Smart Cities แท้จริงคืออะไร? คุ้นชื่อแต่ทำไมไม่ค่อยได้สัมผัส
9 May 2562
การที่จะทำให้คนไทยอินและเข้าใจกับคำว่า Smart Cities นั้น อันดับแรกควรจะปูพื้นฐาน เล่าถึงที่มาที่ไปของ Smart Cities เสียก่อน ว่าที่จริงแล้วคืออะไร มีความหมายอย่างไรกันแน่
แนะนำ 'Smart Cities เมืองอัจฉริยะ' ให้คนทั่วไปรู้จัก
สำหรับ "เมืองอัจฉริยะในประเทศไทย" จะหมายถึง เมืองที่รู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยได้อย่างชาญฉลาด โดยเน้นการออกแบบที่ดี ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและประชาชนในการพัฒนาเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ, การให้บริการ และการใช้ทรัพยากรภายในเมืองนั้น ๆ ได้อย่างคุ้มค่า ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองทันสมัน น่าอยู่ ไปพร้อม ๆ กับในประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขอย่างยั่งยืนนั่นเอง
: อยากเป็น 'เมืองอัจฉริยะ' ต้องเข้าเกณฑ์ 7 มิติ
การจะถูกยกให้เป็น 'เมืองอัจฉริยะในไทย' ได้นั้น จะต้องมีความพร้อมหลายด้าน โดยลักษณะของการพัฒนา Smart Cities จะมีอยู่ 7 ด้านสำคัญ ได้แก่....
- ด้านสิ่งแวดล้อม : อันดับแรกเมืองนั้นต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเป็นสำคัญ โดยจะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ, การจัดการของเสีย, การดูแลสภาพอากาศ ไปจนถึงการเฝ้าระวังเกี่ยวกับภัยพิบัติ พร้อมเพิ่มการมีส่วนรวมของคนในเมืองให้ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- ด้านเศรษฐกิจ : เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าในระบบเศรษฐกิจ พร้อมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ หรือเมืองเกษตรอัจฉริยะก็ได้ทั้งนั้น
- ด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ : เมืองที่รู้จักพัฒนา และเพิ่มศักยภาพการเชื่องโยงโครงข่ายระบบขนส่งให้หลากหลาย เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง เป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการพัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
- ด้านพลังงาน : เมือง ๆ นั้นต้องสามารถสร้างความสมดุลระหว่าง 'การผลิต' และ 'การใช้พลังงานในพื้นที่' ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และลดการใช้พลังงานจากระบบไฟฟ้าหลัก
- ด้านพลเมือง : การจะเป็นเมืองอัจฉริยะได้ จะต้องเริ่มที่ตัวพลเมืองของพื้นที่นั้น ๆ โดยการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของประชาชน ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พร้อมเปิดกว้างทางด้านความคิด นวัตกรรม โดยให้ทุกคนมีส่วนรวมในการพัฒนาเมืองร่วมกัน
- ด้านการดำรงชีวิต : แน่นอนว่า พื้นฐานการดำรงชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองพัฒนา โดยให้คำนึงถึงหลัก Universal Design หรืออารยสถาปัตย์เป็นหลัก เพื่อให้ประชนทุกคนมีสุขภาวะที่ดี
- ด้านการบริหารภาครัฐ : ระบบบริการของภาครัฐเองก็ต้องได้รับการจัดการ โดยนำนวัตกรรมบริการมาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารได้อย่างโปร่งใสและมีส่วนรวม
ปัจจุบันประเทศไทยก็มีแผนการขับเคลื่อน และพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างในปี 2561 - 2562 ที่ผ่านมา ก็มีเมืองเข้าร่วมโครงการ Smart Cities อยู่ 10 เมืองในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต, ขอนแก่น, เชียงใหม่, ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานครนี่เอง
: ตามรอย Phuket Smart City ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ
หลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพชัด ว่าจริง ๆ แล้ว Smart City ควรเป็นอย่างไร มีหน้าตาเปลี่ยนไปขนาดไหน ซึ่ง 'เมืองภูเก็ต' เองก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่นำร่องโครงการเมืองอัจริยะ เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism)
มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งมวลชน, ให้บริการ Free WiFi ความเร็วสูงกว่า 1,000 จุด และโครงข่าย LoraWAN กับ NB-loT ประกอบกับการต่อยอดสู่ Intelligent Operation Center มีการเชื่อมโยงข้อมูลนักท่องเที่ยวเพื่อความสะดวกสบาย
จนตอนนี้อาจเรียกได้ว่า 'ภูเก็ต' เป็นเมืองใหญ่ที่ทันสมัยเกือบเทียบเท่ากรุงเทพฯ มีการพัฒนาด้านไอที เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน ภายใต้มีเป้าหมายที่ต้องการจะเป็นเมืองที่มีความสุข, ฉลาด และยั่งยืน (Smile Smart และ Sustainable) นั่นเอง
แล้วถ้าอยากเป็น 'เมืองอัจฉริยะ' กับเขาบ้าง?
ซึ่งการจะเป็นเมืองอัจฉริยะนั้น ไม่ใช่อยู่ ๆ จะเป็นได้เลยอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะต้องยื่นใบสมัครกับเขาเหมือนกัน โดยข้อกำหนดเบื้องต้นในการเข้าชิงเป็นเมืองอัจฉริยะ จะต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้านบนอย่างน้อย 2 ด้าน **และต้องมี Smart Environment ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นด้านบังคับด้วย**
สำหรับคุณสมบัติผู้ประกวดเป็นเมืองอัจฉริยะนั้น จะมีประเภท 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ
- หน่วยงานของรัฐ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
- หรือหน่วยงานของรัฐ ร่วมมือกับภาคเอกชนที่จดทะเบียนในไทย (ในรูปแบบการร่วมลงทุน)
- หน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนในไทย และมีเอกสิทธิ์ในพื้นที่ รวมถึงโครงการนั้นต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่แล้วด้วย
ถึงการเป็น เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart Cities จะไม่ได้ง่ายขนาดที่แค่ใส่ชื่อห้อยท้ายแล้วจะเป็นกันได้ แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า หลายเมืองในไทยกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าดีใจเพราะช่วงปี 2562 -2563 ก็มีเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นเป็น 30+ เมือง 24+ จังหวัด กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ
ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าทุกจังหวัดมีการปรับตัวเป็นเมืองอัจฉริยะทั้งหมด ประเทศคงพัฒนาไปได้มาก หากข้อมูลทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งระบบคมนาคมและขนส่งมวลชน, เศรษฐกิจและเทคโนโลยี, สิ่งแวดล้อมกับการท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คงจะช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เกิดความเท่าเทียม สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยื่น
ข้อมูลอ้างอิง :
http://www.depa.or.th/th/smartcity
ถอดบทเรียน SMART PHUKET เส้นทางสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