การเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ ในโครงการที่อยู่อาศัย
3 August 2564
จากเหตุการณ์โรงงานกิ่งแก้วระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในละแวกดังกล่าวเป็นวงกว้าง โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตร ต้องมีการอพยพเพื่อความปลอดภัย ซึ่งในโซนดังกล่าวก็มีโครงการหมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมหลายโครงการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน เหตุการณ์นี้นับเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่ทำให้เราตระหนักว่า ภัยพิบัติ อาจเป็นเรื่องที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเรามากนัก ดังนั้นการมีแนวทางการเอาตัวรอดในสถานการณ์ภัยพิบัติ และการมีแผนเบื้องต้นในการเตรียมการรับมือ จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถผ่านสถานการณ์ไม่คาดคิดนี้ไปได้ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในบทบาทธุรกิจดูแลบริหารโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมมากว่า 25 ปี ขอถอดบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางการเอาตัวรอดสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ในการรับมือกรณีเหตุภัยพิบัติ ดังนี้
1. มีอุปกรณ์ป้องกันภัยไว้ติดบ้าน อุปกรณ์ช่วยป้องกันภัยเบื้องต้น ที่สามารถช่วยป้องกันได้ครอบคลุมภัยพิบัติหลายประเภท เช่น หน้ากากกันสารเคมี หรือหน้ากากอนามัยชนิดที่ช่วยกรองสารเคมีเบื้องต้นได้ในระยะเวลาสั้น ๆ (หรือตัวอย่างกรณีเหตุควันไฟจากโรงงานกิ่งแก้ว หากไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน สามารถใช้ผ้าขนหนูชุดน้ำบิดหมาด ๆ ปิดปากและจมูกแทนได้ในเบื้องต้น) อุปกรณ์และชุดปฐมพยาบาล น้ำเกลือล้างแผลทำความสะอาด ถังดับเพลิงในบ้าน ไฟฉาย หมวกกันกระแทก รองเท้าบูทกันน้ำ เป็นต้น
2. มีแผนรับมือกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ มีการสำรวจเส้นทางรอบ ๆ หมู่บ้าน หรือเส้นทางอพยพภายในคอนโดมิเนียม เพื่อสร้างความคุ้นชินว่าสามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าออกผ่านเส้นทางใดได้บ้าง เผื่อสถานการณ์ที่ต้องมีการหลีกเลี่ยงเปลี่ยนเส้นทางหรืออพยพด่วนออกจากโครงการ และควรหาสถานที่พักอื่นเผื่อในกรณีที่ต้องมีการอพยพชั่วคราว เช่น บ้านญาติ หรือทำลิสต์รายชื่อโรงแรม สถานที่พักที่น่าสนใจในละแวกอื่น และเบอร์โทรติดต่อ
3. ติดตามข่าวสาร ประกาศจากนิติบุคคลในโครงการ มีช่องทางติดต่อและรับข่าวสาร ประกาศ จากทีมจัดการนิติบุคคลในโครงการ เพื่อเป็นประโยชน์หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จะได้รับข่าวสารอัพเดตเหตุการณ์อย่างทันท่วงที และเป็นช่องทางติดต่อขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในโครงการหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ข้อได้เปรียบก็คือหากเป็นโครงการที่มีทีมบริหารจัดการนิติบุคคล ก็จะมีผู้ช่วยดูแล ประสานอำนวยความสะดวก ทั้งด้านการอยู่อาศัยในโครงการ และให้ความช่วยเหลือในกรณีมีเหตุฉุกเฉินด้วย ซึ่งนิติบุคคลในโครงการมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือในสถานการณ์เช่นนี้ ขอยกตัวอย่างการดำเนินการของทีมนิติบุคคล พลัสฯ ในเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วที่ผ่านมา ที่ได้มีการอัพเดตแจ้งสถานการณ์ให้ลูกบ้านในโครงการทราบเป็นระยะ แจ้งการอพยพและให้ความช่วยเหลือในการอพยพขนย้าย รวมทั้งช่วยให้ข้อมูลติดต่อสถานที่พักสำหรับการอพยพชั่วคราว และเมื่อเหตุการณ์สงบก็ได้นำทีมเข้าทำความสะอาดฉีดรดน้ำในพื้นที่โครงการโดยรอบ เพื่อช่วยชะล้างลดมลพิษ ตลอดจนมีทีมวิศวกรและทีมช่าง ที่ให้ความช่วยเหลือตรวจสอบประเมินสภาพความเสียหายของบ้าน และประสานบริษัทประกันภัยเพื่อประเมินความเสียหายและเคลมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซ่อมแซม
ในส่วนของทีมนิติบุคคลที่ดูแลโครงการที่พักอาศัย ควรมีการเตรียมแผนรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ภัยพิบัติเหล่านี้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการและช่วยเหลือลูกบ้านเมื่อเกิดเหตุได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที โดยพลัสฯ มีการทำสถานการณ์จำลองเหตุการณ์ฉุกเฉิน และวิธีการปฏิบัติเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินประเภทต่าง ๆ มากกว่า 10 ประเภทเหตุการณ์ โดยกำหนด Protocol ระเบียบขั้นตอนการดำเนินการ และมีการเทรนนิ่งพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐาน มีการทดสอบและประเมินผลเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือลูกบ้านได้ตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง จึงสามารถดำเนินการรับมือได้ทันทีตามขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินในโครงการที่อยู่อาศัยแล้ว ในส่วนของข้อกำหนดและการจัดระเบียบผังเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่ตั้งโรงงานและที่อยู่อาศัย ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ควรมีความชัดเจนและเหมาะสมเช่นกัน ตลอดจนมีการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสังคมที่ปลอดภัยร่วมกัน
ขอขอบคุณบทความดีๆจาก บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (www.plus.co.th)