เคาะแล้ว! รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อ
29 October 2562
ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือ รฟท. ร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) จับมือกันลงนามเปิดโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา และจะเดินหน้าออกแบบโครงการทันที โดยโครงการนี้ คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการกันในปี 2566 และจะแล้วเสร็จแบบสมบูรณ์ครบทุกสถานี ในปี 2568
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีระยะทางทั้งหมด 220 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย 9 สถานี ได้แก่
- สถานีดอนเมือง
- สถานีกลางบางซื่อ
- สถานีมักกะสัน
- สถานีสุวรรณภูมิ
- สถานีฉะเชิงเทรา
- สถานีชลบุรี
- สถานีศรีราชา
- สถานีพัทยา
- สถานีอู่ตะเภา
ลักษณะโครงการ
รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport rail link) ที่เปิดบริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะมีการสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายเพิ่มเติมจากช่วงสถานีพญาไท ไปจนถึงสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปถึงสถานีอู่ตะเภา โดยทางวิ่งทั้งหมด 220 กิโลเมตร จะใช้ทางของ Airport link ปัจจุบัน 29 กิโลเมตร และทางวิ่งสร้างใหม่อีก 191 กิโลเมตร โดยจะแบ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง181 กิโลเมตร, ทางวิ่งระดับดินระยะทาง 12 กิโลเมตร และทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 8 กิโลเมตร
โดยความเร็วของรถไฟความเร็วสูง จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง นั่นคือ ช่วงการเดินทางระหว่างเมือง (สถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา) จะใช้ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง และช่วงการเดินทางในเมือง (สถานีดอนเมือง-สถานีสุวรรณภูมิ) จะใช้ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
การให้บริการ
ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงไม่แพงอย่างที่คิด โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ราคา เริ่มจากสถานีมักกะสัน-พัทยา ราคาจะอยู่ที่ 270 บาท และจากสถานีมักกะสัน-อู่ตะเภา จะราคา 330 บาท
นอกเหนือจากราคาที่ไม่แพงแล้ว ความสะดวกสบายที่จะได้รับก็เกินราคา เพราะเราจะสามารถเดินทางได้รวดเร็วขึ้น โดยปกติแล้ว การเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปพัทยา จะใช้เวลาขั้นต่ำ 1 ชั่วโมง 30 นาที แต่ถ้าเดินทางด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง จะใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาทีเท่านั้น เห็นได้ชัดเลยว่า จะช่วยประหยัดเวลาเดินทางไปได้เยอะมากๆ
นอกจากนี้ ยังจะมีการพัฒนาพื้นที่รอบๆบริเวณสถานี แอร์พอร์ตลิงค์ มักกะสัน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา
หากเป็นไปตามคาดการณ์ เราน่าจะได้มีโอกาสใช้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ในปี 2566 ถึงแม้ว่าจะต้องอดทนรอเป็นเวลานาน แต่ก็คุ้มค่าการรอคอยแน่นอน เพราะโครงการนี้จะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ซึ่งจะทำให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการเดินทาง ลดมลพิษและยังช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะรถไฟความเร็วสูง มีระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีระบบควบคุมที่มีความปลอดภัยสูง ทำให้มั่นใจได้เลยว่า เราจะสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวกสบายมากๆด้วย