุม Art Street รอบบางรัก
: และหากกำลังสงสัยต่อว่า 'ทุกวันนี้ บางรักหยุดพัฒนาแล้วหรือยัง?'
ก็อาจจะบอกได้ว่า... ตราบใดที่เวลายังคงเคลื่อนไปข้างหน้า ที่ดินก็ยังคงเหลือที่ว่างให้ใช้ประโยชน์ได้อยู่ ทำเลบางรักก็ยังคงเติบโตได้อีกเรื่อย เรื่อย~
เริ่มสังเกตจากพื้นที่ด้านข้างสถานี BTS ตากสิน ที่กำลังมีการปรับปรุงพื้นที่รอบศูนย์บริการคมนาคมอยู่ ณ ขณะนี้ ตลอดจนการเปิดตัวของโครงการ เมกะโปรเจกส์ที่ได้รับความสนใจตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ไหนจะข่าวการขยายตัวเฟส 2 ของศูนย์การค้า 2 เจ้าใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับผู้อยู่อาศัย นักลงทุน และผู้พัฒนา เพราะปัจจุบันพื้นที่เกือบทุกตารางเมตรของ "บางรัก" ก็ครบครับแทบจะทุกด้านแล้ว แต่ถ้าจะมีอะไรมาช่วยเติมเต็มศักยภาพทำเลนี้ให้มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ก็ดูจะเป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อยเลย