รูปบทความ  แยกขยะอย่างไรไม่ให้กลับมาทำอันตรายกับตัวเราและโลก

แยกขยะอย่างไรไม่ให้กลับมาทำอันตรายกับตัวเราและโลก โดย พลัส พร็อพเพอร์ตี้


การรักษ์โลก ไม่ควรเป็นแค่กระแสสังคม แต่ควรยกระดับให้เป็นนิสัยของประชากรโลกที่พึงกระทำ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะผู้บริหารจัดการที่พักอาศัยกว่า 270 โครงการ อยากเชิญชวนลูกบ้านและคนที่ยังไม่ได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤติสิ่งแวดล้อม ถือโอกาสในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี มาเริ่มสร้างพฤติกรรมใหม่ ที่ให้เราและโลกอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน


เนื่องจากทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาในประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นแทบทุกปี เฉลี่ยประมาณ 12% หรือ 2 ล้านตันต่อปี แถมยังเป็นขยะตกค้างที่กำจัดไม่ถูกวิธีสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสนใจที่จะพัฒนากระบวนการจัดการขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น แต่เมื่อขยะเหล่านี้ไม่ได้ทำการคัดแยกให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง หน่วยงานเหล่านี้ก็ไม่สามารถคัดแยกได้ 100% ส่งผลให้เกิดขยะตกค้างอยู่ทุกปี เกิดเป็นกองภูเขาขยะที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบและตัวเรา



การแยกขยะผิดวิธีส่งผลเสียแค่ไหน??


ขยะที่แยกผิดประเภทไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา แต่ทุกวันนี้ยังย้อนกลับเข้ามาทำร้ายตัวเราตรงๆ โดยเฉพาะ ‘ขยะพลาสติก’ มีวัตถุดิบ อาหารหลายๆ อย่างที่เรารับประทานเข้าไปเกิดการปนเปื้อนจากไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกที่แตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็ก มีขนาดความยาวน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ง่ายมาก คาดว่ามนุษย์มีการกลืนกินไมโครพลาสติกเข้าไปราว 39,000 – 52,000 อนุภาคต่อปี ทว่ายังไม่มีงานวิจัยที่สามารถระบุชัดเจนในความเสี่ยงของผลกระทบที่มีต่อร่างกายมนุษย์ได้ การศึกษาล่าสุดเผยแพร่ใน Journal of Hazardous Materials มีข้อค้นพบใหม่ระบุว่า ไมโครพลาสติกเป็นพิษต่อเซลล์ โดยสามารถทำให้เซลล์เสื่อมสภาพและตายได้ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสุขภาพในด้านอื่น ๆ ไมโครพลาสติกชิ้นเล็กถูกย้อนกลับเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหาร สาเหตุหลักๆมาจากการที่เราทิ้งขยะแบบไม่ถูกวิธี นักวิจัยจาก University of Catania ในอิตาลีค้นพบเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กในผลไม้และผักบางชนิด เช่น แครอท ผักกาดหอม แอปเปิ้ลและลูกแพร์ และมหาวิทยาลัยที่ฮ่องกงได้พบปลากระบอกที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป ถึง 60% เฉลี่ย 4.3 ชิ้นต่อปลา 1 ตัว หรือในไทยเองเมื่อปีพ.ศ. 2562 ได้พบไมโครพลาสติกในท้องปลาทูเฉลี่ยสูงตัวละ 78 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีพบอยู่ในวัตถุดิบอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็น เกลือ ผัก ผลไม้ และวัตถุดิบอีกมากมายที่เราอาจยังไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าจะเลือกรับประทานอะไรก็อาจจะเจอการปนเปื้อนจากไมโครพลาสติกก็ว่าได้


ในปี 2564 พลัสฯ และลูกบ้าน 140 โครงการได้ร่วมมือกันช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบได้ถึง 220 ตัน ผ่านการคัดแยก พลัสฯ ในฐานะผู้ดูแลหมู่บ้านและคอนโดกว่า 70,000 ครัวเรือน เรามีวิธีจัดการแยกขยะประเภทต่างๆ รวมถึงสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับพนักงานและผู้พักอาศัย เพื่อให้สามารถแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยมีการร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ จัดอบรมความรู้ถึงวิธีการแยกขยะประเภทต่างๆ การเดินทางและวงจรของขยะแต่ละประเภทเพื่อให้เข้าใจการจัดการอย่างถ่องแท้และยั่งยืน



