วิธีง่าย ๆ ขอค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืน
14 April 2563
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าในช่วงนี้ ประเทศของเราได้เผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 ประชาชนชาวไทยต่างพากันเก็บตัวอยู่ในที่พักของตน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดนี้ ทำให้ทางภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ เยียวยาประชาชน ด้วยการให้ประชาชนสามารถขอเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าคืนได้ เพราะในเมื่อประชาชนต้องอยู่ติดบ้านตลอด 24 ชม. จากที่เคยหลีกเลี่ยง หรือพยายามประหยัดค่าไฟด้วยการออกไปข้างนอกบ้านนั้น กลับกลายเป็นภาคบังคับที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านต้องถูกใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทางภาครัฐจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือ ให้ประชาชนที่กักตัวได้อยู่อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
สำหรับคนที่มีคำถามสงสัยว่า มิเตอร์ไฟฟ้าคืออะไร เงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าคืออะไร ขอคืนไปทำไม ใครขอคืนได้บ้าง Esto ได้สรุปมาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
มิเตอร์ไฟฟ้าคืออะไร?
มิเตอรไฟฟ้า คือ มิเตอร์ที่ใช้วัดว่าครัวเรือนของเรานั้นมีการใช้ไฟฟ้าไปเท่าไหร่ต่อเดือน เพื่อง่ายต่อการเรียกเก็บไฟฟ้านั่นเอง โดยคนที่เป็นเจ้าของบ้านและต้องการใช้ไฟฟ้า ต้องไปทำเรื่องที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อขอใช้ไฟฟ้า หลังจากนั้นทางกรมไฟฟ้าจะเป็นผู้มาติดมิเตอร์ให้ที่บ้านของเราเอง
มิเตอร์ไฟฟ้าจะมีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่มีการขอไฟฟ้าไป ทั้งเรื่องความกว้าง และวิธีการเข้าอยู่ ใช้งาน เช่น บ้านโฮมสเตย์ที่มีคนเข้าพักตลอด กับบ้านเรือนทั่วไปจะใช้มิเตอร์ไฟฟ้าต่างขนาดกัน โดยแบ่งออกเป็นดังนี้
- มิเตอร์ขนาด 5(15) : บ้านพักขนาดเล็ก ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มาก
- มิเตอร์ขนาด 15(45) : เป็นขนาดมิเตอร์ที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ใช้
- มิเตอร์ขนาด 30(100) : บ้านพักขนาดใหญ่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด
เงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าคืออะไร?
เป็นเงินประกันที่ทางการไฟฟ้าจะเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟ ถือเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บล่วงหน้า โดยจะเรียกเก็บตั้งแต่ครั้งแรกที่เราไปขอใช้ไฟฟ้า และจะได้รับคืนเมื่อยกเลิกใช้ไฟฟ้าแล้ว
แต่ด้วยมาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐ ที่อนุมัติให้กรมไฟฟ้าจ่ายค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืนกว่า 5 ล้านครัวเรือน ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยและผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก ร่วม 21.5 ล้านราย ภายใต้วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าที่ได้คืนจะขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน แบ่งเป็นดังนี้
- มิเตอร์ขนาด 5(15) : เงินคืนประกันการใช้ไฟฟ้า 300 บาท
- มิเตอร์ขนาด 15(45) : เงินคืนประกันการใช้ไฟฟ้า 2,000 บาท
- มิเตอร์ขนาด 30(100) : เงินคืนประกันการใช้ไฟฟ้า 4,000 บาท
- มิเตอร์ขนาด 15(45) เฟส 3 : เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 6,000 บาท (ประชาชนไม่นิยมใช้ จะมีประชาชนส่วนน้อยที่ได้รับอัตราเงินจำนวนนี้)
วิธีการขอเงินค่าไฟฟ้าคืน
ผู้อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
อันดับแรกผู้ขอเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืนต้องทำการตรวจสอบสิทธิ์ก่อนว่าตนเป็นผู้สามารถขอค่าประกันได้คืนจริง โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/ สามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
หรืออีกช่องทางคือ ตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน PEA Smart โดยการสแกน QR Code ที่ด้านล่างของใบเสร็จค่าไฟฟ้าขอเดือนมีนาคมเป็นต้นไป
