ทริกจัดการขยะในที่อยู่อาศัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
9 October 2563
เมื่อเข้าถึงหน้าฝนปัญหาใหญ่อีกหนึ่งอย่างที่คนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯต้องเผชิญ นั่นคือ การเกิดน้ำท่วมขัง การระบายน้ำไม่ทันหลังจากที่ฝนเทกระหน่ำลงมาแทบทุกครั้ง ซึ่งปัญหานี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัย แต่หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมก็คือปัญหาขยะ ที่เกิดจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่ หรือแม้แต่การทิ้งผิดวิธี ล้วนมีส่วนทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้ สำหรับหนทางที่จะเยียวยาปัญหานี้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในสังคม ซึ่งการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มที่ตัวเราเอง เพียงแค่การเริ่มจัดการขยะในที่อยู่อาศัยให้ถูกวิธี ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาขยะที่กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ทุกวันนี้
ปัญหาเรื่องขยะกับสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายมิติมากเกินกว่าที่เราจะคาดถึง แม้ว่าทุกคนจะมีวินัยในการทิ้งขยะลงถังทุกครั้ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะสิ้นสุดลง เพราะการกำจัดขยะของประเทศไทยนั้น ยังเป็นแบบฝังกลบ โดยในเขตกรุงเทพฯ ก่อนขยะจะถูกนำไปฝังกลบ จะมีขั้นตอนของการพักขยะที่จุดเทขยะ ซึ่งจุดนี้เอง หากขยะที่มีน้ำหนักเบาอาจจะถูกลมพัดปลิวไปตกตามแม่น้ำลำคลองและไหลลงทะเล กลายเป็นภัยเงียบสำหรับสัตว์หลากหลายชนิด จนทำให้เกิดเหตุที่น่าเศร้าใจจากการที่สัตว์ต่างๆ กินขยะเข้าไปอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นหากเราสามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการจัดการขยะตั้งแต่ในครัวเรือนก็จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะที่ดูแลครอบครัวใหญ่กว่า 200 โครงการ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และดำเนินนโยบายด้าน Waste Management มาต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดในช่วงที่มีการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 ได้ทำการเก็บข้อมูลจากครัวเรือนในโครงการที่พลัสฯ บริหารจัดการกว่า 200 โครงการทั่วประเทศ พบว่าในช่วง Work from Home มีขยะจาก Food Delivery เพิ่มขึ้นกว่า 45% แต่จากนโยบาย Waste Management ที่พลัสฯ ให้ความจริงจังก็สามารถพิสูจน์แล้วว่าโครงการที่พลัสฯ ดำเนินการสามารถช่วยลดปริมาณขยะในโครงการลงได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดการขยะรีไซเคิลกว่า 100,000 กิโลกรัม ไม่ให้ออกไปสู่ภูเขาขยะ หรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เฉลี่ย 75,000 กิโลคาร์บอน
ส่วนทริกในการจัดการขยะง่ายๆ ที่นำมาฝากให้ทุกครัวเรือนสามารถนำไปใช้ได้ มีดังนี้
1. แยกก่อนทิ้ง ถือเป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุด แต่สำคัญมาก โดยเฉพาะการแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไป รวมถึงการแยกขยะรีไซเคิลประเภทต่างๆ ที่ต้องมีการล้างทำความสะอาดให้แห้งก่อนทิ้ง ซึ่งการแยกขยะนี้ยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้ เพราะขยะจำนวนมาก เช่น พลาสติก โลหะ และกระดาษ ส่วนใหญ่สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบแก่โรงงานอุตสาหกรรมได้ ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นหลายเจ้าที่รับซื้อขยะเดลิเวอรี่ตรงถึงที่พักอาศัยอีกด้วย
2. เปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ต่อยอดสู่การทำสวนผักหลังบ้านที่กินได้ ซึ่งวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์นั้นมีทั้งวิธีหมักธรรมชาติ และการผลิตด้วยเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ทันสมัย โดยปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยหลายโครงการได้ติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ที่ส่วนกลาง รวมถึงนำปุ๋ยที่ได้ไปใช้ประโยชน์กับการดูแลแปลงผักส่วนกลางของโครงการอีกด้วย
3. ติดตั้งระบบดักไขมันที่ได้มาตรฐาน ไขมันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุใหญ่ที่อุดตันทางเดินของท่อระบายน้ำจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมา จึงควรติดตั้งระบบที่ได้มาตรฐานก่อนระบายน้ำสู่แหล่งสาธารณะ รวมถึงทำความสะอาดถังดักไขมันอยู่เสมอ
4. ลดการสั่งสินค้าออนไลน์หากไม่จำเป็น เช่นหากในแต่ละวันต้องเดินทางผ่านร้านค้าที่จำหน่ายสิ่งของที่ต้องการอยู่แล้ว ก็สามารถนำถุงผ้า หรือภาชนะอื่นๆ ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ไปใส่สิ่งของที่ต้องการซื้อ ก็จะสามารถช่วยลดขยะจากการสั่งของเดลิเวอรี่ได้ โดยเฉพาะปัจจุบันที่สินค้าเดลิเวอรี่จะมีแพกเก็จหลายชั้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงในการขนส่ง จึงทำให้มีขยะมากขึ้นตามมา
5. ติดตามแหล่งให้ความรู้ในการจัดการขยะที่น่าเชื่อถือ เพื่ออัพเดทข้อมูล และเกร็ดความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับการจัดการขยะ เช่น Trash Hero ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก หรือเข้าร่วมเวิร์กชอปกิจกรรมให้ความรู้ด้านการจัดการขยะที่ฝ่ายจัดการโครงการ (นิติบุคคล) จัดขึ้นอยู่เสมอ
สิ่งเหล่านี้ก็เป็นทริกเล็กๆ น้อยๆ ที่จะสามารถช่วยจัดการขยะในที่อยู่อาศัย ซึ่งแน่นอนว่าหากเราสามารถลดขยะในโครงการที่อยู่อาศัยลงได้ ก็จะช่วยลดขยะที่จะออกสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมลงได้เช่นกัน และหากทุกคนเห็นความสำคัญของการจัดการขยะและช่วยกันคนละเล็กละน้อย เชื่อว่าจะสามารถขยายเกิดเป็น New Normal ใหม่ ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของเราให้ดีและน่าอยู่มากขึ้น
ขอขอบคุณบทความจาก บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (www.plus.co.th)