สำหรับมือใหม่ที่พร้อมจะเริ่มแยกขยะไปกับเรา มาทำความรู้จักถังขยะแต่ละประเภทกันก่อน เพื่อที่จะสามารถคัดแยกขยะ และนำไปทิ้งได้ถูกต้อง ซึ่งถังขยะมีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่


1.ถังขยะย่อยสลาย (สีเขียว) – สำหรับขยะอินทรีย์ หรือขยะที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติในระยะเวลาอันสั้น เช่น เศษใบไม้แห้ง กิ่งไม้ เศษอาหาร เปลือกผลไม้ เศษผัก เนื้อสัตว์ ควรจะมีการแยกเศษอาหารก่อนทิ้ง โดยอาจนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ใส่ต้นไม้ แปลงผักสวนครัว ส่วนน้ำมันทอดอาหารควรรอให้เย็นตัวลง และเทใส่ขวดพลาสติกแยกทิ้งลงในถังขยะ


2.ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) – สำหรับขยะทั่วไป มีลักษณะย่อยสลายยากไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น โฟม ฟอยล์ ถุงอาหาร ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ภาชนะปนเปื้อนอาหาร ขยะประเภทนี้มักจะย่อยสลายไม่ได้ จำเป็นต้องหาวิธีกำจัดอย่างถูกวิธี โดยผ่านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัสดุใหม่


3.ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) – สำหรับขยะที่นำกลับมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ไม่ใช่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แม้จะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ กระป๋อง ก่อนทิ้งควรจะมีการทำความสะอาด เพื่อง่ายในการจัดการต่อ เช่น ขวดน้ำเทน้ำที่เหลือและล้างออกด้วยน้ำสะอาด นมกล่องดื่มหมดแล้วก่อนทิ้งก็ควรผ่าล้างทำความสะอาด ซึ่งบางส่วนสามารถนำมาผลิตขาเทียม ผลิตหลังคารีไซเคิล ผลิตหลอดไฟ ผลิตจีวรพระสงฆ์ได้อีกด้วย


4.ถังขยะอันตราย (สีส้ม) – สำหรับขยะอันตรายที่มีการปนเปื้อนสารเคมี มีอันตรายต่อร่างกาย และสิ่งแวดล้อม โดยการคัดแยกจะต้องระมัดระวังไม่ให้ขยะอันตรายแตกหัก ชำรุด หรือมีสารเคมีรั่วไหลออกมาได้ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขวดพลาสติกบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ยาฆ่าแมลง ยาหมดอายุ วัตถุไวไฟ ขยะเหล่านี้ควรนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้รั่วซึมลงแหล่งน้ำ หรือชั้นผิวดิน


5.ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) – สำหรับขยะมูลฝอยที่เกิดจากกระบวนการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ ถ้ามีการสัมผัสจะทําให้เกิดโรค เช่น หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ชุดตรวจ ATK อุปกรณ์ทางการแพทย์ เข็มฉีดยา สําลี ผ้าพันแผล เป็นต้น ขยะประเภทนี้ถ้าไม่มีถังแยกชัดเจน ควรผูกโบแดงไว้เป็นสัญลักษณ์



ในกรณีที่มีถังขยะไม่ครบแต่ละประเภท เราสามารถช่วยคัดแยกขยะ โดยใช้สีถุงขยะตามเกณฑ์ หรือติดสัญลักษณ์สีแยกประเภทไว้ที่ปากถุงขยะ เพื่ออำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าในการเก็บขยะได้อีกทางหนึ่ง


สิ่งเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์ของการแยกขยะให้ถูกประเภท ซึ่งแน่นอนว่าหากทุกคนสามารถร่วมแรงร่วมใจทำจนเป็นนิสัย ย่อมช่วยลดปริมาณขยะออกสู่สิ่งแวดล้อม และลดโอกาสที่มันจะย้อนกลับมาเป็นภัยต่อสุขภาพของเราและคนที่เรารัก ดังนั้นมาร่วมสร้างนิสัยแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และสังคมรอบตัวเราให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นกัน


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์