รูปบทความ กลับมาทำไม PM 2.5 ปัญหาฝุ่นละอองที่อาจต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการข้ามผ่าน

กลับมาทำไม PM 2.5 : มาตรการรับมือฝุ่นละออง ที่อาจต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการข้ามผ่าน

จนถึงตอนนี้ปัญหา #ฝุ่นละออง PM 2.5 ก็ยังไม่หมดไป ตามหลอกหลอนคนกรุงเทพอยู่ทุกย่างก้าว และล่าสุดประเทศไทยก็ได้ติดอันดับ 10 ของโลกที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 มากที่สุด โดยมี 'กรุงเทพ' กับ 'เชียงใหม่'  ขึ้นอันดับ 7 และ 1 ของเมืองฝุ่นพิษไปเป็นที่เรียบร้อย


ที่มา: twitter.com/greenpeaceth



หากเรายังสูดอากาศพิษนี้เข้าไปเรื่อยๆ จะเป็นอย่างไร?


ที่มา: https://www.stateofglobalair.org/data/#/air/plot


แรกเริ่มเดิมที...ประเทศไทยมักชินชากับควันดำท่อไอเสียของยานพาหนะต่างๆ จนไม่ได้มีมาตรการป้องกันที่ชัดเจน ไหนจะการเผาไหม้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร ที่ปัจจุบันกลายเป็นห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมเกษตรไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิต และโรงงานผลิตไฟฟ้า ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิด PM 2.5


และคงไม่มีใครทันคาดคิด ว่าเจ้าฝุ่นละอองเล็กๆ ขนาด 2.5 ไมครอนนี้ จะคร่าชีวิตคนไทยได้ประมาณ 37,500 คนในปี 2558 ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคปอดอุดตันเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดในสมอง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนล่าง 


ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 บริเวณแยกอสมท., ถนนรัชดาภิเษก, พระรามเก้า-อโศก และเตาปูน


และจากค่า AQI เฉลี่ย 24 ชั่วโมงก็จะพบว่า หลายจุดในกรุงเทพมหานครยังคงมีค่าสูงกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 


อากาศบริสุทธิ์ สิทธิขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนควรได้รับ

ความจริงแล้วก็ไม่ใช่แค่ไทยเพียงประเทศเดียว ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ แต่หลายเมืองใหญ่ก็เคยประสบปัญหาเช่นกัน และมีมาตรการออกมาจัดการกับฝุ่นพิษเหล่านี้กันแล้ว


มาตราการทั่วโลก กับ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

  • เกาหลีใต้ : เริ่มที่ประเทศใกล้บ้านเรา ที่อนุมัติให้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราว 8 แห่ง เป็นเวลา 4 เดือน และมีแผนจะปิดโรงงานเก่าถาวรอีกภายใน พ.ค. 2563 เพื่อลดการปล่อยแก็สคาร์บอนไดออกไซต์ลง


  • กรุงนิวเดลี (อินเดีย) : ออกนโยบายให้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ รวมถึงรถ SUV ที่มีแรงม้ามากกว่า 2,000 CC และรถแท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซลหยุดวิ่ง นอกจากนี้ยังจะมีการทดลองให้รถหยุดวิ่งในวันคี่ หรือวันคู่ เพื่อกระตุ้นให้คนใช้รถสาธารณะทางอ้อม


  • ออสโล (นอร์เวย์) : ขยับไปฝั่งยุโรปก็โดนเรื่องมลพิษไม่น้อย จึงวางแผนจัดโซน "ปลอดรถใหญ่" และเริ่มทำทางรถจักรยานระยะทางรวมกว่า 40 ไมล์ พร้อมเพิ่มค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ใช้รถยนต์ในชั่วโมง Rush Hour ร่วมด้วย


  • เมืองไฟรบวร์ค (เยอรมนี) : เช่นเดียวกับที่ไฟรบวร์ค ที่มีทางปั่นจักรยานยาวกว่า 500 กม. อีกทั้งยังมีรถรางและระบบขนส่งสาธารณะให้บริการในราคาถูก ส่วนย่านชานเมืองบางแห่ง หากใครจะจอดรถไว้ใกล้บ้านก็ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่กว่า 660,162 บาท


