รูปบทความ ปี 65 ได้ใช้แน่ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เริ่มก่อสร้างสิงหาฯ นี้

ปี 65 ได้ใช้แน่ 3 เส้นทางส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เริ่มก่อสร้างสิงหาฯ นี้


ช่วงนี้รถไฟฟ้าสายต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงเร่งก่อสร้างและพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตอันใกล้ การเดินทางระยะไกลจะสามารถย่นระยะเวลาและสามารถเชื่อมต่อไปสู่ชานเมืองและต่างจังหวัดได้ ด้วยราคาที่เหมาะสม และความสะดวกสบายที่ได้รับ คาดว่าประชาชนและกลุ่มคนทำงานอาจจะมุ่งเป้าเข้ามาใช้งานขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้ากันมากขึ้น เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และทำให้ขนส่งสาธารณะสามารถเข้าถึงประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียม


หลังจากแผนการพัฒนารถไฟฟ้าชานเมืองเริ่มก่อสร้างในระยะที่ 1 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งดำเนินการตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า ขยายสู่ปริมณฑล เชื่อมโยงโครงค่ายให้สมบูรณ์อีก 3 เส้นทาง ให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกระหว่างย่านชานเมืองและใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น


ซึ่งในปัจจุบัน แผนพัฒนารถไฟชานเมืองแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้


ระยะที่ 1: จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 41.5 กิโลเมตร ได้แก่


1.    สายสีแดงเข้ม ‘ช่วงบางซื่อ-รังสิต’ ทั้งหมด 10 สถานี: บางซื่อ, จตุจักร, วัดเสมียนนารี, บางเขน, ทุ่งสองห้อง, หลักสี่, การเคหะ, ดอนเมือง, หลักหก และรังสิต


2.    สายสีแดงอ่อน ‘ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน’ ทั้งหมด 5 สถานี: บางซื่อ, บางซ่อน, สะพานพระราม 6, บางกรวย-กฟผ., บางบำหรุ และตลิ่งชัน (สถานีพระรามหก/ บางกรวย-กฟผ. เป็นสถานีในอนาคต)


ระยะที่ 2: จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 95.4 กิโลเมตร ได้แก่


3.    สายสีแดงเข้ม ‘ช่วงรังสิต-ม. ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต’ ทั้งหมด 5 สถานี: รังสิต, คลองหนึ่ง, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, เชียงราก และม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต


4.    สายสีแดงอ่อน ‘ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และ ตลิ่งชัน-ศิริราช’ ทั้งหมด 8 สถานี: ศิริราช, จรัญสนิทวงศ์, ตลาดน้ำตลิ่งชัน, ตลิ่งชัน, บ้านฉิมพลี, กาญจนาภิเษก, ศาลาธรรมสพน์ และศาลายา


5.    สายสีแดงเข้ม ‘ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และ หัวลำโพง-มหาชัย’ ทั้งหมด 17 สถานี: บางซื่อ, ประดิพัทธ์,สามเสน, ราชวิถี, ยมราช, ยศเส, หัวลำโพง, คลองสาน, วงเวียนใหญ่, ตลาดพลู, ตากสิน, จอมทอง, วัดไทร, วัดสิงห์, บางบอน, รางสะแก, รางโพธิ์สามแยก, พรมแดน, ทุ่งสีทอง, บางน้ำจืด, คอกควาย, บ้านขอม และมหาชัย


6.    สายสีแดงอ่อน ‘ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก’ ทั้งหมด 8 สถานี: บางซื่อ, สามเสน, ราชวิถีพญาไท, ราชปรารภ, มักกะสัน, ศูนย์วิจัย, รามคำแหง และหัวหมาก


ปัจจุบันในระยะที่ 1 ทั้ง 2 เส้นทาง กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ โดยในช่วง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ กำลังอยู่ระหว่างติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ส่วนในช่วง บางซื่อ-รังสิต อยู่ในระหว่างก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 เส้นทางนี้ จะแล้วเสร็จภายในปี 2564


ส่วนในระยะที่ 2 ใน 3 เส้นทางช่วง รังสิต-ม. ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต, ตลิ่งชัน-ศาลายาและตลิ่งชัน-ศิริราช และบางซื่อ-หัวลำโพงและหัวลำโพง-มหาชัย


คาด เริ่มก่อสร้างได้ในเดือนสิงหาคมนี้


จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 3 ปี กระทรวงคมนาคมยืนยันต่อ ครม. ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 โดยทั้ง 3 โครงการนี้จะเป็นระบบรถไฟฟ้าวิ่งบนรางขนาด 1 เมตร เดินรถด้วยระบบไฟฟ้าที่จ่ายเหนือหัว (OCS) แรงดันไฟฟ้า AC 25 กิโลโวลต์ รองรับรถไฟความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.!


ส่วนระยะที่ 2 ในเส้นทางช่วง บางซื่อ-หัวหมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทยรายงานกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาขอปรับปรุงรูปแบบโครงการให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567


3 เส้นทาง เชื่อมต่อ Interchange กับรถไฟฟ้าอีก 2 สี


นอกจากนี้ เมื่อรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายนี้แล้วเสร็จ จะสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีน้ำเงินได้อีกด้วย โดยสถานีตลิ่งชันจะเชื่อมต่อกับสายสีส้ม, สถานีจรัญสนิทวงศ์จะเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินและสายสีส้มที่สถานีท่าพระ ส่วนสถานีศิริราชจะเชื่อมต่อกับสายสีส้มส่วนตะวันตก ซึ่งช่วยเติมเต็มโครงข่ายการเดินทาง ลดระยะเวลาการเดินทางจากย่านใจกลางเมืองกับย่านชานเมืองให้รวดเร็วมากขึ้น


ทำไมต้องพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมือง


  1. เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ กับปริมณฑลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
  2. เพิ่มคุณภาพชีวิต ไม่ต้องทนกับปัญหารถติดและความแออัดบริเวณใจกลางเมือง
  3. จูงใจให้เกิดการใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว
  4. กระจายความเจริญไปยังย่านชานเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
  5. ลดฝุ่นละอองและลดมลพิษทางอากาศ
  6. ลดปัญหาจุดตัดทางรถไฟด้วยทางที่แยกเฉพาะ


เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า ภายในปี 2565 รถไฟฟ้าสายสีแดงทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าวนี้ จะเสร็จสิ้นพร้อมเปิดให้บริการหรือไม่ และแผนพัฒนารถไฟฟ้า จะขยับขยายอนุมัติเพิ่มเติมต่อไปที่ส่วนไหนบ้าง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตรถไฟฟ้าของประเทศไทยจะสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายได้ครอบคลุม เพื่อขยับขยายเขตเมืองออกสู่พื้นที่อื่นๆ ได้มากขึ้น



ที่มา: การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์