วัน แบงค็อก (One Bangkok) โครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เตรียมติดตั้ง “ลิฟต์ห้องโดยสารคู่” ครั้งแรกในประเทศไทย
29 June 2564
ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท วัน แบงค็อก (One Bangkok) คือโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งพัฒนาโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด สร้างสรรค์ขึ้นในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วยอาคารสำนักงานเกรดเอ ศูนย์การค้าชั้นนำ โรงแรมระดับลักชัวรี่ ที่พักอาศัย รวมถึงพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อทั่วถึงกันทั้งโครงการ เมกะโปรเจกต์ระดับนี้จึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างประสบการณ์ที่ดีเลิศและน่าประทับใจให้กับลูกค้าและผู้เข้ามาใช้บริการทุกคน
แน่นอนว่า ระบบลิฟต์และบันไดเลื่อนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นการเสริมสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าออกและสัญจรภายในโครงการ สำหรับทั้งผู้พักอาศัย ผู้ประกอบธุรกิจการงาน ตลอดจนผู้ที่เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจและใช้บริการทั้งหมด ทางโครงการจึงได้เลือกสรรผู้นำระดับโลกอย่าง มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ มาเป็นผู้ติดตั้งดูแลระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน ด้วยยอดสั่งซื้อจำนวนสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งประกอบด้วยลิฟต์จำนวนถึง 250 เครื่อง บันไดเลื่อนจำนวน 28 เครื่อง และที่เป็นไฮไลท์สำคัญคือ โครงการนี้ยังมีการติดตั้งลิฟต์ 2 ชั้นหรือ ลิฟต์ห้องโดยสารคู่ (Double Deck) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จำนวนถึง 12 เครื่อง
ลิฟต์ห้องโดยสารคู่ เป็นลิฟต์ที่มีห้องโดยสาร 2 ห้องซ้อนต่อกันเป็นแนวดิ่ง ซึ่งสามารถขนถ่ายผู้โดยสารได้ในจำนวนมากกว่าลิฟต์ทั่วไป 2 เท่า ในเวลาเดียวกัน จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างชั้นภายในอาคารได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ลิฟต์ทั่วไปบรรทุกผู้โดยสาร 1 เที่ยวได้ 20 คน ลิฟต์แบบห้องโดยสารคู่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 40 คน ต่อ 1 เที่ยว
หลักการทำงานของลิฟต์ห้องโดยสารคู่เพื่ออธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย คือลิฟต์จะมี 2 ชั้น ลิฟต์จะแบ่งการจอดเป็นชั้นคี่และชั้นคู่ ลิฟต์ตัวล่าง (Lower) จะจอดชั้นคี่ ส่วนลิฟต์ตัวบน (Upper) จะจอดชั้นคู่ เพราะฉะนั้น จึงสามารถรับส่งผู้โดยสารได้สองชั้นในเวลาพร้อมกัน ซึ่งประตูชั้นบนและชั้นล่างจะเป็นอิสระต่อกัน จึงสามารถกำหนดให้เปิดปิดไม่พร้อมกันได้ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละชั้น
เมื่อเปรียบเทียบลิฟต์ ประเภทลิฟต์โดยสารทั่วไป (Single Deck) และลิฟต์โดยสารคู่ (Double Deck) ลิฟต์โดยสารคู่จะใช้พื้นที่สำหรับช่องลิฟต์เพียง 67% เมื่อเทียบกับลิฟต์โดยสารทั่วไป ที่มีน้ำหนักบรรทุกและความเร็วลิฟต์ที่เท่ากัน เนื่องด้วยหลักการออกแบบลิฟต์โดยสารคู่สามารถคงพื้นที่ใช้งานภายในลิฟต์ไว้ได้เท่าเดิม พร้อมขีดความสามารถในการรองรับผู้ โดยสารและความเร็วเท่าเดิม แต่ใช้พื้นที่สำหรับช่องลิฟต์น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น ลิฟต์โดยสารที่มีน้ำหนักบรรทุก 1600 กิโลกรัม ความเร็ว 360 เมตรต่อนาที ลิฟต์โดยสารทั่วไป (Single Deck) จะใช้พื้นที่ 14.28 ตารางเมตร (ด้านกว้างช่องลิฟต์ 5.6 เมตร) แต่ลิฟต์โดยสารคู่ (Double Deck) จะใช้พื้นที่เพียง 9.45 ตารางเมตร (ด้านกว้างช่องลิฟต์ 3 เมตร) โดยด้านลึกของช่องลิฟต์ใกล้เคียงกัน ซึ่งเมื่อเทียบแล้ว ช่องลิฟต์ประเภทลิฟต์โดยสารคู่ จะใช้พื้นที่เพียง 67% ของลิฟต์โดยสารทั่วไป ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับอาคารสูงใจกลางเมือง ที่มีพื้นที่จำกัด และยังมีความรวดเร็วในการขนถ่ายผู้โดยสารได้ดีขึ้นเป็น 2 เท่า โดยลิฟต์ประเภทนี้จะเหมาะกับอาคารสำนักงานที่มีชั้นจอดเป็นจำนวนมาก โดยจะสามารถช่วยลดจำนวนชั้นจอดได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนชั้นทั้งหมดที่ต้องแวะจอด เช่น จำนวนชั้นทั้งหมดมี 50 ชั้น แต่เมื่อใช้ลิฟต์ห้องโดยสารคู่ (Double Deck) จำนวนชั้นจอดจะลดลงเหลือแค่ 25 ชั้น เป็นต้น
ทั้งนี้ในส่วนของเรื่องระบบความปลอดภัยนั้น ลิฟต์ห้องโดยสารคู่ (Double Deck) มีการออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นอันดับแรก กล่าวคือระบบขับเคลื่อนลิฟต์ต้องมีประสิทธิภาพสูง ประกอบกับการประมวลผลด้วย Micro Processor และระบบเบรกคู่ อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ควบคุมทางไฟฟ้าเพื่อการจอดชั้นอย่างแม่นยำ โดยมีอุปกรณ์หลักที่เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยของลิฟต์ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์นิรภัยและมอนิเตอร์ความเร็ว (Speed Governor) ซึ่งจะมอนิเตอร์ความเร็วลิฟต์ในกรณีที่ลิฟต์เคลื่อนที่เร็วกว่าความเร็วพิกัดปกติ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะสั่งการให้ลิฟต์หยุดฉุกเฉิน และมี (Safety Gear) ล็อคตัวลิฟต์ให้ติดแน่นกับรางลิฟต์ และอุปกรณ์ความปลอดภัยเพื่อการควบคุมประตูลิฟต์ โดยหากบานประตูลิฟต์ปิดไม่สนิทหรือ ระบบลิฟต์จะหยุดการทำงาน รวมถึงมีระบบเซนเซอร์ควบคุมในระหว่างที่ผู้โดยสารเดินเข้า-ออกลิฟต์ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกประตูลิฟต์หนีบ อีกทั้งระบบไฟสำรองฉุกเฉิน ในกรณีที่ไฟฟ้าเกิดขัดข้อง ลิฟต์จะใช้พลังงานไฟฟ้าสำรองจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าภายในอาคารเพื่อส่งผู้โดยสารยังชั้นอพยพอย่างปลอดภัย และนอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ยังมีอุปกรณ์และฟังก์ชั่นอื่นๆอีกมากมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับในด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร จึงขอให้ลูกค้าไว้วางใจในคุณภาพและความปลอดภัย
กล่าวได้ว่า การเลือกใช้ลิฟต์ห้องโดยสารคู่ในโครงการวัน แบงค็อก นอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทย ที่จะยกระดับโครงการอาคารสูงในโครงการนี้ให้เทียบเคียงโครงการตึกระฟ้าในมหานครระดับโลกที่มีการติดตั้งลิฟต์แบบห้องโดยสารคู่มาแล้ว เช่น Roppongi Hills ในกรุงโตเกียว CCTV New Site ในกรุงปักกิ่ง หรือ Shanghai Tower ในนครเซี่ยงไฮ้ ยังมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการใช้พลังงานและทรัพยากรในอาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับมาตรฐานด้านการออกแบบ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตในสมาร์ท ซิตี้ (Smart City Living) ของ วัน แบงค็อก ที่วางเป้าหมายที่จะเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการพัฒนาชุมชนแวดล้อมอย่าง LEED เป็นการสร้างอาคารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ WELL ซึ่งเป็นมาตรฐานแรกของโลกที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร พร้อมมุ่งมั่นเป็นแลนด์มาร์คครบวงจรระดับโลกแห่งใหม่ โดยพร้อมเปิดเฟสแรกในปี 2566 และก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2569