  • เนเธอร์แลนด์ : ขณะนี้มีการร่างนโยบาย ห้าม! การขายรถยนต์ดีเซล โดยจะนำรถยนต์ไฟฟ้ามาขายแทน ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก็จะบังคับใช้ได้ในปี 2568 ส่วนระหว่างนี้ก็อนุโลมให้ใช้รถยนต์ดีเซลไปพลางๆ ก่อนได้


  • กรุงปารีส (ฝรั่งเศส) : เมืองน้ำหอมก็สนับสนุนให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และไม่อนุญาตให้รถส่วนตัววิ่งในย่านกลางเมืองในช่วงสุดสัปดาห์ พร้อมจัดตั้งธนาคารจักรยาน ให้เราสามารถยืมจักรยานได้สะดวก


  • เมืองโคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) : ปัจจุบัน เมืองส่วนใหญ่เริ่มหยุดการใช้รถยนต์มานานกว่า 10 ปี ตามนโยบายที่ต้องการให้เมืองกลายเป็น Carbon Neutral เมืองที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี พ.ศ.2568


  • สหรัฐอเมริกา : แม้แต่สหรัฐฯ เองก็ยังหนีปัญหาอากาศเลวร้ายจากอุตสาหกรรมไปไม่พ้น จนมีการก่อตั้งองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นมา พร้อมกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองเสียใหม่ เป็น AQI 35 ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เพื่อให้ทุกคนเกิดการตระหนัก และตื่นตัวกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนี้มากขึ้น


ซึ่งแต่ละมาตรการก็ส่งดีตามมาในระยะยาว หรือเพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ ก็จากเพื่อนบ้านใกล้ตัว อย่าง มาเลเซียและสิงคโปร์ ที่นับตั้งแต่ปี 2558 ก็ปรับลดเพดาน PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงลงมาเหลือเพียง 35 - 37.5 เช่นเดียวกับ จีน, อินเดีย และเนปาล ที่ทำตามคำแนะนำของ WHO ค่อยๆ ปรับลดเพดาน PM 2.5 ลงมาทุกปี เพื่อให้เวลาภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมได้มีการปรับตัว เช่น ห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลไม่ผ่านมาตรฐานวิ่งเข้าวงแหวนที่ 6 ของปักกิ่ง ขณะที่กวางโจวเองก็ห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้าเมือง เป็นต้น




มาตราการไทย รับมือ ฝุ่นละออง PM 2.5

ในขณะที่ไทยเองก็ดูไม่ได้นิ่งนอนใจนัก เพราะถึงจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องอิงปัจจัยเศรษฐกิจและสังคมร่วมด้วย แต่ก็มีการปล่อยมาตรการต่างๆ มารองรับ ไม่ว่าจะเป็น

  • การแจกหน้ากากอนามัย N95 ตามจุดเสี่ยงต่างๆ
  • การตรวจจับควันดำอย่างเคร่งครัด
  • รณรงค์ลดการใช้รถส่วนตัวบนท้องถนน เพื่อแก้ไขปัญการถติดขัด
  • งดติดเครื่องขณะจอดในสถานที่ราชการ
  • ฉีดพ่นน้ำจากบนตึกสูงหรือขึ้นสู่อากาศ ตั้งแต่เวลา 18.00 - 06.00 น. 
  • เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดถนน
  • ปฏิบัติการฝนหลวง และใช้โดรนพ่นน้ำผสมสารเคมี
  • ห้ามเผาขยะหรือหญ้าในที่โล่งแจ้ง
  • ชะลอการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพมหานคร และเร่งคืนพื้นผิวการจราจร ณ จุดที่สร้างเสร็จแล้ว


ซึ่งในระยะยาว กรมควบคุมมลพิษ ก็ได้ร่วมหารือกับผู้ประกอบการรถยนต์ ในการปรับมาใช้ไบโอดีเซล (B 20) แทนน้ำมันดีเซล, มีการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น


เรียกได้ว่า...การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษ PM 2.5 นั้นต้องใช้เวลาและความใจเย็น หากจะให้ลดลงปุ๊ปปั๊ปทันทีเลย คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะอย่างประเทศใหญ่ ๆ ก็ใช้เวลาร่วม 10 ปีถึงจะเห็นผลเช่นในปัจจุบัน อีกทั้งต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความสำเร็จเช่นเดียวกับหลายๆ เมืองที่มีแผนนโยบายแบบยั่งยืนนั่นเอง



เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์