รูปบทความ รู้ยัง? ซื้อคอนโดไม่ได้มีแค่ผ่อนอย่างเดียว ต้องจ่ายอะไรบ้างมาดูกัน!

รู้ยัง? ซื้อคอนโดไม่ได้มีแค่ผ่อนอย่างเดียว ต้องจ่ายอะไรบ้างมาดูกัน!

การซื้อคอนโดนั้น หลายคนมักจะเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องจ่าย อาจจะมีเพียงแค่ค่ามัดจำอย่างเดียว ที่เหลือก็รอเพียงผ่อนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่คุณคิด!!

สำหรับหลายๆ คน ที่จำเป็นต้องทำงานในตัวเมืองเป็นหลัก การซื้อคอนโดดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ปรกติไปเสียแล้ว ทันทีที่เราเลือกคอนโดในฝันได้เป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาก็คงหนีไม่พ้นการทำสัญญาซื้อขายคอนโด ระหว่างผู้สร้าง และผู้อยู่อาศัย


แต่สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือเพิ่งเริ่มต้นซื้อคอนโดอาจจะยังไม่ทราบว่า นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายอย่างมัดจำ ค่าทำสัญญา รวมไปถึงค่าผ่อนคอนโด แท้จริงแล้วจะมีค่าใช้จ่ายปลีกย่อยตามกฎหมายอีกมากมาย หลายคนที่ไม่ได้ศึกษามาก่อน ก็อาจทำให้เงินที่ตระเตรียมมาไม่พอจ่ายได้


และเพื่อไม่ให้การเงินของคุณต้องสะดุดลง ด้วยคำว่าเงินไม่พอจ่าย วันนี้เราจะมาพาทุกคนไปรู้จักกันสักนิด ก่อนซื้อคอนโด ดูสิว่ามีรายจ่ายอะไรบ้าง ที่คุณต้องจ่าย!



ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินค่าจอง

รายจ่ายส่วนนี้ คุณจะได้จ่ายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยจะจ่ายให้กับทางคอนโด ซึ่งจำนวนเงินจองจะขึ้นอยู่กับราคาคอนโดฯ และเงื่อนไขที่โครงการกำหนด โดยส่วนใหญ่เงินจองจะประมาณ 2,000 – 50,000บาท ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโ๕รงการ และราคาของคอนโดด้วย



ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินค่าทำสัญญา

โดยทั่วไปแล้ว การซื้อคอนโดจะจ่ายค่าทำสัญญาครั้งเดียว โดยจะจ่ายให้กับทางคอนโด หลังจากได้ทำการจองไปแล้ว ภายใน 7 - 14 วัน ทางเจ้าของโครงการจะกำหนดวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งเจ้าเงินทำสัญญา จะเป็นเงินที่ก้อนใหญ่กว่าเงินจอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาคอนโดฯ เช่นกัน มีทั้งหลักหมื่นและขึ้นไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียว



ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินดาวน์

รายจ่ายการซื้อคอนโดในส่วนนี้ หลายๆ คนอาจจะคุ้นชินกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยการจ่ายนั้น จะแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ เนื่องจากแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดได้ในสัดส่วน LTV ( Loan to Value Ratio) ไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่งก็คือตัวคอนโดนั้นเอง

ดังนั้น การที่คุณจะต้องดาวน์ จะกำหนดให้ดาวน์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10% ของราคาซื้อขาย (รวมเงินจองและเงินทำสัญญา)



ซื้อคอนโดไม่ได้มีแค่ค่าผ่อน1.jpg

ส่วนใหญ่แล้ว เงินที่จ่ายจะถูกนำไปใช้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกันไป


ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินค่าประเมินราคาห้องชุด

รายจ่ายในครั้งนี้ จะจ่ายเพียงครั้งเดียว และจ่ายในวันที่ไปทำเรื่องยื่นกู้ให้กับธนาคารที่เรายื่นกู้เท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 - 3,000 บาท ต่อ การประเมินหนึ่งครั้ง


.แสดงว่า หากคุณยิ่งยื่นกู้หลายธนาคาร ก็ต้องจ่ายเงินส่วนนี้มาก ซึ่งค่าประเมินที่ได้จ่ายไปแล้วนั้น ต่อให้กู้ไม่ผ่าน หรือไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ ทางธนาคารเองก็ไม่มีการคืนเงิน แต่ในขณะเดียวกัน บางธนาคารจะคิดเงินส่วนนี้รวมอยู่ในค่าดำเนินการ และถ้ากู้ไม่ผ่าน หรือยกเลิกการกู้ คุณก็จะไม่ได้เสียเงินในส่วนนี้


ดังนั้น เช็กกันให้ดีๆ ล่ะ ว่าธนาคารที่คุณยื่นกู้นั้น คิดเงินค่าประเมินราคาห้องชุดแบบไหน


ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินค่าจดจำนอง

เป็นรายจ่ายที่จ่ายครั้งเดียว โดยจะจ่ายในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ อัตราปรกติคิด 1% ของมูลค่าที่จดจำนอง ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องจ่ายให้สำนักงานที่ดิน ส่วนเหตุผลที่ต้องเสียค่าจดทะเบียนจำนองนั้น ก็เพื่อเอาคอนโดเป็นประกันหนี้ให้กับธนาคารนั้นเอง


ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมการโอน

เงินส่วนนี้จะจ่ายครั้งเดียวในวันโอนกรรมสิทธิ์เช่นกัน อัตราปรกติคิด 2% ของราคาประเมินกรมที่ดิน ซึ่งทางกฎหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานที่ดิน ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นโมฆะ โดยส่วนใหญ่ผู้ซื้อและผู้ขายจะออกกันคนละ 50% หรือแล้วแต่ตกลง



ซื้อคอนโดไม่ได้มีแค่ค่าผ่อน

ลองเช็กลิสต์ให้ดี ว่ามีรายจ่ายอะไรที่ต้องจ่าย เงินออมคุณเพียงพอหรือไม่



ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินกองทุนสำรองส่วนกลาง

ซื้อคอนโดทั้งที เราคงปฏิเสธรายจ่ายส่วนนี้ไปไม่ได้ โดยจะจ่ายแค่ครั้งเดียว ถือเป็นเงินกองกลางที่นิติบุคคลอาคารชุดจะเรียกเก็บไว้เป็นกองทุนสำรอง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการโครงการในระยะยาว ส่วนการคิดค่าใช้จ่ายนั้น จะคิดตามขนาดพื้นที่ห้องชุดตามระดับราคาห้องชุด เช่น ห้องชุดมีพื้นที่ส่วนกลาง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกมาก อัตราเงินกองทุนก็จะสูงมากขึ้นตามลำดับ



ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินค่าส่วนกลาง

โดยปกติในวันโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อจะต้องชำระค่าส่วนกลางล่วงหน้ากับทางโครงการ ส่วนใหญ่จะให้ชำระล่วงหน้า 1-2 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ทางโครงการ โดยจะคิดราคาค่าส่วนกลางเป็นต่อตารางเมตรต่อเดือน หรือนิติบุคคลกำหนดขึ้น


สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ หลักๆ ทางโครงการจะนำเงินที่ได้ ไปดูแล หรือบำรุงทรัพย์ส่วนกลางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างพนักงานทำความสะอาด, การจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย, ค่าจัดเก็บขยะ, ค่าดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ในแต่ละโครงการ รวมไปถึงค่าน้ำ และค่าไฟส่วนกลางของคอนโดด้วย 



ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย

ส่วนมากจะจ่ายเป็นปี หรือแล้วแต่ละโครงการกำหนด ซึ่งถ้าคุณกู้เงินมาจากธนาคาร โดยปรกติธนาคารจะกำหนดให้ต้องทำประกันอัคคีภัยห้องชุดด้วย โดยผู้ซื้อต้องรับภาระในการชำระเบี้ยประกัน และธนาคารจะเป็นผู้รับผลประโยชน์


นั้นหมายความว่า หากเกิดอัคคีภัยในห้องคอนโดที่คุณซื้อ บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินไปที่ธนาคารในฐานะผู้รับผลประโยชน์ เพื่อเอาเงินเหล่านี้ไปตัดหนี้กับเงินกู้ ปรกติแล้วมักจ่ายพร้อมกับเงินผ่อนชำระงวดแรก และส่วนใหญ่จะเรียกเก็บ 3 ปี ต่อ ครั้ง และอัตราเบี้ยจะเป็นไปตามที่ทางประกันได้กำหนดไว้


ซื้อคอนโดไม่ได้มีแค่ค่าผ่อน

ค่าประกันต่างๆ ล้วนแล้วแต่จำเป็นเมื่อเกิดยามฉุกเฉิน โดยเฉพาะกับการซื้อคอนโดอยู่อาศัย


ซื้อคอนโด ต้องเสียเงิน ค่าประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า

แน่นอนว่า เมื่อซื้อคอนโดแล้ว มิเตอร์ทั้งน้ำและไฟฟ้า ย่อมจำเป็น โดยรายจ่ายนี้ จะจ่ายเพียงครั้งเดียว ในช่วงแรกๆ โครงการมักออกค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้าให้ก่อน แล้วจะเรียกเก็บทีหลังตามอัตราที่การประปา-การไฟฟ้ากำหนด ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 2,000-7,000 บาท ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า และเงื่อนไขของโครงการอีกด้วย


ซื้อคอนโด ต้องเสียเงินค่าประกันภัยอาคาร

ค่าประกันภัยอาคารนี้ จะจ่ายตามที่โครงการกำหนด หากนิติบุคคลอาคารชุดของคอนโด มีการทำประกันอัคคีภัย หรือประกันความเสียหายของทรัพย์สิน เจ้าของห้องชุดก็ต้องร่วมจ่ายค่าประกันภัยนี้ด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะคิดตามสัดส่วนพื้นที่ห้องชุดนั้นๆ อีก เช่นเดียวกัน


ซื้อคอนโดไม่ได้มีแค่ค่าผ่อน

อย่างน้อยควรเตรียมเงินไว้ประมาณ 30,000 - 50,000 บาท เผื่อไว้ใช้จ่ายรายการต่างๆ ที่เราได้พูดไปข้างต้น อย่าลืมตรวจสอบให้ดีล่ะ ว่าเงินคุณพอหรือไม่


เราจะเห็นได้ว่า สำหรับการซื้อคอนโดนั้น นอกเหนือจากค่าทำสัญญา และค่าผ่อนนั้น ยังมีอีกมากมาย ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการดำเนินต่างๆ ดังนั้น อย่าลืมเตรียมเงินไว้เพื่อสำรองจ่าย จะได้ไม่เกิดปัญหาการเงินสะดุดจนน้ำตาตกใน แล้วจะหาว่าเราไม่เตือนไม่ได้นะ!















เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์