เมื่อทำการตรวจสอบสิทธิ์สำเร็จและพบว่าตนเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าคืนจริง ทางกรมไฟฟ้าจะใส่รายชื่อเราเข้าไปในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินประกัน และจะเริ่มได้รับเงินประกันส่วนนี้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมเป็นต้นไป ผ่านทางช่องทางพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน หรือ บัญชีของธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกร, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารอิสลาม ตามที่ได้กรอกข้อมูลไว้
ผู้อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้านครหลวง
ขั้นตอนจะไม่ต่างอะไรกับของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมากนัก เริ่มต้นด้วยการเข้าไปตรวจสอบสิทธิ์ที่เว็บไซต์ https://measy.mea.or.th แล้วกรอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน และเลขผู้ใช้ไฟฟ้า 12 หลัก หรือจะใช้วิธีสแกน QR Code ผ่านแอปพลิเคชัน MEA Smart ได้เหมือนกัน เริ่มตรวสสอบสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่มีหมดเขต
เงินประกันจะเข้าทางระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน หรือบัญชีธนาคารกสิกร ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย โดยเงินค่าประกันจะเข้าหลังจะลงทะเบียนอย่างน้อยห้าวัน
ทั้งนี้ทางการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ขอความร่วมมือประชาชนงดเข้าไปขอลงทะเบียนรับเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืนที่สำนักงาน และให้ใช้ช่องทางออนไลน์เหล่านี้แทน เพราะสะดวกสบายกว่า ได้เงินแน่นอน และช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 อีกด้วย
คุณสมบัติผู้ขอเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าคืน
- ผู้ที่อยู่ในการดูแลของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียกง่าย ๆว่าเป็นผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้าจากภาครัฐอย่างถูกกฎหมายนั่นเอง
- ต้องเป็นผู้ที่ไม่ติดค้างชำระค่าไฟฟ้า เพราะทาง กฟน. และ กฟภ. กำลังพิจารณาไม่ให้สิทธิ์ผู้ค้างชำระค่าไฟฟ้า 3-6 เดือน สามารถขอรับเงินประกันคืนได้ เพราะมีผู้สามารถขอรับเงินประกันคืนได้ถึง 21.5 ล้านคน
- คนที่มีคุณสมบัติพร้อม เช่น ชื่อเจ้าของผู้อยู่อาศัย หรือเจ้าของสถานที่นั้น ตรงกับชื่อบนมิเตอร์ จะได้รับอนุมัติคืนเงินประกันก่อน สำหรับผู้ที่ยังคุณสมบัติไม่พร้อม ยกตัวอย่างเช่น ผู้เช่าบ้าน เช่าคอนโด หรือรับมรดกจากผู้เสียชีวิตที่ยังไม่โอน และเปลี่ยนเป็นชื่อเจ้าของใหม่ ต้องทำเรื่องให้ชื่อเจ้าของ เป็นชื่อเดียวกับชื่อบนมิเตอร์เสียก่อน ทางกรมไฟฟ้าจึงจะอนุมัติให้ และยังป้องกันปัญหาการโดนฟ้องร้องภายหลังสำหรับผู้ขอรับเงินประกันได้ด้วย
มาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าอื่น ๆ
นอกจากการขอเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืนแล้ว ทางภาครัฐยังมีมาตรการช่วยเหลือเรื่องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนดังนี้
- ลดค่าไฟฟ้า 3% ให้ผู้ใช้ทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน คือ เมษายน 2563 จนถึง มิถุนายน 2563
- ขยายเวลาการชำระค่าไฟฟ้ากิจการเฉพาะอย่าง เช่น โรงแรมผู้ให้เช่าที่พักอาศัย โดยผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิลของเดือนเมษายน และพฤษภาคม
นี่ก็เป็นมาตรการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทางภาครัฐได้ส่งมาช่วยประชาชนผู้กักตัวเองอยู่ในบ้าน เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นอกจากมาตรการเรื่องค่าไฟฟ้าแล้ว ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือค่าประปาด้วยเช่นกัน
อาจจะถือได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ตรงจุดพอจะกำจัดโรคร้ายออกไปจากประเทศได้ แต่เรียกว่าเป็นความเคลื่อนไหวของฝั่งภาครัฐหลังจากที่เพิกเฉยปัญหาระดับโลกนี้มานานพอสมควร ทั้งนี้ทางภาครัฐจะมีมาตรการแก้ปัญหา และเยียวยาประชาชนและประเทศต่อไปอย่างไร ต้องจับตามองกันต่อไป